ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว ครั้งที่ 1/67 ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry: GI) ใหม่ เพื่อการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065
ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งมั่นพัฒนาและยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ จึงเร่งปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบ ทักษะคุณภาพแรงงาน และสิ่งสำคัญคือ ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
ดังนั้น เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างสมดุลทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์อุตสาหกรรมสีเขียวใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน ส่งเสริมและยกระดับสถานประกอบการให้ดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมเป็นไปตามเป้าหมายการลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
โดยการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ตามแนวคิด BCG มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ที่ตอบโจทย์ประเทศไทยและประชาคมโลกสามารถเติบโตและแข่งขันได้ในระดับโลก เกิดการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ ชุมชนเข้มแข็ง มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน
ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายในปี 68 ทุกโรงงานต้องผ่าน GI 100% ซึ่งโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว ต้องมุ่งมั่นประกอบกิจการโรงงานให้มีความปลอดภัย ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมโดยรอบโรงงาน
นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ยังให้ความสำคัญควบคู่ไปกับนโยบาย Green Productivity การเพิ่มผลิตภาพเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม โดยการใช้เครื่องมือ เทคนิค ระบบการบริหารจัดการ และแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับหลักการ PDCA (Plan Do Check Act) ในการยกระดับกระบวนการผลิตสินค้าและบริการให้มีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ช่วยให้ธุรกิจสามารถสร้างกำไรและเพิ่มโอกาสทางการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน
อุตสาหกรรมสีเขียวช่วยพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและยกระดับเศรษฐกิจสีเขียว ไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม แต่ยังเป็นการเสริมสร้างความยั่งยืนและความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวของสถานประกอบการ ส่งผลดีต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย ความเป็นอยู่ของประชาชน และการพัฒนาเศรษฐกิจของสังคมโดยรวม ตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน
นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า กรอ. ได้ปรับหลักเกณฑ์อุตสาหกรรมสีเขียวให้สอดรับกับนโยบาย MIND ของกระทรวงอุตสาหกรรม ดังนี้
อย่างไรก็ดี กรอ. ได้เตรียมมาตรการขับเคลื่อนหลักเกณฑ์ใหม่ ทั้งการประชาสัมพันธ์ อบรมสัมมนาถ่ายทอดความรู้เพื่อเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการ พัฒนาระบบสารสนเทศรองรับ การประกาศใช้หลักเกณฑ์ใหม่ โดย กรอ. จะหารือกับหน่วยงานที่ให้สิทธิประโยชน์แก่ภาคธุรกิจที่ได้รับการรับรอง GI ตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไป ทั้งด้านการลงทุน การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และการอำนวยความสะดวกการจดทะเบียนเครื่องจักร
รวมถึงการเข้าถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงินของรัฐ โดยปัจจุบันมีจำนวนโรงงานที่แจ้งประกอบการ จำนวน 62,979 โรงงาน ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว จำนวน 56,221 โรงงาน คิดเป็นร้อยละ 89 GI ระดับ 1 จำนวน 49,094 โรงงาน GI ระดับ 2 จำนวน 3,155 โรงงาน GI ระดับ 3 จำนวน 3,450 โรงงาน GI ระดับ 4 จำนวน 454 โรงงาน และ GI ระดับ 5 จำนวน 68 โรงงาน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ก.ค.67)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง