การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะผู้ผลิตไฟฟ้าหลักของประเทศ ถือเป็นหนึ่งหน่วยงานสำคัญที่จะนำพาไทยไปสู่เป้าหมายดังกล่าว โดยปัจจุบัน กฟผ. อยู่ระหว่างความพยายามบริหารจัดการระบบการผลิตไฟฟ้าของประเทศ เพื่อเพิ่มไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ทดแทนการใช้พลังงานฟอสซิล ควบคู่ไปกับการรักษาความมั่นคงทางพลังงาน และดูแลต้นทุนค่าไฟฟ้าของคนไทยอย่างเหมาะสม
ทั้งนี้ กฟผ.ได้มีการดำเนินการศึกษาเทคโนโลยี และนวัตกรรมโรงไฟฟ้าและการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดมาต่อเนื่อง เพื่อนำมาปรับใช้ในการพัฒนาโรงไฟฟ้าของไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ล่าสุดนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ. พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูง นำสื่อมวลชนศึกษาดูงานที่มณฑลไห่หนาน ประเทศจีน เกี่ยวกับการใช้พลังงานสะอาดในหลากหลายรูปแบบ
มณฑลไห่หนานบนเกาะไหหลำ มีการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากเป็นพื้นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ที่มีทั้งขนาดใหญ่ที่เดินเครื่องแล้วและขนาดเล็ก (SMR : Small Modular Reactor) ซึ่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง โดยโรงไฟฟ้า SMR ที่เป็นเป้าหมายในการศึกษามีชื่อว่า ACP100 หรือ Linglong One มีกำลังผลิต 125 เมกะวัตต์ (MWe) เป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย ออกแบบพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จากขนาดใหญ่ให้มีขนาดเล็กลง มีความปลอดภัยสูงขึ้น โดยลดความซับซ้อนของอุปกรณ์ ออกแบบให้ระบบเชื้อเพลิงและระบบผลิตไอนํ้าอยู่ภายในโมดูลปฏิกรณ์แบบสำเร็จรูปจากโรงงาน ซึ่งมีขนาดเล็กสูง 10.8 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 4 เมตร หรือเทียบเท่ารถบัส 1 คัน หนักประมาณ 300 ตัน
โดยใช้เทคโนโลยีนํ้าอัดแรงดัน หรือ PWR (Pressurized Water Reactor) ซึ่งใช้นํ้าเป็นตัวกลางระบายความร้อน สามารถหยุดการทำงานได้เองเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ระบบระบายความร้อนไม่ต้องพึ่งพาไฟฟ้า ส่วนเชื้อเพลิงที่ใช้คือ ยูเรเนียมออกไซด์ (ความเข้มข้นของ U-235 น้อยกว่า 5%) ปล่อยพลังงานความร้อนจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชัน สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องเปลี่ยนเชื้อเพลิงนานถึง 24 เดือน โดยคาดว่าจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ภายในปี 2569 จะมีอายุการใช้งานถึง 60 ปี โดยใช้ขนาดพื้นที่ของโรงไฟฟ้าเพียง 125 ไร่เท่านั้น
นายเทพรัตน์ ยอมรับว่า กฟผ. กำลังศึกษาเทคโนโลยีSMR จากทั่วโลกเพื่อนำมาปรับใช้กับประเทศไทยให้ได้ประโยชน์สูงสุด เพราะ SMR เป็นพลังงานคงที่ สามารถส่งกำลังไฟได้ 24 ชั่วโมง 7 วัน และเป็นเชื้อเพลิงสีเขียวที่ไม่มีคาร์บอนไดออกไซด์ และมีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่แข่งขันได้เพราะแร่ยูเรเนียมเป็นเชื้อเพลิงซึ่งมีจำนวนมาก ราคาตํ่า ใช้ในปริมาณน้อย และไม่มีการผูกขาดเหมือนนํ้ามันและก๊าซธรรมชาติจึงไม่มีความผันผวนของราคาเชื้อเพลิง
สำหรับประเทศไทยอยู่ในสถานะรอความชัดเจน จากแผน PDP2024 โดย กฟผ. ได้ศึกษาความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีนิวเคลียร์และพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มานานกว่า 17 ปี และติดตามเทคโนโลยี SMR จากหลายประเทศทั่วโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย เกาหลีใต้ และจีน เพื่อศึกษาเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับประเทศไทย
“โอกาสที่ไทยจะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือไม่นั้น ตามแผน PDP2024 มีการกำหนดสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในไทยไว้ในปลายแผน แต่สิ่งที่กฟผ.ให้ความสำคัญมากกว่าคือ การยอมรับ และความเข้าใจถึงเทคโนโลยี และความปลอดภัยในการอยู่ร่วมกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของคนไทย จะต้องได้ความเชื่อมั่นมาเป็นอย่างแรก”
อย่างไรก็ดี กฟผ.จะมุ่งส่งต่อความรู้ และความเข้าใจในเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้กับประชาชนผ่านช่องทางต่างๆให้มากขึ้นและต่อเนื่อง เพราะวันนี้ผู้ที่พัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็มีความเข้าใจถึงความกังวลของคนทั่วไป และพยายามปิดจุดอ่อนให้มากที่สุด และต่อไปหลังจากนี้เทคโนโลยีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะดีขึ้นและปลอดภัยมากขึ้น
นอกจากนั้น จะมีการหารือกับกระทรวงศึกษาธิการเพื่อบรรจุอยู่ในหลักสูตร เพื่อสร้างความเข้าใจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ และข้อดีของโรงไฟฟ้า SMR สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา และมหาวิทยาลัยเพื่อให้เกิดความเข้าใจและการยอมรับ โดยการเริ่มศึกษา SMR ในวันนี้ อาจจะต้องใช้เวลาอีก 10 ปีหรือมากกว่านั้น แต่ก็ต้องเริ่มต้น
นอกจากนี้ ยังได้ไปศึกษาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Yinggehai กำลังผลิตสูง 400 เมกะวัตต์ พร้อมติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานรวม 200 เมกะวัตต์-ชั่วโมง ซึ่งพัฒนาบนพื้นที่นาเกลือที่เลิกใช้ประโยชน์แล้ว เช่นเดียวกับการพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ลอยนํ้าในเขื่อนของ กฟผ. โดยไม่กระทบต่อพื้นที่ทางการเกษตรและไม่มีต้นทุนค่าที่ดิน ทำให้มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่สามารถแข่งขันได้
นายเทพรัตน์ กล่าวอีกว่า กฟผ.มีแผนจะเร่งดำเนินการโครงการโซลาร์เซลล์ลอยนํ้าในเขื่อน กฟผ. 2,656 เมกะวัตต์ ให้เสร็จสิ้นภายในปี 2573 โดยโครงการ โซลาร์เซลล์ลอยนํ้าเขื่อนศรีนครินทร์ ชุดที่ 1 กำลังผลิต 140 เมกะวัตต์ เป็นโครงการฯ ที่ 3 อยู่ระหว่างขออนุมัติโครงการต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)
อีกทั้ง พลังงานไฮโดรเจนเป็นอีกหนึ่งแหล่งพลังงานสะอาดที่ได้มีการศึกษาดูงาน โดยได้เห็นการพัฒนาสถานีไฮโดรเจนไห่โข่ว ซึ่งผลิตไฮโดรเจนสีเขียวจากไฟฟ้าที่ได้จากโซลาร์เซลล์ มีกำลังผลิต 5 เมกะวัตต์ ด้วยกระบวนการอิเล็กโทรลิซิส (Electrolysis) แยกนํ้าเป็นไฮโดรเจนด้วยไฟฟ้า ซึ่งสามารถผลิตไฮโดรเจนสีเขียวได้ 100 กิโลกรัมต่อวัน จากนั้นนำไปกักเก็บไว้ในถังเก็บไฮโดรเจน สามารถเติมให้รถที่ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนได้
โดยรับความต้องการใช้ผ่านระบบแอปพลิเคชันใช้เวลาการเติมประมาณ 3 นาทีต่อคัน และให้บริการได้ประมาณ 100 คันต่อวัน โดยตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 60,000 ตันต่อปี
สำหรับประเทศไทย กฟผ.มีโครงการ Wind Hydrogen Hybrid ที่โรงไฟฟ้าลำตะคอง จ.นครราชสีมา สามารถผลิตไฮโดรเจนสีเขียวจากไฟฟ้าที่ได้จากกังหันลมด้วยกระบวนการอิเล็กโทรลิซิส ทำงานร่วมกับเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) กำลังผลิต 300 กิโลวัตต์ เปลี่ยนไฮโดรเจนให้เป็นพลังงานไฟฟ้าจ่ายให้ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ลำตะคอง โดยเริ่มใช้งานตั้งแต่ปี 2559 และ กฟผ.มีโครงการที่ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา คือ โครงการผลิตไฮโดรเจนและแอมโมเนียสะอาดจากพลังงานหมุนเวียนบนพื้นที่ศักยภาพของ กฟผ. ซึ่งมีเป้าหมายเริ่มดำเนินโครงการต้นแบบในปี 2573
ข่าวที่เกี่ยวข้อง