net-zero

“ดาต้า เซ็นเตอร์” 46 โครงการ แห่ใช้ไฟฟ้าสีเขียว ตอบโจทย์ Net Zero

    พลังงานเผย ไทยพร้อมเปิดบริการ “ไฟฟ้าสีเขียว” รองรับการเป็น Digital Hub ของอาเซียน หลังนักลงทุนต่างชาติยื่นขอลงทุนโครงการ Data Center และ Cloud Service จากบีโอไอ รวม 46 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 167,989 ล้านบาท ตอบโจทย์บริษัทแม่หนุน Net Zero

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน ปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา “พลังงานราคาถูก...ทางรอดเศรษฐกิจไทย” จัดโดยฐานเศรษฐกิจว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างจัดทำแผนพลังงานชาติ คาดว่าจะแล้วเสร็จและประกาศใช้ได้ในปี 2568

ในแผนดังกล่าวมีแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศหรือพีดีพีฉบับใหม่บรรจุอยู่ โดยกำหนดสัดส่วนการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน หรือพลังงานสะอาดผลิตไฟฟ้าไว้ถึง 51% เมื่อสิ้นปี 2580 และสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าที่ 41% ถ่านหินและลิกไนต์ 7% โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) 1%

หากสามารถดำเนินการได้ตามแผน จะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงเหลือ 61.8 ล้านตัน จากปี 2567 คาดว่าจะปล่อยอยู่ที่ 85.9 ล้านตัน ซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้ประเทศบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2608

ทั้งนี้ จากนโยบายพลังงานสะอาดที่มั่นคงดังกล่าว จะช่วยสร้างแรงดึงดูดทางเศรษฐกิจไทย ผ่านการเป็นหมุดหมายด้านพลังงานสีเขียวในภูมิภาค โดยเฉพาะการรองรับไทยเป็น Digital Hub ของอาเซียน ที่พบว่ามีโครงการ Data Center และ Cloud Service ได้ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) รวม 46 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 167,989 ล้านบาท ซึ่งปัจจัยหลักที่โครงการเหล่านี้ต้องการคือ “ไฟฟ้าสีเขียว” ที่ประเทศจะสามารถตอบสนองต่อความต้องการได้

“ดาต้า เซ็นเตอร์”  46 โครงการ แห่ใช้ไฟฟ้าสีเขียว ตอบโจทย์ Net Zero

ที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้เห็นชอบโครงการนำร่องการซื้อขายไฟฟ้าในรููปแบบการทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง ( Direct PPA) ขนาด 2,000 เมกะวัตต์ ผ่านการขอใช้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access : TPA) ให้แก่บริษัทชั้นนำของโลกที่รัฐบาลได้เชิญชวนไว้และสนใจเข้ามาลงทุนโดยเฉพาะในด้าน Data Center ที่มีความต้องใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามข้อกำหนดจากบริษัทแม่ ที่มีเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

ปัจจุบันคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อยู่ระหว่างการดาเนินการจัดทำระเบียบและอัตราค่าบริการ TPA ให้แล้วเสร็จภายในปี 2567 โดยให้ครอบคลุมค่าบริการต่าง ๆ ถือเป็นก้าวสำคัญของตลาดไฟฟ้าสีเขียว เพื่อรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) ในประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีโครงการไฟฟ้าสีเขียว UGT (Utility Green Tarif) ที่เป็นการซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและ RECs ผ่าน 3 การไฟฟ้า เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวที่สูงขึ้นในอนาคต โดยมีการกำหนดราคาไฟฟ้าที่เหมาะสม ได้แก่ UGT 1 จากโรงไฟฟ้าเดิม (ไม่เจาะจงที่มา)

อัตราค่าไฟฟ้าตามประเภทผู้ใชไฟฟ้า (รวม Ft) + premium)  และ UGT 2 จากโรงไฟฟ้าใหม่ และโรงไฟฟ้าเดิม (เจาะจงที่มา) อัตราค่าไฟฟ้าครอบคลุมต้นทุน การให้บริการไฟฟ้าและ REC จากแต่ละ port รวมถึงองค์ประกอบอื่น ๆ ตามที่ กกพ. จะกำหนดต่อไป

“ที่ผ่านมาได้มีการหารือกับทางบีโอไอ และได้โจทย์มาว่ากระทรวงพลังงานจะต้องเร่งจัดหาไฟฟ้าสีเขียว เพื่อรองรับนักลงทุนที่จะเข้ามามาก เพื่อความได้เปรียบด้านการแข่งขัน เมื่อเทียบกับเวียดนามแล้วแม้จะส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนแล้ว แต่ก็เกิดไฟตกไฟดับบ่อย จึงเป็นเหตุที่ต่างชาติเลือกประเทศไทยในการเข้ามาลงทุน ดังนั้นเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานจึงเป็นสิ่งสำคัญ มากกว่าราคาค่าไฟฟ้า โดยเฉพาะธุรกิจ Data Center ที่ต้องการความมั่นคงด้านพลังงานสูง”

นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการไฟฟ้าสีเขียวว่า ขณะนี้ UGT1 กำลังเตรียมจะเปิดให้บริการซื้อขายไฟฟ้า ซึ่งอยู่ระหว่างจัดทำแพลตฟอร์มรับลงทะเบียนผู้ต้องการใช้ไฟฟ้าสะอาด คาดว่าจะเปิดรับลงทะเบียนได้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2567 นี้ และหลังจากนั้นในเดือนมกราคม 2568 คาดว่าจะเปิดการซื้นขายได้

ส่วน UGT2 กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินงานในการพิจารณาอัตราค่าไฟฟ้า คาดว่าจะสรุปได้ภายในเดือนมีนาคม 2568 และหลังจากนั้น จะเปิดซื้อขายไฟฟฟ้าต่อไป

“กกพ.ได้รับการติดต่อจากผู้ประกอบการ ส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจด้าน Data Center และธุรกิจอื่น ๆ ซึ่งมีทั้งที่อยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และนอกเขต EEC โดยผู้ประกอบการที่เข้ามาหารือกับ กกพ. มีทั้งที่ต้องการไฟฟ้าสีเขียวแบบ UGT 1 และแบบ UGT 2”

สำหรับอัตราค่าไฟฟ้า UGT 1 ประกอบด้วย ค่าไฟฟ้าปกติ (ค่าไฟฟ้าฐานรวมกับค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ Ft) บวกค่าบริการส่วนเพิ่ม (Przemium) 0.0594 บาทต่อหน่วย เช่น ปัจจุบันค่าไฟฟ้า 4.18 บาทต่อหน่วย รวมกับค่า Premium 0.0594 บาทต่อหน่วย ซึ่งมาจากราคาตลาดของใบรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (REC) 0.0500 บาท และค่าบริหารจัดการ 0.0094 บาท

ส่วนไฟฟ้าสีเขียวแบบ UGT 2 เป็นการซื้อไฟฟ้าแบบเจาะจงแหล่งที่มา (ระบุรายชื่อโรงไฟฟ้า) ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่ม A และ B โดยกลุ่ม A เป็นค่าไฟฟ้าที่ซื้อจากโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) ในปี พ.ศ. 2568-2570 เบื้องต้นประเมินไว้ที่ราว 4.5622 บาทต่อหน่วย และกลุ่ม B เป็นค่าไฟฟ้าที่ซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่ COD ระหว่างปี 2571-2573 ในอัตรา 4.5475 บาทต่อหน่วย

จากข้อมูลของ Krungthai COMPASS ประเมินว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามกำลังไฟฟ้าของ Data Center ในไทยที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 72.4 เมกะวัตต์ในปี 2566 เป็น 269.9 เมกะวัตต์ในปี 2572 หรืออยู่ที่ราว 2.36 พันล้านหน่วยไฟฟ้าต่อปี เนื่องจากผู้ให้บริการ Data Center ชั้นนำโลกที่มีแผนที่จะสร้าง Data Center ในไทย เช่น Google, Amazon Web services และ CtrlS มีเป้าหมายที่ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้งหมด ภายในปี 2573

ประกอบกับ ภาครัฐมีแผนที่จะอนุญาตให้โรงไฟฟ้าของภาคเอกชนสามารถขายและส่งไฟฟ้าให้บริษัทชั้นนำของโลกที่ลงทุนในไทยผ่านระบบโครงข่ายของภาครัฐ โดยเบื้องต้นจะนำร่องส่งไฟฟ้าจำนวนไม่เกิน 2,000 เมกะวัตต์ ทั้งหมดนี้จะส่งผลให้ผู้ให้บริการ Data Center มีแนวโน้มซื้อไฟฟ้าจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มมากขึ้น