เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในเมียนมา กลายเป็นภัยพิบัติครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบหลายปี โดยยอดผู้เสียชีวิตพุ่ง เมื่อช่วงค่ำวันพุธ (2 เม.ย.) สถานีวิทยุและโทรทัศน์เมียนมารายงานว่าเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงในเมียนมาส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตรวม 3,003 ราย บาดเจ็บ 4,515 ราย และมีผู้สูญหาย 351 รายแล้ว
ขณะที่ล่าสุด สำนักงานผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมาออกแถลงการณ์ระบุว่า รัฐบาลเมียนมาจะทำการหยุดยิงชั่วคราวระหว่างวันที่ 2-22 เม.ย.เพื่อเห็นแก่ผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวทั่วประเทศ และเพื่อให้การช่วยเหลือและฟื้นฟูเขตประสบภัยแผ่นดินไหวเป็นไปอย่างรวดเร็ว รวมทั้งเพื่อรักษาเสถียรภาพและความสงบในประเทศ
ทั้งนี้ คำสั่งหยุดยิงของกองทัพเมียนมาต่อกองกำลังของชนกลุ่มน้อยมีขึ้น ก่อนที่ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา จะเดินทางมายังกรุงเทพฯ ในวันศุกร์ที่ 4 เม.ย. เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มความร่วมมืออ่าวเบงกอล หรือ BIMSTEC
รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศและด้านความมั่นคง กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า รัฐบาลทหารอาจกำลังใช้สถานการณ์วิกฤตนี้แปรเปลี่ยนเป็นโอกาสทางการทูต ด้วยการเปิดรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย รัสเซีย ไทย และประเทศในเอเชียใต้
ในเรื่องความช่วยเหลือ ถ้าเป็นด้านมนุษยธรรม ก็มีการพูดว่าหลายประเทศใช้โอกาสนี้ในการปรึกษาหารือ รวมทั้งไทยเองก็อาจใช้เงื่อนไขด้านมนุษยธรรมเพื่อกดดันให้เมียนมาเข้าสู่กระบวนการเจรจาพักรบชั่วคราว ซึ่งจริง ๆ แล้ว ไทยเคยร่างข้อเสนอนี้มาแล้วในรัฐบาลก่อนหน้า แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวจากสื่อต่างประเทศว่า มิน อ่อง หล่าย ได้พูดคุยสายตรงกับผู้นำระดับสูงของ จีน อินเดีย และมาเลเซีย พร้อมกับความช่วยเหลือจากหลายประเทศที่หลั่งไหลเข้าสู่เมียนมา
เเละมีการตั้งข้อสังเกตว่า การเคลื่อนไหวทางการทูตของเมียนมาเกิดขึ้นในจังหวะที่ทั่วโลกกำลังจับตาเวที BIMSTEC ซึ่งนักวิเคราะห์เชื่อว่าเป็นความพยายามของรัฐบาลทหารที่จะคืนสู่เวทีนานาชาติหลังถูกโดดเดี่ยวมานานนับตั้งแต่รัฐประหารในปี 2021