net-zero

"บีไอจี - บีเจซี" ใช้โฮโดรเจนรถฟอร์คลิฟท์ มุ่งลดปล่อยก๊าซคาร์บอน

    "บีไอจี - บีเจซี" ใช้โฮโดรเจนรถฟอร์คลิฟท์ มุ่งลดปล่อยก๊าซคาร์บอน ยกระดับศักยภาพระบบโลจิสติกส์ ขับเคลื่อนแผนใช้พลังงานยั่งยืน เดินหน้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ปี 2050  

นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บีไอจี เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการร่วมกับบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือบีเจซี ผู้ดำเนินธุรกิจพาณิชยกรรมนำเข้า-ส่งออก ศึกษานำพลังงานไฮโดรเจน มาใช้ในรถฟอร์คลิฟท์ (Hydrogen Forklift) ของธุรกิจของกลุ่มบีเจซี เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ 

โดยเป็นการศึกษาการใช้งานรถฟอร์คลิฟท์พลังงานไฮโดรเจนในธุรกิจค้าปลีกครั้งแรกของประเทศไทย เพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นของทั้งสองบริษัทในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ. 2593 

ซึ่งบีเจซีมีเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลง 15% ภายในปี พ.ศ. 2575 ในการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยบีไอจีสามารถนำความรู้และประสบการณ์ มาสนับสนุนในการศึกษา เพื่อประเมินศักยภาพและความเหมาะสมในการนำรถฟอร์คลิฟท์พลังงานไฮโดรเจนมาใช้งานในธุรกิจของกลุ่มบีเจซี ซึ่งครอบคลุมธุรกิจตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ 
 

สำหรับการร่วมมือดังกล่าวนั้น ถือเป็นการผลักดันให้เกิดการใช้พลังงานสะอาดในอุตสาหกรรมของประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์มีการใช้ฟอร์คลิฟท์เป็นจำนวนมาก ดังนั้นไฮโดรเจนไม่เพียงแต่เป็นพลังงานสะอาด 

แต่ยังเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทยให้ก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ช่วยภาคธุรกิจลดต้นทุน อีกทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดเวลาในการเติมเชื้อเพลิง และมีความปลอดภัยสูง 

"ความร่วมมือดังกล่าวสอดคล้องกับเป้าหมายการดำเนินธุรกิจ Generating a Cleaner Future โดยเล็งเห็นศักยภาพของไฮโดรเจนและร่วมผลักดันให้เป็นหนึ่งในพลังงานทางเลือกที่สำคัญของประเทศ" 
 

นางฐาปณี เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่  บีเจซี กล่าวว่า  การศึกษาความเป็นไปได้ในการนำไฮโดรเจนฟอร์คลิฟท์มาใช้ในธุรกิจ เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร โดยตั้งเป้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2050  

ซึ่งปีนี้ได้มีการนำหลักวิทยาศาสตร์ (Science Based Targets initiative) หรือ มาตรฐาน SBTi เข้ามาใช้เป็นแนวทางและประกอบการตัดสินใจตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก  โดยบีเจซีเชื่อว่าอุตสาหกรรมที่ดีจะต้องควบคู่ไปกับกรอบแนวคิดของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล สอดคล้องกับหลักการความยั่งยืนหรือ (ESG) โดยนำมาปรับประยุกต์ใช้ในการทำงานแบบบูรณาการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ ทำให้เกิดแรงขับเคลื่อนด้านความอย่างยั่งยืนที่มั่นคง