net-zero

ดัน 2.9 ล้านล้าน ลงทุนลดคาร์บอน ชูแผนพลังงานชาติ ลด CO2 222 ล้านตัน

    กระทรวงพลังงาน เร่งผลักดันแผนพลังงานชาติ รับเป้าหมายลดคาร์บอนของประเทศ 222 ล้านตัน ภายในปี 2573 จ่อปรับพีดีพีใหม่ เพิ่มสัดส่วนพลังงานแสงอาทิตย์ เบื้องต้นประเมินเม็ดลงทุนภายใต้แผน NEP กว่า 2.9 ล้านล้านบาท ลด CO2 ได้กว่า 106 ล้านตัน ภายในปี 2580

แนวทางในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564-2573 (NDC Action Plan on Mitigation 2021-2030) ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณากลั่นกรอง ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก่อนจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2567 นี้

แผนดังกล่าวมีเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกในระดับสาขา ที่จะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 222 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์(MtCO2eq) หรือ 40 % จากกรณีปกติ ภายในปี พ.ศ. 2573 แบ่งเป็นการดำเนินงานภายในประเทศ 33.3% และต้องการได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ 6.7%

ดังนั้น ในการจัดทำแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan : NEP) ที่ผนึกทั้ง 5 แผนเข้าไว้ด้วยกัน ได้แก่ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย หรือ PDP 2024 แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก หรือ AEDP แผนอนุรักษ์พลังงานหรือ EEP แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ หรือ Gas Plan และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง หรือ Oil Plan จึงถือว่ามีความสำคัญ

ดัน 2.9 ล้านล้าน ลงทุนลดคาร์บอน ชูแผนพลังงานชาติ ลด CO2  222 ล้านตัน

เร่งคลอดแผนพลังงานชาติ

การขับเคลื่อนบรรลุเป้าหมายดังกล่าว กระทรวงพลังงานกำลังเร่งผลักดันให้แผนพลังงานชาติ(National Energy Plan : NEP) ที่อยู่ระหว่างการจัดทำมีผลบังคับใช้ โดยคาดว่าจะเปิดรับฟังความคิดเห็นได้ภายในเดือนตุลาคม 2567 เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อไป

นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า แผนพลังานชาติ จะสอดคล้องกับแผนลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ที่จะลดก๊าซเรือนกระจกลง 30-40% ภายในปี 2573 ซึ่งอาจจะต้องทบทวนแผน PDP 2024 เพิ่มเติม จากมีแนวทางเดิมจะลดก๊าซเรือนกระจกลงกว่า 30%

แต่ขณะนี้กระทรวงพลังงานกำลังพิจารณาว่าจะเพิ่มเป้าหมายเป็น 40% จากการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น ซึ่งจะมีช่วยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศในระยะยาว (LT-LEDS) และยังช่วยสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มศักยภาพการลงทุนของผู้ประกอบการไทยให้สามารถปรับตัวเข้าสู่การลงทุนในประเทศที่มีคาร์บอนต่ำตามทิศทางโลก

แผนพีดีพีลดคาร์บอน 24.2 ล้านตัน

ทั้งนี้ จากการรวบรวมของ“ฐานเศรษฐกิจ” ภายใต้ร่างแผนพลังงานชาติ ซึ่งประกอบด้วยแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย หรือ PDP 2024 นั้น มีเป้าหมายจะสร้างความมั่นคงกับระบบไฟฟ้าเพียงพอต่อความต้องการ โดยในปี 2580 คาดว่าประเทศจะมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงสุดที่ 54,546 เมกะวัตต์ จากกำลังการผลิตทั้งสิ้น 112,391 เมกะวัตต์

ในส่วนนี้เป็นกำลังผลิตจากพลังงานสะอาดถึง 51% โดยมีการส่งเสริมเทคโนโลยีพลังงานสะอาดรูปแบบใหม่ และยังเริ่มนำไฮโดรเจนผสมในก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า 5% ตั้งแต่ปี 2573 เป็นต้นไปด้วย จากการประเมินตามแผนพีดีพีดังกล่าว คาดว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตไฟฟ้าลงเหลือ 61.8 ล้านตัน จาก 86 ล้านตัน หรือลดได้ราว 24.2 ล้านตัน

ประโยชน์ที่ได้รับ จะก่อให้เกิดการลงทุนในเทคโนโลยีพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ ๆ เช่นระบบกักเก็บพลังงาน พลังงานไฮโดรเจน พลังงานนิวเคลียร์โมดูลขนาดเล็ก และระบบสมาร์ทกริด และยังช่วยพัฒนากลไกให้เอกชน นักลงทุนเข้าถึงพลังงานสีเขียวในอนาคต เช่น Green Tariff, Direct PPA เป็นต้น

ลุยเพิ่มสัดส่วนใช้พลังงานสะอาด

ขณะที่ร่างแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก AEDP 2024 มีเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 36 % ภายในปี 2580 โดยมีแผนส่งเสริมพลังงานทดแทนในภาคต่างๆ เพื่อทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ได้แก่ การผลิตไฟฟ้า 73,286 เมกะวัตต์ และภาคความร้อน 17,061 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ การใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในภาคขนส่ง 1,621 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ

รวมทั้งส่งเสริมพลังงานทางเลือกรูปแบบใหม่ อาทิ พลังงานไฮโดรเจน เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน

ประโยชน์ที่จะได้รับ จะช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้ 20,000 พันตันเทียบเท่าน้ำมัน( ktoe) หรือเทียบเท่ามูลค่าการลดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลไม่น้อยกว่า 400,000 ล้านบาท สร้างรายได้ทางการเกษตรจากการส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพไม่น้อยกว่า 41,000 ล้านบาทต่อปี ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ในภาคพลังงานได้ไม่น้อยกว่า 75 ล้านตันในปี 2580 เทียบกับปี 2565

ส่วนร่างแผนอนุรักษ์พลังงาน หรือ EEP 2024 มีเป้าหมายลดความเข้มข้นการใช้พลังงานลง 36 % เป็นสัดส่วนของไฟฟ้า 25 % และความร้อน 75 % โดยจะมีมาตรการสำคัญต่างๆ อาทิ ในภาคอุตสาหกรรม จะดำเนินการ บังคับใช้ Building Energy Code และ Factory Energy Code ส่งเสริมการติดตามการใช้พลังงานในอาคารและโรงงาน ส่วนภาคขนส่ง มีเป้าหมายลดการใช้พลังงานลง 48 % โดยจะมีมาตรการทางภาษีจากกรมสรรพสามิตและการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า( EV) เป็นต้น

ทั้งนี้ หากสามารถดำเนินงานตามร่างแผนดังกล่าวจะช่วยเกิดผลประหยัดพลังงานขั้นสุดท้ายลงได้ 35,497 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ คิดเป็นมูลค่าประหยัดได้ราว 532,455 ล้านบาท สามารถช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ราว 106 ล้านตัน

ส่งเสริมใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ

นอกจากนี้ ร่างแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ หรือ Gas Plan 2024 มีเป้าหมาย การจัดหาก๊าซธรรมชาติให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ โดยคาดว่าปี 2580 จะมีความต้องการใช้อยู่ที่ 4,747 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยจะเร่งสำรวจและผลิตก๊าซจากแหล่งที่มีศักยภาพในอ่าวไทยและเมียนมา การเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ การนำเข้า LNG เพื่อรองรับความต้องการใช้ในประเทศ และส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ โครงการสถานีเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซแบบลอยน้ำ (FSRU) เป็นต้น

รวมถึงร่างแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง หรือ Oil Plan มีเป้าหมายการบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อความมั่นคง และสร้างความเสถียรภาพทางด้านราคา พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการผลิตและขนส่งให้มีประสิทธิภาพ อีกทั้ง การส่งเสริมธุรกิจใหม่ในอนาคต อาทิ ธุรกิจปิโตรเคมีและไบโอพลาสติก ปิโตรเคมีขั้นปลายและพลาสติกชีวภาพ สนับสนุนการลงทุนผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) เพื่อใช้ในประเทศและส่งออก สนับสนุนการลงทุนผลิตน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ เป็นต้น คาดว่าจะช่วยการปล่อยคาร์บอน ไดออกไซด์ได้ราว 7.1 ล้านตันต่อปี

เม็ดเงินลงทุนกว่า 2.9 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ของกระทรวงพลังงาน ภายใต้แผนพลังงานชาติ จะส่งผลให้เกิดเม็ดเงินลงทุนเมื่อสิ้นสุดปี 2580 ราว 2.9 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย การลงทุนด้านพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกสู่เป้าหมายที่สัดส่วน 36 % จะก่อให้เกิดการลงทุนราว 1.52 ล้านล้านบาท จากการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน อาทิ โรงไฟฟ้าชีวมวล โรงไฟฟ้าชีวภาพ (น้ำเสีย) และพืชพลังงาน โรงไฟฟ้าขยะชุมชน,ขยะอุสากรรม โรงไฟฟ้าพลังงานลม โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ รวมกำลังผลิตราว 44,100 เมกะวัตต์

เร่งลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเปลี่ยนรูปแบบกาเดินทาง (Shift Mode) ในภาคขนส่ง เกิดการลงทุนกว่า 1.15 แสนล้านบาท เป็นการลงทุน อาทิ การผลิตยานยนต์ไฟฟ้าราว 86,800 ล้านบาท การผลิตชิ้นส่วนสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้าประมาณ 23,820 ล้านบาท และกิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าราว 4,200 ล้านบาท

การลงทุนด้านธุรกิจใหม่ในอนาคต เพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ เกิดการลงทุนราว 1.14 แสนล้านบาท อาทิ การลงทุนในปิโตรเคมีและพลาสติกชีวภาพราว 56,726 ล้านบาท การลงทุนโรงงานผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน(SAF) และดีเซลสังเคราะห์ (BHD) ประมาณ 56,775 ล้านบาท และน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพราว 400 ล้านบาท

การลงทุนด้านสมาร์ท กริด เพื่อรองรับการผลิตและการใช้ไฟฟ้ารูปแบบใหม่ เกิดการลงทุนราว 4.15 แสนล้านบาท โดยเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโครงการลงทุน 4.13 แสนล้านบาท และงบดำเนินงาน 2,359 ล้านบาท

รวมถึงการยกระดับด้านโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเชื้อเพลิงฟอสซิล ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อรักษาความมั่นคงทางพลังงาน พร้อมทั้งแสวงหาโอกาสจากการใช้ประโยชน์จากแหล่งผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล ก่อให้เกิดการลงทุนประมาณ 3.1 แสนล้านบาท อาทิ การสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เงินลงทุน 2.500 ล้านบาท ก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล 2.4 แสนล้านบาท ลงทุนโครงการกักเก็บคาร์บอนแหล่งอาทิตย์(CCS) ที่ 1 ล้านตัน เงินลงทุน 14,400 ล้านบาท และการก่อสร้างสถานีเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซแบบลอยน้ำ(FSRU) เงินลงทุน 55,000 ล้านบาท

การลงทุนด้านเทคโนโลยีสำหรับการผลิตไฟฟ้าที่ไม่ปล่อยคาร์บอน ก่อให้เกิดการลงทุนราว 4.25 แสนล้านบาท อาทิ ลงทุนในระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ หรือ BESS (Battery Energy Storage System) ขนาด 10,485 เมกะวัตต์ เงินลงทุนราว 2.22 แสนล้านบาท ลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ กำลังผลิต 2,472 เมกะวัตต์ เงินลงทุนราว 95,000 ล้านบาท และลงทุนในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก(SMR) กำลังผลิต 600 เมกะวัตต์ เงินลงทุนราว 1.10 แสนล้านบาท เป็นต้น

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4030 วันที่ 26 – 28 กันยายน พ.ศ. 2567