new-energy

"บีซีพีจี" อัด 5 หมื่นล้าน ลุยพลังงานสะอาด 776 MW เป้าปี 73 เพิ่มสัดส่วนเป็น 65 %

    บีซีพีจี รุกขยายลงทุนพลังงานหมุนเวียนต่อเนื่อง อัด 5 หมื่นล้านบาท พัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ในไทย และไต้หวัน พลังงานลมใน สปป.ลาวและฟิลิปปินส์ พร้อมแสวงหาโอกาสลงทุนใน 5 ประเทศ เดินหน้าสู่ Net Zero ลงทุนเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดเป็น 65% ภายในปี 2573

บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านการพัฒนาพลังงานทดแทน ถือเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ล่าสุดได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณองค์กรผู้นำด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก ประจำปี 2567 (Climate Action Leading Organization: CALO) ระดับยอดเยี่ยม สาขาทรัพยากร จากปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ถือเป็นองค์กรเดียวใน 23 องค์กร ที่มีผลการประเมินการจัดการก๊าซเรือนกระจกอยู่ในระดับทอง (Gold) ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการตรวจวัด (MEASURE) ด้านการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก (Reduce) และด้านการชดเชยปริมาณก๊าซเรือนกระจก (CONTRIBUTE)

นายนิวัติ   อดิเรก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด  (มหาชน) กล่าวว่า บีซีพีจี ได้ตั้งเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในประเทศไทย ภายใน พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) และมีการปล่อยก๊าซเรือกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายใน พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมา บีซีพีจี ได้รับการรับรองการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และความเป็นกลางทางคาร์บอนของการดำเนินงานในประเทศ ไทยปี 2565 และปี 2566 จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ติดต่อกัน 2 ปีซ้อน

สำหรับทิศทางการดำเนินธุรกิจของบีซีพีจีจากนี้ไป ยังคงเน้นขยาการงทุนอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาพลังงานทดแทน โดยเฉพาะโครงการตามสัญญาที่กำลังพัฒนา 776.2 เมกะวัตต์ ที่จะต้องใช้เงินลงทุนอีกราว 5 หมื่นล้านบาท ในช่วง 3 ปีนี้ ซึ่งจะช่วยให้บีซีพีจีเข้าใกล้เป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเป็น 65% ของกำลังผลิตรวมในปี 2573

\"บีซีพีจี\" อัด 5 หมื่นล้าน ลุยพลังงานสะอาด 776 MW เป้าปี 73 เพิ่มสัดส่วนเป็น 65 %

ปัจจุบันบีซีพีจีมีกำลังการผลิตตามสัญญาอยู่ที่ 1,959 เมกะวัตต์ ดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว 1,183 เมกะวัตต์ หากสามารถพัฒนากำลังผลิต 776.2 เมกะวัตต์ได้ครบ จะส่งผลให้ปี 2570 บีซีพีจีมีสัดส่วนพลังงานทดแทนที่ดำเนินการเชิงพาณิชย์อยู่ที่ประมาณ 56.3% เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีสัดส่วนราว 27.6%

สำหรับเม็ดเงินลงทุนดังกล่าว จะนำมาใช้ในโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังผลิต 11.9 เมกะวัตต์ ในประเทศไทย โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม 5.3 เมกะวัตต์ ที่ฟิลิปปินส์ จะทยอยเข้าระบบได้ทั้งหมดไม่เกินปี 2569 โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม 290 เมกะวัตต์ ที่สปป.ลาว จะทยอยแล้วเสร็จเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2568 เป็นต้นไป

รวมถึงในส่วนของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ใน 4 จังหวัด ของสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) มีกำลังการผลิตรวม 469 เมกะวัตต์ ที่คาดจะใช้เงินลงทุนอยู่ที่ 34,000-35,000 ล้านบาท ได้ลงนามก่อสร้างแล้ว 50 เมกะวัตต์ และคาดว่าปลายปีนี้จะก่อสร้างได้อีก 100 เมกะวัตต์ ซึ่งทั้งโครงการจะทยอยแล้วเสร็จและจ่ายไฟฟ้าได้ทั้งหมดไม่เกินปี 2570

ขณะที่การแสวงหาโอกาสการลงทุนนั้น บีซีพีจี จะมุ่งเน้นการลงทุนด้านพลังงานทดแทน ในประเทศเป้าหมายที่ได้เข้าไปลงทุนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ที่มีโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ กำลังผลิต 857 เมกะวัตต์ ซึ่งมองว่ายังมีศักยภาพพัฒนาพลังงานทดแทน เช่น พลังงานและระบบกักเก็บพลังงานแบตเตอรี่ (BESS) ส่วนสปป.ลาว ปัจจุบันได้พัฒนาพลังงานลม พลังงานนํ้า และมีการลงทุนด้านสายส่งขายไฟฟ้าไปเวียดนาม เป็นโอกาสที่จะเข้าไปซื้อหุ้นในโรงไฟฟ้าพลังนํ้าที่กำลังจะแล้วเสร็จ อยู่ตามแนวสายส่งเข้ามาได้

ขณะที่ฟิลิปปินส์ พัฒนาโครงการพลังานลมอยู่แล้ว และรัฐบาลมีเป้าหมายที่จะเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอีกราว 11,000 เมกะวัตต์ เป็นโอกาสที่บริษัทจะเข้าไปลงทุนได้อีกมาก ส่วนออสเตรเลีย มีความเป็นไปได้ที่จะลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับระบบกักเก็บพลังงานแบตเตอรี่ และระบบกักเก็บพลังงานแบตเตอรี่ (BESS) คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ภายนปีนี้

สำหรับไทย ยังเป็นประเทศเป้าหมายหลักจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือ PDP ฉบับใหม่ที่กำลังจะประกาศออกมา จากการเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดกว่า 50% รวมถึงโซลาร์รูฟท็อป และ Private PPA

ส่วนการลงทุนธุรกิจอื่น บริษัทฯ ได้เข้าลงทุนในธุรกิจแบตเตอรี่และพลังงานอัจฉริยะ ได้แก่  Vanadium Redox Flow Batter ซึ่งเป็นแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ที่ใช้ในการไฟฟ้าระบบส่ง และธุรกิจ Lithium Battery สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมและที่อยู่อาศัย คาดว่าในปี 2573 รายได้ในส่วนธุรกิจแบตเตอรี่จะปรับเพิ่มขึ้นไปถึงประมาณ19%

นอกจากนี้ บริษัท ยังมีได้พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อช่วยให้องค์กรและหน่วยงาน ทั่วไปสามารถวางแผนและกำหนดเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรงและทางอ้อมแบบครบวงจร เช่น บริการซอฟต์แวร์วัดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ครอบคลุมทั้ง 3 ขอบเขต บริการให้คำปรึกษาการวางแผนและเป้าหมายในการลดปริมาณการปล่อย เช่น การติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ แบตเตอรี่ ระบบศูนย์รวมความเย็นโซลูชั่นเพื่อการ บริหารจัดการพลังงาน และลดการปล่อยของเสีย เป็นต้น

บริการซื้อขายคาร์บอนเครดิตและใบรับรองการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุน เวียน เช่น T-VER และ I-REC เพื่อสนับสนุนการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Offsetting) และบริการให้คำปรึกษาในการขึ้นทะเบียนโครงการใบรับรองการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาบริษัทได้รับการรับรองคาร์บอนเครดิตเป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 744,423 ตันคาร์บอนไดออกไซด์/kWh และได้ใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน  (Renewable Energy Certificates: RECs) ได้การรับรอง 273,856.04 MWh