net-zero

ปภ.แจ้ง 31 จังหวัด เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก วันที่ 26 – 29 ส.ค. 67

    ปภ. แจ้ง 31 จังหวัด ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และคลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 26 – 29 สิงหาคม 2567

วันนี้ (26 ส.ค. 67) เวลา 11.30 น. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้ง 31 จังหวัด ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และ ภาคใต้ เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และ คลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 26 – 29 ส.ค. 67 กำชับให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ สภาพน้ำ ปริมาณฝน และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด

พร้อมจัดทีมปฏิบัติการและเครื่องจักรกลสาธารณภัยเข้าประจำพื้นที่เสี่ยงเพื่อเข้าเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนให้ติดตามพยากรณ์อากาศและปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด

นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 1 (149/2567) ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2567 เวลา 17.00 น. แจ้งว่า ในช่วงวันที่ 26 - 28 สิงหาคม 2567 ร่องมรสุม จะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน ในขณะที่มีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น

ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ บริเวณภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคกลาง และภาคใต้ฝั่งตะวันตก สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยในช่วงวันที่ 27 - 29 สิงหาคม 2567 ทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร อ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร โดยมีพื้นที่แจ้งเตือนสถานการณ์ระหว่างวันที่ 26 - 29 สิงหาคม 2567 แยกเป็น

ปภ.แจ้ง 31 จังหวัด  เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก  วันที่ 26 – 29 ส.ค. 67

 

พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม

 ภาคเหนือ 12 จังหวัด

  •  จังหวัดแม่ฮ่องสอน (อ.เมืองฯ อ.ปาย อ.ปางมะผ้า)
  • เชียงใหม่ (อ.แม่อาย อ.ฝาง อ.เชียงดาว อ.ไชยปราการ อ.พร้าว อ.จอมทอง อ.ฮอด)
  • เชียงราย (อ.เมืองฯ อ.แม่สาย อ.เชียงแสน อ.เชียงของ อ.แม่จัน อ.เวียงชัย อ.พญาเม็งราย อ.เวียงแก่น อ.ขุนตาล อ.เทิง อ.ป่าแดด อ.พาน)
  • ลำปาง (อ.วังเหนือ อ.เมืองปาน อ.งาว อ.เสริมงาม)
  • พะเยา (อ.ภูซาง อ.ปง อ.เชียงคำ อ.จุน อ.ดอกคำใต้ อ.ภูกามยาว)
  • แพร่ (อ.เมืองฯ อ.สอง อ.เด่นชัย อ.วังชิ้น)
  • น่าน (อ.เมืองฯ อ.สองแคว อ.ทุ่งช้าง อ.เชียงกลาง อ.ท่าวังผา อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.ปัว อ.บ่อเกลือ)
  • อุตรดิตถ์ (อ.เมืองฯ อ.ท่าปลา อ.ทองแสนขัน)
  • ตาก (อ.เมืองฯ อ.ท่าสองยาง อ.แม่สอด อ.แม่ระมาด)
  • สุโขทัย (อ.ศรีสัชนาลัย อ.ทุ่งเสลี่ยม)
  • พิษณุโลก (อ.วังทอง อ.ชาติตระการ อ.วัดโบสถ์ อ.นครไทย)
  • เพชรบูรณ์ (อ.เมืองฯ อ.หล่มเก่า อ.หล่มสัก)

 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 จังหวัด

  •  เลย (อ.นาแห้ว อ.ด่านซ้าย อ.ภูเรือ อ.ท่าลี่ อ.เชียงคาน)
  • หนองคาย (อ.เมืองฯ อ.สังคม)
  • บึงกาฬ (อ.เมืองฯ อ.บุ่งคล้า อ.เซกา อ.โซ่พิสัย)
  • หนองบัวลำภู (อ.สุวรรณคูหา)
  • อุดรธานี (อ.นายูง อ.บ้านดุง อ.น้ำโสม)

ภาคกลาง 8 จังหวัด

  • กาญจนบุรี (อ.สังขละบุรี อ.ทองผาภูมิ)
  • นครนายก (อ.เมืองฯ อ.ปากพลี)
  • ปราจีนบุรี (อ.กบินทร์บุรี อ.นาดี)
  • ชลบุรี (อ.ศรีราชา อ.บางละมุง)
  • ระยอง (อ.เมืองฯ อ.แกลง อ.บ้านค่าย)
  • จันทบุรี (อ.เมืองฯ อ.เขาคิชฌกูฏ   อ.สอยดาว อ.โป่งน้ำร้อน อ.มะขาม อ.ขลุง)
  • ตราด (ทุกอำเภอ)
  • ประจวบคีรีขันธ์ (อ.บางสะพาน อ.บางสะพานน้อย)

 ภาคใต้ 6 จังหวัด

  •  ระนอง (ทุกอำเภอ)
  • พังงา (อ.เมืองฯ อ.คุระบุรี อ.ตะกั่วป่า อ.กะปง อ.ท้ายเหมือง)
  • ภูเก็ต (ทุกอำเภอ)
  • กระบี่ (อ.เมืองฯ อ.เหนือคลอง อ.อ่าวลึก อ.คลองท่อม อ.ปลายพระยา อ.เกาะลันตา)
  • ตรัง (อ.เมืองฯ อ.ปะเหลียน อ.นาโยง อ.กันตัง อ.สิเกา อ.ห้วยยอด อ.วังวิเศษ)
  • สตูล (อ.เมืองฯ อ.ควนโดน อ.ควนกาหลง อ.ทุ่งหว้า อ.มะนัง)

 พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์คลื่นลมแรง

 ภาคใต้ 3 จังหวัด

  •  ระนอง (อ.เมืองฯ อ.สุขสำราญ อ.กะเปอร์)
  • พังงา (อ.เกาะยาว อ.ตะกั่วทุ่ง อ.ท้ายเหมือง อ.ตะกั่วป่า อ.คุระบุรี)
  • ภูเก็ต (ทุกอำเภอ).

ที่มา: กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย