เฉพาะภาคปศุสัตว์ปล่อยก๊าซประมาณ 7.2 พันล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือราว 13% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด โดยการผลิตอาหารสัตว์ปล่อยก๊าซมากที่สุด 45% รองลงมากระบวนการหมักในระบบย่อยอาหารปลดปล่อย 39% และอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ปล่อยก๊าซมากที่สุด โดยเฉพาะเนื้อวัวปล่อยก๊าซถึง 60 กิโลกรัมต่อผลิตภัณฑ์
สำหรับไทยภาคเกษตรปล่อยก๊าซอันดับ 2 รองจากภาคพลังงานและขนส่ง โดยการเพาะปลูกข้าวปล่อยก๊าซ 51% การปล่อย N2O จากดิน 21.99% และปศุสัตว์ 21.46% เมื่อสำรวจการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ไทย พบว่า สินค้าปศุสัตว์และอาหารสัตว์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดเมื่อเทียบกับสินค้าเกษตรอื่น ๆ มีการส่งออกไปสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาจำนวนมาก เฉลี่ยมูลค่ากว่า 7 หมื่นล้านบาทต่อปี
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงปัญหาในปัจจุบันผู้ประกอบการปศุสัตว์หรือกลุ่มผู้ผลิตอาหารสัตว์ในไทยไม่มีข้อมูลว่า ในแต่ละกระบวนการมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาในปริมาณเท่าใดชัดเจน ขาดการเตรียมความพร้อมเพื่อปรับตัวรองรับกับมาตรการใหม่เกี่ยวข้องกับการลดคาร์บอนที่หลายประเทศเร่งผลักดัน ซึ่งจะกระทบต่อปศุสัตว์บ้านเรา ต้นทุนการผลิตจะสูงขึ้น หากไม่สามารถระบุได้อาจมีผลต่อการนำเข้าสินค้าไก่จากไทยของสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งจะทำให้สูญเสียตลาดส่งออกไก่ปริมาณ 2 แสนตัน
“ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านทางสมาคมได้มีการผลักดันเรื่องมาตรฐานการวัดคาร์บอนในวัตถุดิบอาหารสัตว์ โดยเฉพาะข้าวโพดที่ปลูกในประเทศที่ใช้อยู่ 4 ล้านตันต่อปี จากพื้นที่ 7 ล้านไร่ แต่ยังไม่มีความคืบหน้า ไม่มีใครทำอะไรเลย ทั้ง ๆ ที่เรื่องนี้จะเป็นปัญหาในอนาคต ต่อไปการค้ากับต่างประเทศจะไม่ถามเรื่องราคาแล้ว แต่จะถามว่าปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เท่าไร”
ทางสมาคม จึงได้รวมกลุ่ม ตั้งภาคีปศุสัตว์และสัตว์นํ้าไทย ได้ตกลงความร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อำนาจ ชิดไธสง รองผู้อำนวยการ บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม เป็นหัวหน้าโครงการเพื่อดำเนินโครงการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่อุตสาหกรรมปศุสัตว์ไทย (Greenhouse Gas Emissions Reduction in Thai Livestock Production Chain Towards Climate Neutrality in Year 2040) และมีการจัดตั้งคณะทำงาน 4 สินค้าได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, ปลาป่น, เนื้อโค, นมโค ซึ่งถือเป็นสินค้าเป้าหมายหลักที่จะเริ่มดำเนินการก่อน
รองศาสตราจารย์ ดร. อำนาจ กล่าวว่า ทางมหาวิทยาลัย ได้เริ่มโครงการการตรวจวัดก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่การผลิตสินค้าที่ใช้ผลผลิตทางการเกษตรเป็นวัตถุดิบ (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) โดยมุ่งเน้นในขั้นตอนการ ผลิตในแปลงเกษตรกร ที่พบว่าขั้นตอนการเพาะปลูกเป็นขั้นตอนที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในสัดส่วน 70-75% ซึ่งการลงพื้นที่ตรวจวัดการปล่อยการคาร์บอนในกระบวนการผลิตข้าวโพดพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ทำการศึกษาครั้งนี้ เป็นแปลงปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกร ที่เป็นสมาชิกเครือข่ายของภาคีฯ ตั้งอยู่ในจังหวัดชัยนาท และลพบุรี จำนวนรวมทั้งหมด 10 แปลง แบ่งเป็นแปลงที่เพาะปลูกแบบทั่วไป จำนวน 4 แปลง และแปลง GAP จำนวน 6 แปลง
ทั้งนี้ ในรอบที่ 2 ของการศึกษา แปลงที่ 3 ที่จังหวัดลพบุรีมีการเปลี่ยนจากการปลูกข้าวโพดไปเป็นมันสำปะหลัง จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงเก็บตัวอย่างใหม่ และในบางแปลงพบว่ามีนํ้าท่วมแปลงทำให้การศึกษามีความล่าช้าในระดับหนึ่ง ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2567 ได้มีการประชุมคณะทำงานข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายใต้ภาคีฯ และได้ข้อสรุป เบื้องต้นของผลการศึกษาว่า ค่าการปล่อยไนตรัสออกไซด์ของแปลง GAP ในจังหวัดลพบุรี มีค่าการปล่อยอยู่ในช่วง 61-93 kg CO2e/ha/crop และคิดค่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าอยู่ในช่วง 0.01 CO2e/kg ผลผลิต ในฤดูกาลที่1 และในฤดูกาลที่2 พบว่า มีค่าการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์อยู่ในช่วง 87-336 kgCO2e/ha/crop และคิดค่าการปล่อย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าอยู่ในช่วง 0.01-0.05 CO2e/kg ผลผลิต
ส่วนจังหวัดชัยนาท มีค่าการปล่อยอยู่ในช่วง 263-583 kgCO2e/ha/crop และคิดค่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าอยู่ในช่วง 0.05-0.08 CO2e/kg ผลผลิต ในฤดูกาลที่1 และในฤดูกาลที่2 พบว่า มีค่าการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์อยู่ในช่วง 77-233 kgCO2e/ha/crop และคิดค่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าอยู่ในช่วง 0.01-0.02 CO2e/kg ผลผลิต และ ค่าการปล่อยไนตรัส ออกไซด์ของแปลง non-GAP ในจังหวัดลพบุรี มีค่าการปล่อยอยู่ในช่วง 225-270 kgCO2/ha/crop และคิดค่าการปล่อย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าอยู่ในช่วง 0.04-0.05 CO2e/kg ผลผลิต ในฤดูกาลที่1
ส่วนจังหวัดชัยนาท มีค่าการ ปล่อยอยู่ในช่วง 159-180 kgCO2/ha/crop และคิดค่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าอยู่ในช่วง 0.04-0.06 CO2e/kg ผลผลิต ในฤดูกาลที่ 1 ตารางสรุปค่าการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์สะสมต่อฤดูกาล ผลผลิตและค่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อผลผลิต
ภายหลังจากได้ผลการศึกษานี้แล้ว จะต้องมีการนำไปสังเคราะห์ร่วมกับงานวิจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง ก่อนจะนำมาใช้ในการพิจารณาปรับปรุงกระบวนการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อลดค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง นอกจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แล้ววัตถุดิบตัวอื่นเช่น ข้าว มันสำปะหลัง ก็เป็นเป้าหมายที่จะดำเนินการต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง