net-zero

กางแผนปฏิบัติการ 6 ด้าน ผลักดันไทยสู่เป้าหมาย Net Zero ปี 2065

    กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เปิดรับฟังความคิดเห็นร่างแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกและบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ปี 2050 และ Net Zero ปี 2065 ครอบคลุม 6 ด้าน เน้นการศึกษา การสร้างจิตสำนึก และการมีส่วนร่วมของประชาชน ผลักดันไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน!

"กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม" เปิดเวที "การประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) แผนปฏิบัติการเสริมสร้างศักยภาพการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" ในวันอังคารที่ 10 กันยายน 2567 ณ โรงแรมพูลแมน คิงพาวเวอร์ รางน้ำ กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนแผนปฏิบัติการด้านการเสริมพลังความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความตกลงปารีส ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 และเปิดรับฟังความคิดเห็นในการจัดทําร่างแผนปฏิบัติการเสริมสร้างศักยภาพการดําเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

โครงการทบทวนแผนปฏิบัติการด้านการเสริมพลังความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจัดทำเพื่อการพัฒนาแผนปฏิบัติการเสริมสร้างศักยภาพการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความตกลงปารีสให้มีประสิทธิภาพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงโดยคำนึงถึงความเหมาะสมตามบริบทของประเทศ

โดยประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่การเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมมือกับประชาคมโลกในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการเข้าร่วมเป็นภาคีของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) และการลงนามในข้อตกลงปารีส ซึ่งเป็นพันธกรณีที่สำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง และการเสริมสร้างความสามารถในการรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

กางแผนปฏิบัติการ 6 ด้าน ผลักดันไทยสู่เป้าหมาย Net Zero ปี 2065

เป้าหมายการดำเนินงานด้านลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย

การดำเนินงานเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยมีเป้าหมายใหญ่คือการบรรลุภาวะความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2065 โดยสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ระยะยาวของประเทศในการพัฒนาที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ (LT-LEDS) และการมีส่วนร่วมของประชาชน ตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ทุก 5 ปี (NDC) โดย NDC ฉบับที่ 1 มีเป้าหมายที่จะลดก๊าชเรือนกระจกร้อยละ 30-40 ในปี 2030 และถัดไปจะกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกในปี 2035 2040 และ 2045

กุญแจสำคัญสู่เป้าหมาย

การเสริมสร้างความร่วมมือทั้งภายในและภายนอกประเทศเป็นกุญแจสำคัญในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาภายในระบบ การฝึกอบรม การสร้างความตระหนักรู้ และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในระดับท้องถิ่นและระดับนานาชาติ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานและดำเนินการตามกรอบ ACE (Action for Climate Empowerment)

 

ดร. พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวถึงสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของประชาชน แม้ว่าผลกระทบอาจไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกันในทุกพื้นที่ แต่ก็ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน เช่น เหตุการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือ ภัยแล้งในภาคอีสานและภาคใต้ของประเทศไทย รวมถึงพายุไต้ฝุ่นที่เวียดนาม 

 

โดยระบุว่า "สภาพอากาศของโลกในปัจจุบันมีความแปรปรวนอย่างมาก แม้ว่าอุณหภูมิผิวพื้นโลกจะสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นรุนแรงกว่าที่คนทั่วไปอาจรู้สึก เนื่องจากพลังงานและความเชื่อมโยงของระบบนิเวศโลกนั้นซับซ้อน การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิผิวน้ำทะเลหรือผิวพื้นโลกเพียงเล็กน้อย ส่งผลให้รูปแบบการก่อตัวของภัยพิบัติเร็วขึ้นและรุนแรงมากขึ้น ทำให้ยากต่อการคาดการณ์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกคน"

 

พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของแผนปฏิบัติการเพื่อการรับมือและปรับตัวที่ครอบคลุมทุกมิติ โดยทุกองค์ประกอบล้วนมีความจำเป็นและไม่สามารถขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปได้ อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลจะมีแผนที่ดีและเป้าหมายที่ชัดเจนเพียงใด แต่ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

 

"ในส่วนของบทบาทของกรมฯ มีพันธกิจในการสร้างการรับรู้ ความตระหนัก และความเข้าใจให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่แนวทางการแก้ไขปัญหา โดยมีกลไกที่ภาครัฐเข้าไปสนับสนุนการทำงานร่วมกับเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ซึ่งถือเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือที่สำคัญทั้งสามภาคส่วน และเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหานี้ 

 

"ทั้งนี้ แผนการปฏิบัติงานจำเป็นต้องมีตัวชี้วัด การจัดการ และกรอบระยะเวลาการดำเนินงานที่เหมาะสม ดังนั้น ทางกรมจึงต้องการความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างแผนปฏิบัติการนี้และมีส่วนร่วมในการเสนอแนะแนวทางในการปรับปรุง โดยหวังว่าแผนฉบับนี้จะถูกนำไปขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อนำไปสู่การจัดทำแผนในฉบับต่อๆ ไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น"

กางแผนปฏิบัติการ 6 ด้าน ผลักดันไทยสู่เป้าหมาย Net Zero ปี 2065

นางสาวอุมา ศรีสุข ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ได้ชี้แจงถึงบทบาทสำคัญของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมในฐานะหน่วยงานประสานกลางของประเทศไทย ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ

 

โดยกรมฯ มีหน้าที่ดำเนินการตามกรอบมาตรา 6 ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้ด้านการมีส่วนร่วมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเป้าหมายของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจก และการส่งเสริมศักยภาพและแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งต้องคำนึงถึงความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีกลุ่มเป้าหมายครอบคลุมทุกภาคส่วนในสังคม

 

เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กรมฯ ได้ดำเนินการทบทวนแผนปฏิบัติการและได้จัดทำร่างแผนปฏิบัติการฉบับใหม่เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานในการเสริมพลังความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

ในการจัดทำร่างแผนปฏิบัติการดังกล่าว กรมฯ ได้ดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน เริ่มจากการกำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของแผนการเสริมพลังความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือที่เรียกว่าแผน ACE ของประเทศไทย จากนั้นได้ทบทวนวัตถุประสงค์และนโยบายการดำเนินการ โดยวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและวิเคราะห์ช่องว่างความต้องการ ก่อนนำมาจัดทำเป็นร่างแผนปฏิบัติการนอกจากนี้ กรมฯ ยังได้จัดประชุมกลุ่มย่อยเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อร่างแผนปฏิบัติการ 

กางแผนปฏิบัติการ 6 ด้าน ผลักดันไทยสู่เป้าหมาย Net Zero ปี 2065

ร่างแผนปฏิบัติการเสริมพลังความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครอบคลุมองค์ประกอบ ACE ทั้ง 6 ด้าน ได้แก่ 

1. ด้านการศึกษา

ส่งเสริมการศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในทุกระดับการศึกษา ทั้งการบูรณาการเนื้อหาในหลักสูตรพื้นฐาน อาชีวศึกษา และระดับอุดมศึกษา

 

2. ด้านการฝึกอบรม

พัฒนาศักยภาพบุคลากรที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้กำหนดนโยบายและเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อให้มีความรู้และทักษะในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

3. ด้านการสร้างจิตสำนึก

จัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้ สร้างจิตสำนึกแก่สาธารณะผ่านสื่อต่าง ๆ เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

 

4. ด้านการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของสาธารณชน

พัฒนาชุดข้อมูลและสื่อที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น E-learning, Infographic เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายและสะดวก

 

5. ด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน

ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการกำหนดนโยบายและการดำเนินการ เพื่อรับมือกับปัญหาสภาพภูมิอากาศ

 

6.ด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ

ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลและองค์ความรู้ระหว่างประเทศ รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

มาตรการเหล่านี้จะมีความสำคัญในการรับมือกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยการดำเนินงานร่วมกันของทุกภาคส่วนในสังคมจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกได้สำเร็จ

 

นอกเหนือจากการรับฟังความคิดเห็นในวงกว้างแล้ว กรมฯ ได้ดำเนินการทดลองนำร่องในพื้นที่ตัวอย่าง โดยเลือกเทศบาลนครปากเกร็ดเป็นพื้นที่ศึกษา เพื่อนำแนวทางและมาตรการการดำเนินการตามร่างแผนด้านการมีส่วนร่วมไปปฏิบัติจริง

 

วัตถุประสงค์ของการประชุมในครั้งนี้เป็นการจัดขึ้นเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมต่อร่างแผนปฏิบัติการด้านการเสริมพลังความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการปรับปรุงและพัฒนาแผนให้มีความสมบูรณ์และสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับบริบทและความต้องการของประเทศไทยในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อไป