บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ได้กำหนดเป้าหมายลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 15% ในปี 2578 จากปีฐาน 2569 (Interim Target) ก้าวไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 และมุ่งไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) ภายในปี 2603 ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของกลุ่มบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และของประเทศ
หนึ่งในการขับเคลื่อนเพื่อให้ไทยออยล์บรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ ทางคณะกรรมการบริษัทได้เห็นชอบกับผลการศึกษาของแนวทางการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ปี 2569- 2603 (Net Zero GHG Emissions Pathway)
พร้อมทั้งพิจารณางบประมาณและแนวทางการลงทุนในเทคโนโลยีคาร์บอนตํ่า เช่น การศึกษาการติดตั้งเทคโนโลยีดักจับคาร์บอน (Carbon Capture) ในหน่วยผลิต การศึกษาธุรกิจไฮโดรเจนสีฟ้าและเขียว (Blue and Green Hydrogen) เป็นพลังงานทางเลือก การผลิตนํ้ามันอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF) เป็นต้น
ทั้งนี้ กลุ่มไทยออยล์มีกลยุทธ์การลงทุน เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นแก่พอร์ตการลงทุนของกลุ่มให้สอดคล้องกับแนวโน้มอุตสาหกรรมและการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้พลังงานในอนาคตผ่าน 2 แนวทาง ได้แก่ 1.แนวทางการร่วมทุน (Joint Venture : JV) และการควบรวมกิจการ (Mergers and Acquisitions : M&A) ในกลุ่มธุรกิจชีวภาพ (Bio Business) และธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานรูปแบบใหม่ (New Energy)
ปัจจุบันดำเนินการศึกษาโอกาสในการลงทุนผลิตนํ้ามันเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ (Biojet/SAF) ด้วยเทคโนโลยี Hydroprocessed Esters and Fatty Acid (HEFA) ควบคู่ไปกับเทคโนโลยี Alcohol to Jet (ATJ) ผ่านความร่วมมือกับกลุ่ม ปตท. และพันธมิตรทางธุรกิจ
2.แนวทางการลงทุนแบบ Corporate Venture Capital (CVC) ผ่านบริษัท ท็อป เวนเจอร์ส จำกัด ภายใต้กรอบการลงทุนในธุรกิจ 3 กลุ่ม ได้แก่ เทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Technology) เทคโนโลยีเปลี่ยนผ่านธุรกิจปิโตรเลียม และเทคโนโลยีที่สนับสนุนการลดการใช้น้ำมัน (Hydrocarbon Disruption Technology) และเทคโนโลยีสนับสนุนอุตสาหกรรม และการผลิต (Manufacturing Technology)
นายบัณทิต ธรรมประจำจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP กล่าวว่า สำหรับการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาเทคโนโลยี Alcohol to Jet (AtJ ) ซึ่งใช้เอทานอลเป็นวัตถุดิบ เนื่องจากมองว่า ปัจจุบันการใช้นํ้ามันปรุงอาหารใช้แล้วภายในประเทศมีอย่างจำกัดไม่เพียงพอต่อความต้องการ ประกอบกับการใช้เอทานอลเป็นวัตถุดิบยังสามารถต่อยอดจากธุรกิจเอทานอลที่กลุ่มไทยออยล์มีโรงงานอยู่แล้ว
อีกทั้ง ในช่วง 2 ปีข้างหน้าตามระเบียบของ พ.ร.บ.กองทุนนํ้ามันเชื้อเพลิง จะยกเลิกการอุดหนุนราคานํ้ามันเชื้อเพลิงชีวภาพหรือแก๊สโซฮอล์ จะทำให้มีปริมาณเอทานอลที่ผลิตอยู่ล้นตลาดได้ เกิดการแข่งขันสูง หากกลุ่มไทยออยล์สามารถนำเทคโนโลยี AtJ มาผลิตเป็น SAFได้ ก็จะช่วยระบายเอทานอลของกลุ่มได้อีกทางหนึ่ง
ปัจจุบันการศึกษาเทคโนโลยี AtJ ได้ร่วมกับทางพันธมิตรสหรัฐอเมริกา ที่คาดว่าจะผลิตออกมารองรับกับมาตรการบังคับภายใต้องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ในการลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ภาคอากาศยานตั้งแต่ 1 มกราคม 2570 เป็นต้นไป
รวมถึงนโยบายของประเทศไทยในการส่งเสริมการใช้ SAF ตามร่างแผนบริหารจัดการนํ้ามัน เชื้อเพลิง พ.ศ. 2567-2580 (Oil Plan 2024) ที่ได้ตั้งเป้าหมายการ นำนํ้ามันปรุงอาหารใช้แล้ว (used cooking oil : UCO) นํ้ามันปาล์มดิบ โดยจะส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี Hydroprocessed Esters and Fatty Acids หรือเ HEFA ผสมในนํ้ามันเครื่องบินสัดส่วน 1% ตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป และเพิ่มเป็น 2% ในปี 2571
หลังจากนั้น ปี 2573 จะได้ SAF จากเทคโนโลยี Alcohol to Jet หรือ AtJ ที่ผลิจากเอทานอลมาเสริมซึ่งจะช่วยให้สัดส่วนการผสม SAF เพิ่มขึ้นที่สัดส่วน 3% ในปี 2576 เพิ่มเป็น 5% และจะเพิ่มเป็น 8% ในปี 2579 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ตามร่าง Oil Plan 2024 คาดว่าการส่งเสริมการผลิตและการใช้เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) และนํ้ามันดีเซลชีวภาพสังเคาระห์ (BHD) จะใช้เงินลงทุนราว 56,775 ล้านบาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง