กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล โดยประเมินข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา ช่วงหลังวันที่ 23 ตุลาคม 2567 ประเทศไทยตอนบนจะเริ่มมีฝนที่ลดลง และจะมีมวลอากาศเย็นแผ่เข้ามาบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย
ปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีแนวโน้มที่ค่าฝุ่นละอองจะสูงขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 24-27 ตุลาคม 2567 ประกอบกับช่วงเวลาดังกล่าวในพื้นที่จะมีสภาวะที่อากาศปิดส่งผลให้ฝุ่นละอองจากแหล่งกำเนิดไม่สามารถระบายออกจากพื้นที่ได้
ขณะที่สถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ประจำวันอังคารที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2567 เวลา 07.00 น. ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร ได้รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) โดยระบุว่า ค่าเฉลี่ยของกรุงเทพมหานคร 20.3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.)
นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.)เปิดเผยว่า การเตรียมรับมือสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันบูรณาการดำเนินงานตามมาตารการฯ โดยเฉพาะการควบคุมการระบายฝุ่นจากยานพาหนะ อุตสาหกรรม การเผาในพื้นที่ชุมชนและริมทาง ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดที่สำคัญ ทั้งในมิติการส่งเสริมและการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงเตรียมพร้อมมาตรการด้านสาธารณสุข การ Work From Home การสื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อแจ้งเตือนและขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองอย่างใกล้ชิด ผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน Air4thai
ดร.ศักดา ตรีเดช ผู้อำนวยการส่วนนวัตกรรมคุณภาพอากาศและเสียง กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง ร่วมให้ข้อมูลสถานการณ์ฝุ่นละออง ปี 2568 โดยกล่าวว่า การคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กระยะไกลล่วงหน้า องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา (National Oceanic and Atmospheric Administration/NOAA) ประเมินว่าช่วงระหว่างเดือนกันยายนไปจนถึงพฤศจิกายน 2567 จะเป็นการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สภาวะ “ลานีญา” (La Nina) ซึ่งจะส่งผลให้ฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก รวมประเทศไทย มีปริมาณฝนตกมากกว่าปกติ
โดยปรากฎการณ์ดังกล่าวจะคงอยู่ไปจนถึงเดือนมีนาคม 2568 ซึ่งผลที่ตามมาจะทำให้การลุกลามจากการเผาไหม้เศษวัสดุชีวมวลไม่รุนแรงเท่าสถานการณ์ภายใต้ปรากฎการณ์ “เอลนีโญ” (สภาวะแห้งแล้ง) ประกอบกับการดำเนินการภายใต้มาตรการรับมือสถานการณ์ ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568 ที่จะสามารถควบคุมแหล่งกำเนิดที่มีนัยสำคัญได้ครบทุกมิติ จึงคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กในระยะยาวได้ว่าสถานการณ์จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น และไม่รุนแรงเท่าช่วงต้นปี 2567 ที่ผ่านมา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง