net-zero

สภาอุตฯ หนุนไทย ฮับคาร์บอนเครดิต 11 เดือน ซื้อขายสะพัด 84 ล้าน

    สภาอุตฯ หนุนนโยบายรัฐบาล จัดตั้งศูนย์กลางซื้อขายคาร์บอนเครดิตของอาเซียน ชี้ให้มีศักยภาพและมาตรฐานรองรับ แต่ต้องแก้อุปสรรคการยกเว้นเก็บภาษีซื้อขาย ขณะที่ อบก.รายงานการซื้อขายคาร์บอนเครดิตรอบ 11 เดือนคึกคักเงินสะพัด 84 ล้านบาท

ในนโยบายรัฐบาลของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่จะแถลงต่อรัฐสภา ระหว่างวันที่ 12-13 กันยายน 567 นี้ หนึ่งในนโยบายได้ให้ความสำคัญกับการสร้างความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมถึงการสานต่อนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน(Carbon Neutrality) เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำของอาเซียน ในด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งจะช่วยเปิดประตูบานใหญ่สู่การค้าโลก และช่วยสร้างข้อได้เปรียบให้ผู้ผลิตสินค้า และบริการในประเทศ ตลอดจนส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ของอาเซียนผ่านตลาดหลักทรัพย์ไทย

ต่อนโยบายดังกล่าว นายนที สิทธิประศาสน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ชี้ให้เห็นว่า นโยบายดังกล่าวมีความเป็นไปได้ที่จะให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ของอาเซียนผ่านตลาดหลักทรัพย์ไทย และควรดำเนินการผลักดันให้สำเร็จ เพราะประเทศไทยโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) หรือ อบก. ซึ่งบทบาทสำคัญในการผลักดันการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ได้พัฒนามาตรฐานคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจของไทย หรือ T-VER มาประมาณ 10 ปีแล้ว และกำลังจะยกระดับมาตรฐาน Premium T-VER ให้เป็นที่ยอมรับของตลาดมากขึ้น ถือว่าเป็นจุดแข็งที่ได้เปรียบของไทย เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอี่นในอาเซียน

นอกจากนี้ Exchange Platform FTIX ที่พัฒนาโดย ส.อ.ท. เป็นศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิต T-VER ผ่าน Digital Trading Platform รายแรก ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี ทำให้เห็นถึงปัญหาและอุปสรรค

สภาอุตฯ หนุนไทย ฮับคาร์บอนเครดิต 11 เดือน ซื้อขายสะพัด 84 ล้าน

อย่างไรก็ตาม การจะผลักดันให้ไทยสามารถยกระดับ การเป็นศูนย์กลางซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้นั้น รัฐบาลจะต้องเข้ามาแก้ปัญหา เรื่องการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT ตามประมวลรัษฎากร รวมถึงให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ทั้งในตลาดแรก และตลาดรอง อาทิ สำหรับผู้ขาย การยกเว้นกำไรจากการขาย (Capital Gain) สำหรับผู้ขาย ผู้ซื้อสามารถนำค่าใช้จ่ายในการซื้อไปลดหย่อนภาษีได้ และเพิ่มแรงจูงใจในการซื้อขายด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น

ขณะที่ อบก.รายงานว่า สำหรับสถานการณ์ซื้อขายคาร์อบอนเครดิตภาคสมัครใจของประเทศไทยจากโครงการ T-VER ในรอบ 11 เดือนปีงบประมาณ 2567 (ตุลาคม 2566-สิงหาคม 2567) พบว่า มีปริมาณการซื้อขาย 669,202 ตันคาร์บอน ไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq) มีมูลค่าการซื้อขาย 84.17 ล้านบาท มีราคาเฉลี่ยที่ 125.78 บาทต่อตัน โดยประเภทการซื้อขายส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มชีวมวล ปริมาณซื้อขาย 293,846 ตัน มูลค่า 17.20 ล้านบาท ราคาเฉลี่ยที่ 58.54 บาทต่อตัน

รองลงมาเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ ปริมาณซื้อขาย 156,390 ตันคาร์บอนไดอกไซด์เทียบเท่า มูลค่า 8.04 ล้านบาท ราคาเฉลี่ย 51.45 บาทต่อตัน ป่าไม้ ปริมาณการซื้อขาย 100,549 ตัน มูลค่า 51.25 ล้านบาท ราคาเฉลี่ยที่ 509.75 บาทต่อตัน และการจัดการนํ้าเสียอุตสาหกรรม ปริมาณการซื้อขาย 86,500 ตัน มูลค่า 4.44 ล้านบาท ราคาเฉลี่ยที่ 51.42 บาทต่อตัน เป็นต้น

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน มีปริมาณการซื้อขายสะสมทั้งหมดอยู่ที่ 3,471,186 ตัน คิดเป็นมูลค่ารวม 302.53 ล้านบาท

ขณะที่ปริมาณการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ผ่าน Exchange Platform FTIX ช่วง 11 เดือนปีงบประมาณ 2567 ปริมาณการซื้อขาย 1,798 ตัน มูลค่าการซื้อขาย 110,304 บาท ราคาเฉลี่ย 61.35 บาทต่อตัน ซึ่งตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นมา มีปริมาณการซื้อขายสะสมทั้งหมด 13,665 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า มูลค่าการซื้อขาย 727,204 บาท

ส่วนการขึ้นทะเบียนขอบรองคาร์บอนเครดิตจากโครงการลดก๊าซเรือนกระจก นับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557 มีจำนวน 449 โครงการ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดได้/กักเก็บได้13,245,664 ตัน ขณะที่มีโครงการได้รับการรับรองคาร์บอนเครดิตแล้วมีจำนวน 170 โครงการ คิดเป็นปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรอง 19.84 ล้านตัน มีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ถูกชดเชย 1.75 ล้านตัน และมีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่อยู่ในตลาด 17.96 ล้านตัน และมีโครงการที่อยู่ระหว่างรอการรับรองคาร์บอนเครดิต จำนวน 263 โครงการ และสิ้นสุดโครงการ 55 โครงการ

ขณะที่งบประมาณ 2567 มีโครงการที่ขึ้นทะเบียนจำนวน 85 โครงการ มีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดได้/กักเก็บได้ 1,825,445 ตัน และมี 33 โครงการที่ได้รับการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด 2,884,064 ตัน

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,026 วันที่ 12 - 14 กันยายน พ.ศ. 2567