sustainability

ปฏิวัติน้ำเงิน: เมื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแซงหน้าการประมงในปี 2567

    เปิดสถิติผลผลิตสัตว์น้ำโลกปี 2567 การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแซงหน้าการประมงเป็นครั้งแรก สร้างอนาคตท้าทายการขับเคลื่อน 'การปฏิวัติน้ำเงิน' สู่ความยั่งยืน

เปิดสถิติปี 2567 ผลผลิตจาก "การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ" แซงหน้าการประมงแบบดั้งเดิมเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลก ตามรายงานการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโลก (SOFIA) โดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ฉบับปี 2567 เปิดเผยว่า ผลผลิตจากการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั่วโลกในปี 2565 มีปริมาณรวมกันกว่า 223.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 4.4% จากปี 2563 ซึ่งในจำนวนนั้นประกอบด้วยสัตว์น้ำกว่า 185.4 ล้านตัน และสาหร่ายทะเล 37.8 ล้านตัน

 

โดยเป็นผลผลิตจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสูงถึง 130.9 ล้านตัน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นสัตว์น้ำ 94.4 ล้านตัน ซึ่งคิดเป็น 51% ของผลผลิตทั้งหมดจากการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ สร้างความท้าทายต่อการขับเคลื่อน "การปฏิวัติน้ำเงิน" (Blue Transformation)

 

 

แม้ "การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ" จะขยายตัวอย่างก้าวกระโดด แต่การประมงยังคงมีบทบาทสำคัญในการผลิตสัตว์น้ำ โดยในปี 2565 ผลผลิตการจับสัตว์น้ำทั่วโลกอยู่ที่ 92.3 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม เพียง 62.3% ของสัดส่วนของสัตว์น้ำทั้งหมดที่ถูกจับมานั้นมีความยั่งยืนทางชีวภาพลดลงจากปี 2562 ซึ่งต่ำกว่าปี 2562 ถึง 2.3%

 

แนวโน้มนี้เป็นสัญญาณเตือนในการเร่งการจัดการประมงอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นสู่ "การปฏิวัติน้ำเงิน" เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและเพิ่มปริมาณการจับได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจะช่วยตอบโจทย์การบริโภคสัตว์น้ำของมนุษย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 มีสถิติการบริโภคสัตว์น้ำทั่วโลกสูงถึง 162.5 ล้านตัน

 

ปฏิวัติน้ำเงิน: เมื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแซงหน้าการประมงในปี 2567

 

ทั้งนี้มีคาดการณ์ว่า การบริโภคสัตว์น้ำจะเพิ่มขึ้นอีก 12% ภายในปี 2575 เฉลี่ยอยู่ที่ 21.3 กิโลกรัมต่อคนต่อปี และมีการคาดการแนวโน้มว่าการผลิตสัตว์น้ำจะเพิ่มขึ้น 10% เป็น 205 ล้านตัน เนื่องจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น การขยายตัวของเมือง ประชากร และแนวโน้มการบริโภคอาหารที่เปลี่ยนไป

 

ปัจจุบันมีเพียง 10 ประเทศเท่านั้นที่สร้างผลผลิตจาก "การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ" ได้มากถึงกว่า 89.8% ของทั้งหมด ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย อินเดีย เวียดนาม บังกลาเทศ ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ นอร์เวย์ อียิปต์ และชิลี ขณะที่ประเทศรายได้น้อยจำนวนมากในแอฟริกาและเอเชียยังคงไม่สามารถใช้ศักยภาพด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของตนได้อย่างเต็มที่

 

ดังนั้นโยบายที่กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน การถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยง การสร้างขีดความสามารถ และการลงทุน จึงเป็นกุญแจสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างยั่งยืนในพื้นที่ที่มีความต้องการสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปแอฟริกาที่ยังขาดแคลนด้านนี้อยู่มาก

 

ปฏิวัติน้ำเงิน: เมื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแซงหน้าการประมงในปี 2567

 

อย่างไรก็ตาม จากการคาดการณ์ของ FAO ชี้ว่า หากต้องการรักษาระดับการบริโภคสัตว์น้ำให้เท่ากับปี 2565 จนถึงปี 2593 จะต้องสร้างผลผลิตสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นอีก 36 ล้านตัน หรือ 22% ซึ่งนับเป็นความท้าทายสำคัญต่อการขับเคลื่อน "การปฏิวัติน้ำเงิน" ให้สามารถยุติความหิวโหย ภาวะขาดสารอาหาร และความยากจนได้

 

นอกจากความมั่นคงทางอาหารแล้ว ภาคการประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำยังเป็นแหล่งสำคัญของการจ้างงาน แต่อัตราการจ้างงานในภาคประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำลดลงจาก 62.8 ล้านคนในปี 2563 เหลือ 61.8 ล้านคนในปี 2565 โดยกลุ่มแรงงานผู้หญิงมีสัดส่วนเพียง 24% ของแรงงานทั้งหมด และยังคงเผชิญปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศในด้านต่างๆ

 

"การปฏิวัติน้ำเงิน" จำเป็นต้องดำเนินอย่างต่อเนื่อง ทั้งในการขยายการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน การจัดการประมงที่มีประสิทธิภาพ และการสร้างห่วงโซ่คุณค่าที่คำนึงถึงประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และความเท่าเทียม เพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบอาหารที่ยั่งยืน มั่นคง และครอบคลุมทั่วโลก

 

ปฏิวัติน้ำเงิน: เมื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแซงหน้าการประมงในปี 2567

 

อ้างอิง: