โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก หรือ SMR (Small Modular Reactor) กำลังถูกจับตามองว่าจะเป็นตัวเปลี่ยนเกมของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด เพราะสามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง และไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้ประเทศมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ในปี ค.ศ.2065
ทั้งนี้ ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) คาดว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ของโลกจะขยายตัวถึง 2.5 เท่า ภายในปี ค.ศ. 2050 และจะเป็นการผลิตไฟฟ้าจาก SMR มากถึง 140 กิกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าเป็นผลมาจากความต้องการไฟฟ้าสีเขียว เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นจากยานยนต์ไฟฟ้า การสร้างศูนย์ข้อมูล (Data Center) และเทคโนโลยี AI
โรงไฟฟ้า SMR นับเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดทางเลือกใหม่ที่ ได้รับการบรรจุไว้ในแผนพัฒนาของหลายประเทศ อาทิ ประเทศนอร์เวย์วางแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้า SMR เพื่อผลิตไฟฟ้าและความร้อนให้กับนิคมอุตสาหกรรมหรือธุรกิจ Data Center ประเทศแคนาดาตั้งเป้าก่อสร้างโรงไฟฟ้า SMR แห่งแรกภายในปี 2577 และเกาหลีใต้ได้ประกาศร่างแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติชุดใหม่ โดยมีแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้า SMR ให้พร้อมใช้งานด้วย
ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้า SMR ที่เปิดดำเนินการแล้วจำนวน 2 แห่ง คือ โรงไฟฟ้า Akademik Lomonosov เป็นโรงไฟฟ้า SMR แบบลอยน้ำ ขนาด 70 เมกะวัตต์ (MWe) ตั้งอยู่ที่เมืองชูคอตกา ทางตอนเหนือของประเทศรัสเซีย สามารถผลิตไฟฟ้าให้กับประชาชนกว่า 1 แสนคน และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ HTR-PM ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ขนาด 210 MWe เริ่มเดินเครื่องเมื่อปี 2565 สามารถผลิตไฟฟ้าให้กับประชาชนกว่า 3 แสนครัวเรือน นอกจากนี้จีนยังอยู่ระหว่างก่อสร้างโรงไฟฟ้า Hainan Changjiang SMR ขนาด 125 MWe คาดว่าจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ภายในปี 2569
สำหรับโรงไฟฟ้า SMR เป็นเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์รูปแบบใหม่ มีกำลังการผลิตไฟฟ้าไม่เกิน 300 MWe โดยออกแบบเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิชชันให้มีขนาดเล็กลงบรรจุไว้ในโมดูลสำเร็จรูปที่ประกอบเบ็ดเสร็จจากโรงงานผู้ผลิต และสามารถขนย้ายโมดูลโดยรถบรรทุกหรือรถไฟเพื่อนำไปติดตั้งในพื้นที่โรงไฟฟ้าได้อย่างสะดวก จึงช่วยลดระยะเวลาก่อสร้างโรงไฟฟ้าเหลือเพียงประมาณ 3 - 4 ปี และใช้พื้นที่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าน้อยกว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบทั่วไปถึง 10 เท่า
อีกทั้ง แร่ยูเรเนียมยังเป็นเชื้อเพลิงซึ่งมีอยู่จำนวนมาก มีราคาต่ำใช้ในปริมาณน้อย ไม่มีการผูกขาดเหมือนน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ จึงไม่มีความผันผวนของราคาเชื้อเพลิงทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าสามารถแข่งขันได้ ดังนั้น โรงไฟฟ้า SMR จึงเป็นโรงไฟฟ้าฐาน (Base Load) สามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง และสามารถใช้เดินเครื่องร่วมกับพลังงานหมุนเวียนได้ โดยไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
เทคโนโลยีโรงไฟฟ้า SMR ได้รับการออกแบบให้มีระบบป้องกันความปลอดภัยมากขึ้น สามารถหยุดการทำงานได้เองเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน มีระบบหล่อเย็นภายในตัว สามารถระบายความร้อนได้อัตโนมัติโดยไม่ต้องใช้ไฟฟ้าและเจ้าหน้าที่ควบคุมเช่นในอดีต เพราะระบบระบายความร้อนใช้หลักการธรรมชาติ เช่น การถ่ายเทความร้อน การปล่อยน้ำไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ ทำให้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินโรงไฟฟ้าจะไม่เกิดความเสียหายแม้ไม่มีกระแสไฟฟ้าในระบบเลยก็ตาม แตกต่างจากกรณีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ-ไดอิจิ ประเทศญี่ปุ่น ที่ระบบหล่อเย็นต้องใช้กระแสไฟฟ้า นอกจากนี้บางเทคโนโลยียังออกแบบให้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์อยู่ใต้ดินเพื่อช่วยลดความเสี่ยงเมื่อเกิดภัยธรรมชาติรุนแรง เช่น สึนามิ พายุ แผ่นดินไหว อีกทั้งการลดความซับซ้อนของอุปกรณ์ ทำให้การควบคุมตรวจสอบทำได้ง่ายขึ้น โอกาสเกิดอุบัติเหตุและรังสีรั่วไหลจึงน้อยลงตามไปด้วย
นอกจากนี้ ขนาดของโรงไฟฟ้าที่เล็กลงและการออกแบบให้มีความปลอดภัยมากขึ้น จึงทำให้พื้นที่สำหรับการวางแผนรองรับเหตุฉุกเฉินมีรัศมีที่ลดลงด้วย โดยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่มีรัศมีถึง 16 กิโลเมตร ขณะที่โรงไฟฟ้า SMR มีรัศมีน้อยกว่า 1 กิโลเมตร เท่านั้น
สำหรับประเทศไทยได้เตรียมการจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานพลังงานนิวเคลียร์และประเมินความพร้อมโครงสร้างพื้นฐาน 19 ด้าน มาอย่างต่อเนื่อง โดยผู้เชี่ยวชาญจาก IAEA ของสหประชาชาติ ได้ประเมินความพร้อมของประเทศไทยพบว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในการตัดสินใจสำหรับการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์
ขณะที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ติดตามศึกษาเทคโนโลยีนิวเคลียร์และ SMR จากหลายประเทศทั่วโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย เกาหลีใต้ และสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อศึกษาเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับประเทศไทย ควบคู่กับการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มานานกว่า 17 ปี
ด้านกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน หรือ ERS ออกแถลงการณ์สนับสนุนให้มีการสร้างโรงไฟฟ้า SMR ตามที่ระบุไว้ในร่างแผน PDP2024 โดยเสนอแนะเพิ่มเติมให้กำหนดแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนเพื่อผลักดันโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR ให้เกิดขึ้นได้จริง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง