วันที่ 8 ตุลาคม 2567 ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร ได้สรุปผลการตรวจวัดค่าฝุ่น PM 2.5 เมื่อเวลา 05.00-07.00 น. (3 ชั่วโมงล่าสุด) พบว่า ตรวจวัดได้ 22.6-46.7 มคก./ลบ.ม. ขณะที่ค่าเฉลี่ยของกรุงเทพมหานคร 32.9 มคก./ลบ.ม. โดยค่า PM2.5 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เกินมาตรฐานอยู่ในระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ จำนวน 16 พื้นที่
ข้อมูลเมื่อเวลา 07.00 น. ตรวจวัดค่าฝุ่นละออง PM2.5 ได้ในช่วง 23 - 46.7 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับเมื่อวานในช่วงเวลาเดียวกัน และพบว่าเกินมาตรฐาน (มาตรฐานไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม.) จำนวน 16 พื้นที่ ดังต่อไปนี้
สำหรับปัจจัยเกี่ยวข้องที่มีผลทำให้ค่าฝุ่น PM2.5 เพิ่มขึ้นในขณะนี้ กรุงเทพมหานคร ระบุว่า ในช่วงวันที่ 8 - 16 ต.ค. 67 การระบายอากาศ อยู่ในเกณฑ์ “ไม่ดี ” อย่างไรก็ตาม มีโอกาสเกิดฝนตกตลอดช่วง และเนื่องจากช่วงนี้เริ่มมีความกดอากาศสูงจากประเทศจีนตอนใต้ ทำให้เกิดภาวะ Inversion คือการที่อากาศด้านบนกดทับอากาศด้านล่าง ส่งผลให้มลพิษไม่สามารถลอยขึ้นไปได้ และลมที่พัดเบา ประกอบกับชั้นอากาศที่สามารถผสมกันได้มีความสูงน้อย (ชั้นความสูงผสม: Mixing Height ต่ำลง) จึงทำให้อัตราการระบายอากาศไม่ดี (Ventilation Rate ต่ำ) ทำให้มลพิษสะสมอยู่ในอากาศเพิ่มขึ้น
ขณะที่การตรวจสอบข้อมูลจุดความร้อน (hotspot) ผ่านดาวเทียม จากหน่วยงาน NASA ไม่พบจุดความร้อนที่ดาวเทียมตรวจ พบค่าความร้อนสูงผิดปกติจากค่าความร้อนบนผิวโลกบริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานคร แต่อย่างไรก็ตาม จังหวัดด้านเหนือของ กทม. ไปถึงภาคกลางตอนล่าง เริ่มมีจุดความร้อนเกิดมากขึ้น คือ มีการเผาชีวมวลจากการเกษตร ประกอบกับมีลมจากตะวันออกเฉียงเหนือ พัดลงมา สามารถนำพาเอาฝุ่น PM2.5 จากนอกพื้นที่ กทม. เข้ามาทางด้านตะวันตกของ กทม. ได้ ทำให้พื้นที่ด้านตะวันตกของ กทม. มีฝุ่น PM2.5 เพิ่มขึ้นในช่วงนี้
สำนักสิ่งแวดล้อมได้ประสานแจ้งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เพิ่มความเข้มงวดการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง เพื่อเป็นการบรรเทาความรุนแรงของสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพอนามัยของประชาชน พร้อมเชิญชวนประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและลดกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดฝุ่นละออง เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพ ผ่าน “5 วิธีลดฝุ่น คุณก็ทําได้”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง