new-energy

กฟผ.เร่งศึกษา โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก เล็งอีสาน-ใต้ 600 เมกะวัตต์

    ในร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (PDP2024) ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2567 นี้ ได้มีการการบรรจุโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก หรือ SMR (Small Modular Reactor) ไว้จำนวน 2 แห่ง

โดยทั้ง 2 แห่งมีขนาดกำลังผลิตไฟฟ้าแห่งละ 300 เมกะวัตต์ ไว้ปลายแผนหรือปี 2580 เพื่อสนับสนุนในการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ เนื่องจากเป็นพลังงานสะอาด และสามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง และไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ในงาน “อว.แฟร์ 2024” จัดโดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่zjkoไปเมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ได้จัดเวทีเสวนา “มองต่างมุม SMRs for net Zero” เพื่อรับฟังความคิดเห็นและมุมมองต่อร่าง PDP 2024 ที่นำโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็กเข้าบรรจุอยู่ในแผน

นายศิริวัฒน์ เจ็ดสี ผู้ช่วยผู้ว่าการวิศวกรรมและก่อสร้างโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ชี้ให้เห็นว่า โรงไฟฟ้า SMR ที่จะเข้าระบบในปี 2580 นั้น จะต้องเริ่มก่อสร้างภายในปี 2574 ซึ่งปัจจุบัน กฟผ.ได้เตรียมการโครงการเบื้องต้นทั้งการคัดเลือกสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้า และรวบรวมข้อมูลจากเดิมที่เคยทำเมื่อปี 2554 มาปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกพื้นที่ที่มีศักยภาพ การสรรหาเทคโนโลยีที่เป็นไปได้ รวมถึงการให้การให้ความรู้และสร้างความเข้าใจกับกับประชาชน ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน

ทั้งนี้ ประเทศไทยเคยมีแนวคิดในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มานานกว่า 30 ปี กฟผ. ได้มีการพัฒนาบุคลากรมาตลอด ทั้งการจัดหลักสูตรอบรมทางด้านนิวเคลียร์ ร่วมงานวิจัยใหม่ ๆ กับสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการและสัมมนากับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA)

ขณะที่การคัดเลือกสถานที่ตั้ง ได้ใช้ข้อกำหนดของ IAEA ในการกำหนดเกณฑ์ต่าง ๆ เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่ โดยพื้นที่ที่มีศักยภาพมีอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ ซึ่งพิจารณาจากการตอบสนองปริมาณการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ต่าง ๆ ความปลอดภัย สายส่งไฟฟ้าแรงสูง การจัดหาแหล่งนํ้า

กฟผ.เร่งศึกษา โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก เล็งอีสาน-ใต้ 600 เมกะวัตต์

สำหรับข้อดีของโรงไฟฟ้า SMR จะเป็นโรงไฟฟ้าฐาน (Base Load) สามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง และสามารถใช้เดินเครื่องร่วมกับพลังงานหมุนเวียนได้ ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

อีกทั้ง ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่แข่งขันกับเชื้อเพลิงอื่นได้ เพราะใช้เชื้อเพลิงในปริมาณน้อยมาก มีความร้อนสูง (ยูเรเนียม 1 กิโลกรัม ผลิตไฟฟ้าได้เท่ากับถ่านหิน 100,000 กิโลกรัม หรือก๊าซธรรมชาติ 50,000 กิโลกรัม) โดยโรงไฟฟ้า SMR ขนาด 300 เมกะวัตต์ จะใช้แร่ยูเรเนียมเฉลี่ยประมาณ 12 ตันต่อปี ในขณะที่แร่ยูเรเนียมยังมีอยู่ในปริมาณมาก สามารถเลือกซื้อได้จากหลายแหล่ง ทำให้ไม่เกิดการผูกขาดเหมือนก๊าซธรรมชาติหรือนํ้ามัน ราคาเชื้อเพลิงค่อนข้างคงที่ ไม่ผันผวน

ขณะที่ รศ.ดร.สมบูรณ์ รัศมี ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่ไทยต้องมี โรงไฟฟ้า SMR ว่า เป็นการสนับสนุนให้ประเทศบรรลุการปล่อยก๊าซเรือยกระจกสุทธิเป็นศูนย์( Net Zero) เพราะเป็นพลังงานสะอาดใช้เทคโนโลยีขั้นสูง สามารถเพิ่มโมดูลหรือกำลังผลิตได้เหมาะสมตามความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนไป หรือหากต้องเปลี่ยนหรือซ่อมบำรุงสามารถเลือกเฉพาะโมดูลที่มีปัญหาได้ไม่ต้องหยุดการเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าทั้งหมด อีกทั้ง มีความปลอดภัยมากกว่าเมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้ายุคปัจจุบัน และประหยัดมากขึ้น

ส่วน รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ระบุว่า ปัจจุบันการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาดเล็กแบบโมดูลาร์หรือ SMR แม้จะมีทั้งข้อดีในหลายประเด็นเมื่อเปรียบเทียบกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่ เช่นการก่อสร้างที่เร็วกว่า ใช้พื้นที่น้อยกว่า สามารถก่อสร้างในสภาพแวดล้อมปิด สามารถควบคุมคุณภาพได้ดีกว่า แต่ก็ยังมีประเด็นที่ควรต้องศึกษาวิจัยในบริบทของประเทศไทย

ดังนั้น การจัดให้มีการศึกษา วิจัย เพื่อทบทวนนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ จึงเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์มาก และผลการศึกษาในเบื้องต้นได้เห็นความสำคัญของ เทคโนโลยีนิวเคลียร์

พร้อมทั้งได้เสนอให้เป็นสาขาเทคโนโลยีที่ควรเน้น  (Focused Technology) ในกลุ่มเป้าหมายเทคโนโลยี เพื่อสร้างขีดความสามารถด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับแนวโน้มโลก และประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ การศึกษาวิจัยความเหมาะสมของเทคโนโลยี SMRs ในมิติต่าง ๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ควรต้องดำเนินการเพื่อให้รัฐบาลมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาตัดสินใจ

รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) มองว่าปัจจัยที่จะทำให้ SMR เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย สิ่งสำคัญคือ ต้องวางเป้าหมายให้ชัดเจนว่า ประเทศไทยมีความต้องการมากน้อยแค่ไหน เพราะเป็นแค่ผู้ใช้เทคโนโลยีอย่างเดียว ซึ่งต้องยอมรับว่าไทยไม่ได้เป็นประเทศที่ใหญ่มาก กำลังคนและเทคโนโลยีอาจมีไม่เพียงพอ จึงต้องเลือกบาง Sector ที่มองว่าประเทศมีโอกาสและมีความต้องการผู้เชี่ยวชาญในภาคส่วนต่าง ๆ ต้องร่วมกันหารือและเสนอผู้มีอำนาจในการตัดสินใจว่าจะเดินอย่างไร