net-zero

ธ.ก.ส.รับซื้อ-ขาย “คาร์บอนเครดิต” 5 แสนตัน ภายในปี 71 สร้างรายได้ชุมชน

    ธ.ก.ส.เตรียมขยายผลธนาคารต้นไม้ไปอีก 6 พันชุมชน พร้อมรับซื้อ-ขาย “คาร์บอนเครดิต”ราคา 3 พันบาท/ตันคาร์บอน วางเป้าปี 71 ซื้อกว่า 5 แสนตัน

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. ได้ขับเคลื่อนภารกิจด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งยกระดับไปสู่โครงการธนาคารต้นไม้และชุมชนไม้มีค่าจนปัจจุบันมีชุมชนเข้าร่วมโครงการจำนวน 6,814 ชุมชน มีต้นไม้ขึ้นทะเบียนกว่า 12.4 ล้านต้น มีสมาชิก 124,071 คน มูลค่าต้นไม้ในโครงการกว่า 43,000 ล้านบาท 

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

ขณะเดียวกัน ธนาคารได้ดำเนินโครงการ BAAC Carbon Credit รับซื้อคาร์บอนเครดิต ทำให้สมาชิกในชุมชนมีรายได้จากผลิตภัณฑ์ที่ได้จากต้นไม้/ป่าไม้ ปีละ 116 ล้านบาท โดยธนาคารเตรียมขยายผลไปยังชุมชนธนาคารต้นไม้อีกกว่า 6,800 ชุมชนทั่วประเทศ หนุนการปลูกป่าเพิ่มอีกปีละ 108,000 ต้น 

วางเป้าหมายสร้างปริมาณการซื้อ – ขายคาร์บอนเครดิตอีกกว่า 510,000 ตันคาร์บอน ภายในปี 2571 ได้แก่ 

  • ปี 2567 จำนวน 2,580 ตันคาร์บอน
  • ปี 2568 จำนวน 43,700 ตันคาร์บอน
  • ปี 2569 จำนวน 68,801 ตันคาร์บอน
  • ปี 2570 จำนวน 188,100 ตันคาร์บอน
  • ปี 2571 จำนวน 207,100 ตันคาร์บอน 

โดยมีหลักการคิดคำนวณดังนี้ ต้นไม้ 1 ต้น ช่วยสร้างปริมาณคาร์บอนเครดิตได้เฉลี่ย 9.5 กิโลกรัมคาร์บอนต่อปี ซึ่งพื้นที่ขนาด 1 ไร่ ปลูกต้นไม้ได้เฉลี่ย 100 ต้น/ไร่ จะได้ปริมาณคาร์บอนเครดิต 950 กิโลกรัมคาร์บอนต่อปี โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนราคาซื้อ-ขายแบบกึ่ง CSR ราคา  3,000 บาทต่อตันคาร์บอน เพื่อสร้างกำลังใจให้กับชุมชนในการดูแลและปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น 

“เรายังได้วางแนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจคาร์บอนเครดิตให้ชุมชนด้วยหลักการ Care Share and Fair โดยคิดคำนวณรายได้ : ค่าใช้จ่ายในอัตรา 70 : 30 โดย ธ.ก.ส. จะออกค่าดำเนินงานให้กับชุมชนไปก่อน”

นายฉัตรชัย กล่าวว่า ยกตัวอย่างการคำนวณ เช่น ค่าตรวจสอบความใช้ได้ของโครงการ และค่าทวนสอบปริมาณคาร์บอนเครดิตโดยผู้ประเมินภายนอก และเมื่อหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ร้อยละ 30 ของมูลค่าการขาย เกษตรกรจะได้รับผลตอบแทนที่ร้อยละ 70 ของราคาขาย หรือประมาณ 2,000 บาทต่อไร่ต่อปี หรือกรณีปลูกต้นไม้แบบหัวไร่ปลายนา จะสามารถปลูกได้เฉลี่ย 40 ต้น/ไร่ คิดเป็น 380 กิโลกรัมคาร์บอนต่อไร่ต่อปี จะทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการขายหลังหักค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 800 บาทต่อไร่ต่อปี

นอกจากนี้ ยังพร้อมส่งเสริมกิจกรรมที่ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม เช่น การเพาะกล้าไม้เพื่อสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ การทำนาเปียกสลับแห้งเพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทน การลดการเผาตอซังข้าว อ้อยและข้าวโพดเพื่อลด PM 2.5 การเพิ่มพื้นที่ปลูกป่าชายเลน การนำผลิตผลจากต้นไม้มาสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างรายได้ให้กับชุมชน ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การนำวัตถุดิบจากไม้มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เฟอร์นิเจอร์ ผลิตน้ำส้มควันไม้ ปลูกสมุนไพร และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เป็นต้น

ทั้งนี้ ธ.ก.ส. พร้อมร่วมมือกับเครือข่ายชุมชนธนาคารต้นไม้ในจังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นต้นกำเนิดธนาคารต้นไม้แห่งแรกในประเทศไทย จำนวน 8 เครือข่าย ได้แก่

  • ธนาคารต้นไม้บ้านประสานมิตร
  • ธนาคารต้นไม้บ้านดอนไทรงาม
  • ธนาคารต้นไม้บ้านพะงุ้น
  • ธนาคารต้นไม้บ้านบางฝนตก
  • ธนาคารต้นไม้บ้านวังช้าง
  • ธนาคารต้นไม้บ้านคลองโซน
  • ธนาคารต้นไม้บ้านรุ่งเรือง
  • ธนาคารต้นไม้บ้านปากแดง

โดยมาร่วมขับเคลื่อนภารกิจการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ผ่านโครงการ BAAC Carbon Credit