การลงทุนของต่างชาติ (FDI) ยังไหลเข้าไทยต่อเนื่อง มีปัจจัยสำคัญจากสงครามการค้าที่สหรัฐประกาศขึ้นภาษีสินค้าจากจีนหลายพันรายการ ส่งผลต้นทุนสินค้าที่ผลิตและส่งออกจากจีนไปสหรัฐมีราคาพุ่งสูงขึ้น จำเป็นต้องหาแหล่งลงทุนใหม่ เพื่อใช้เป็นฐานผลิตลดถูกกีดกันการค้า
รวมถึงผลพวงจากสงครามจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน สงครามในตะวันออกกลางที่ยังยืดเยื้อและส่อขยายวง ส่งผลให้นักลงทุนต้องหาแหล่งลงทุนในประเทศที่มีจุดยืนที่เป็นกลาง และมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับที่ดี ซึ่งอาเซียนเป็นกลุ่มประเทศที่ต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุน หนึ่งในจอเรดาร์นั้นคือ ประเทศไทย
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ทิศทางการส่งเสริมการลงทุนของไทยในปี 2567 ต่อเนื่องถึงปี 2568 จะมุ่งเน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายใน 5 สาขาสำคัญที่จะมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนการลงทุนของไทย ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และชิ้นส่วน, อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์, อุตสาหกรรมดิจิทัล, อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต, อุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน เพื่อรองรับการลงทุนที่ต้องการไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด
อย่างไรก็ดี หนึ่งในอุตสาหกรรมที่มาแรงในการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในเวลานี้คือ อุตสาหกรรมดิจิทัล ที่ไทยมีศักยภาพเป็นฮับของภูมิภาค เวลานี้มีบริษัทยักษ์ใหญ่จากสหรัฐ จีน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ อินเดีย และอื่น ๆ เข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ และให้บริการคลาวด์(Cloud Service) แล้ว 46 โครงการ (ข้อมูล ณ ต.ค. 67) มีมูลค่าการลงทุนรวม 167,989 ล้านบาท
ล่าสุด Google ได้ประกาศแผนการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ และ Cloud Region ในไทย มูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดจะมีอีกหลายค่ายจะเข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอนาคต
สอดคล้องกับนางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA Group เผยว่า ทิศทางการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ในไทยยังมีเข้ามาต่อเนื่อง จากไทยมีจุดเด่นในหลายด้าน ที่สำคัญคือ มีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่โดดเด่น มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับการลงทุนที่ดี มีความมั่นคงด้านพลังงาน มีพลังงานสะอาด รัฐบาลให้สิทธิประโยชน์การส่งเสริมการลงทุนที่ดี และบุคลากร / แรงงานมีทักษะที่ดี
สำหรับนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ยังมีนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาซื้อที่ดินเพื่อตั้งโรงงานอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา WHA Group ได้เซ็นสัญญาซื้อขายที่ดินกับไฮเออร์จากจีนเพื่อสร้างโรงงานผลิตเครื่องปรับอากาศแห่งใหม่ครบวงจร มูลค่า 10,000 ล้านบาท ล่าสุดได้ปิดดีลดึง Google จากสหรัฐ มาลงทุนสร้างดาต้า เซ็นเตอร์ และ Could Region ในไทยมูลค่าการลงทุน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (จากก่อนหน้านี้ได้ปิดดีลดึงยักษ์ใหญ่รถยนต์ไฟฟ้า 4 ค่ายใหญ่จากจีนมาลงทุนตั้งฐานผลิตในนิคมฯของ WHA ได้แก่ เอ็มจี, เกรทวอลล์มอเตอร์,บีวายดี และฉางอาน)
“ในปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า เราน่าจะมีการประกาศข่าวดี ให้ทราบอีก 2-3 ดีล ในกลุ่มดาต้าเซ็นเตอร์ แบตเตอรี่รถยนต์ เซมิคอนดักเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งนอกจากกูเกิลที่เราสามารถดึงมาลงทุนในไทยได้แล้ว ยังมีกลุ่มดาต้าเซ็นเตอร์อีกหลายรายที่มีความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทย ทั้งนี้ WHA ได้ซื้อที่ดินเตรียมไว้แล้วเกือบ 10,000 ไร่ โดยเป็นการซื้อเพิ่มเติมในปีนี้ 3,000-4,000 ไร่ จากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาก็มีการซื้อต่อเนื่อง เพื่อรองรับการลงทุนจากต่างประเทศรวมถึงนักลงทุนไทย”
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,036 วันที่ 17 - 19 ตุลาคม พ.ศ. 2567