new-energy

PDP ฉบับใหม่ หนุนรายได้โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแตะ 2.9 แสนล้าน

    Krungthai COMPASS ชี้ แผนพีดีพีฉบับใหม่ ก่อให้เกิดเม็ดเงินลงทุน 1.7 ล้านล้านบาท ในปี 67-80 หนุนรายได้ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแตะ 2.9 แสนล้านบาทในอีก 13 ปีข้างหน้า

ดร.สุปรีย์ ศรีสำราญ ผู้อำนวยการฝ่าย ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS เปิดเผยว่า แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ พีดีพี (PDP) ฉบับใหม่ให้ความสำคัญกับความมั่นคงของระบบไฟฟ้า และการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากกระบวนการผลิตไฟฟ้า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593

ดร.สุปรีย์ ศรีสำราญ ผู้อำนวยการฝ่าย ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS

ทำให้ภาครัฐสนับสนุนการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและระบบบริหารจัดการไฟฟ้ามากขึ้น โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าพลังงานลม และโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่ภาครัฐมีแนวโน้มเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนมากขึ้น

"คาดว่า กำลังการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าทั้ง 3 ประเภท จะขยายตัว 14.5% ต่อปี มาอยู่ที่ 48,666 เมกะวัตต์ในปี 2580 ซึ่งคิดเป็น 43% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด"

ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน จากกระบวนการผลิตไฟฟ้าได้ถึง 27.5 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2e)  คิดเป็น 57% ของเป้าหมาย Carbon Neutrality ซึ่งยังอยู่ในระดับที่สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวภายในปี 2593 

นายพงษ์ประภา นภาพฤกษ์ชาติ นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า รายได้รวมของธุรกิจโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าพลังงานลม และโรงไฟฟ้าชีวมวลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 1 แสนล้านบาทในปี 2566 เป็น 2.9 แสนล้านบาทในปี 2580 หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 7.9% ตามกำลังการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าดังกล่าว

นายพงษ์ประภา นภาพฤกษ์ชาติ นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS

ซึ่งมาจากการรับซื้อไฟฟ้าจากกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ของภาครัฐทั้งหมด 39,693 เมกะวัตต์ในช่วงปี 2567-2580 โดยแบ่งเป็น

  • โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ 30,412 เมกะวัตต์
  • โรงไฟฟ้าพลังงานลม 7,845 เมกะวัตต์
  • โรงไฟฟ้าชีวมวล 1,436 เมกะวัตต์

นอกจากนี้  การรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าพลังงานลม และโรงไฟฟ้าชีวมวล ของภาครัฐที่จะเกิดขึ้นในช่วงปี 2567-2580  คาดว่า จะก่อให้เกิดเงินเม็ดลงทุนในการก่อสร้างทั่วประเทศกว่า 1.7 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็น

  • โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ราว 1.1 ล้านล้านบาท 
  • โรงไฟฟ้าพลังงานลม 4.6 แสนล้านบาท
  • โรงไฟฟ้าชีวมวล 1.3 แสนล้านบาท

โดยแต่ละพื้นที่ของประเทศจะมีการดึงดูดการลงทุนโรงไฟฟ้าที่แตกต่างกันไป  โดยภาคเหนือจะมีศักยภาพในการลงทุนโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์มากที่สุด เนื่องจากภาครัฐรับซื้อไฟฟ้าแสงอาทิตย์จากโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ในภาคเหนือมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 30.5% ของการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งประเทศ

ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพในการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลมมากที่สุด โดยภาครัฐรับซื้อไฟฟ้าพลังงานลมจากภาคตะวันออกเหนือเกือบทั้งหมด หรือ 92% ของการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานลมทั้งหมด

สำหรับการลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวลนั้น ทุกพื้นที่มีศักยภาพในการผลิต ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อเพลิงที่นำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า ควรเลือกใช้วัสดุเหลือใช้ในการเกษตรมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า โดยโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ตั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลาง ควรเลือกใช้ใบและยอดอ้อย และฟางข้าวเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า

ขณะที่โรงไฟฟ้าชีวมวลที่ตั้งในภาคใต้ควรเลือกใช้ผลพลอยจากปาล์มเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า  เพราะเป็นวัสดุที่เหลือใช้ในภาคดังกล่าวจำนวนมาก