sustainability

ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดโรดแมป ESG เส้นทางบจ.ที่ยั่งยืน

In Brief

  •  ความยั่งยืนเป็นเรื่องที่ตลาดทุนไทยให้ความสำคัญอย่างมาก มีการส่งเสริมให้บจ. รับรู้ถึงความสำคัญของความยั่งยืนในหลายด้าน เช่น สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล
  • การจัดทำคู่มือและ Workshops เพื่อช่วยบริษัทในการเริ่มต้นด้านความยั่งยืน
  • การอบรมบุคลากรในตลาดทุนและการจัดตั้ง "SET ESG Experts Pool" เพื่อเพิ่มองค์ความรู้ด้านความยั่งยืน
  • การพัฒนาและจัดทำฐานข้อมูล ESG Data เพื่อให้ข้อมูลที่สามารถใช้ในการตัดสินใจลงทุนและประเมินผลิตภัณฑ์

    ตลาดหลักทรัพย์ฯ เดินหน้าสนับสนุน งานด้าน ESG ของบจ. จัดโครงการอบรมคนรุ่นใหม่ ร่วมสร้างกระแสตระหนักความสำคัญของความยั่งยืน สร้างเครื่องคิดเลขคาร์บอน หวังลดต้นทุน บจ. เพื่อสร้างรากฐานที่แข็งแรงให้แก่องค์กรและการเติบโตได้ในระยะยาว

ตลาดทุนไทย ถือเป็นกำลังสำคัญของระบบเศรษฐกิจ การสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนใช้ประโยชน์จากตลาดทุน เพื่อให้มีศักยภาพรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต และสร้างโอกาสเสริมความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมให้เติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน จึงเป็นเรื่องสำคัญ

ความยั่งยืนเป็นประเด็นความสำคัญกับตลาดทุนไทย

ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กรและโครงการกลยุทธ์ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุนและหัวหน้ากลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงข้อมูลด้านการพัฒนาความยั่งยืนคู่กับตลาดทุนไทยว่า ความยั่งยืนเป็นประเด็นที่มีความสำคัญกับตลาดทุนไทยอย่างมากในปัจจุบัน

ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กรและโครงการกลยุทธ์ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุนและหัวหน้ากลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ในฐานะที่เป็นแพลตฟอร์มกลางของตลาดทุนพยายามที่จะทำให้เกิด "องคาพยพ" ทั้งหลายด้านความยั่งยืนในตลาดทุนอย่างครบวงจร 

โดยทำตั้งแต่การสร้างความตระหนัก การโปรโมทให้บริษัทจดทะเบียน (บจ.)และบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียน ตระหนักถึงความสำคัญของความยั่งยืน ซึ่งมีหลายหลายเรื่องมาก ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม ด้านธรรมาภิบาล ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการจัดทำหนังสือคู่มือแนะแนวทาง (guidebook) เพื่อเป็นตัวอย่างให้บจ.จะเริ่มต้นได้อย่างไร

"เรายังมีการจัด Workshops เป็นแรงจูงใจต่างๆ เพื่อให้เห็นว่า เป็นเรื่องที่ บจ. สามารถเลือกเรื่องที่สำคัญกับธุรกิจมาทำได้"

ขณะเดียวกัน ก็มีเรื่องของการอบรมบุคลากรในตลาดทุน ตั้งแต่นักวิเคราะห์ คนที่ทำหน้าที่ Investor relation คนที่ทำหน้าที่ด้านความยั่งยืนในองค์กร หรือคนที่อยู่ในสายงานกำกับราชการ มีทั้งหมดเลย เพื่อให้เป็นกำลังขับเคลื่อนด้านความยั่งยืน 

โดยมีกลุ่มคนที่เรียกว่า "SET ESG Experts Pool" ที่ตลาดทุนได้มีการสันบสนุนทุนการศึกษาและอบรมออนไลน์ เพิ่มองค์ความรู้ต่างๆจากต่างประเทศมาผสมกับองค์ความรู้ของเมืองไทย มาร่วมกันขับเคลื่อนในเรื่องพวกนี้ด้วย

ทำฐานข้อมูล ESG Data อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำฐานข้อมูล ESG Data อย่างต่อเนื่อง เพราะว่า บจ.ที่ทำเรื่องความยั่งยืนแล้ว ถ้าไม่มีการเก็บข้อมูลก็จะไม่สามารถมองเห็นได้ว่า สิ่งที่ทำมาแล้วมีพัฒนาการมากน้อยเพียงใด หรือเทียบกับคู่เทียบทางธุรกิจแล้วเป็นอย่างไร

อีกทั้งนักลงทุนเองสามารถใช้เรื่องฐานข้อมูลมาใช้ประกอบการตัดสินใจได้ ตลอดจนเอาข้อมูลเหล่านี้ไปทำเรทติ้งและทำอินเด็กซ์ เพื่อเอามาประเมินผลิตภัณฑ์ รวมถึงพยายามสร้างให้เกิดการลงทุนในสินทรัพย์ที่ยั่งยืน เพื่อให้เป็นกำลังให้กับบจ.อีกด้วย

นอกจากด้านการลงทุนแล้ว ทางตลาดหลักทรัพย์ฯก็ได้มีการจัดทำรางวัล "Sustainability award" เพื่อมอบให้กับเหล่าบจ. ที่มีส่วนร่วมและมีการสานต่อและพัฒนาธุรกิจควบคู่ไปกับความยั่งยืน ซึ่งที่เล่ามาทั้งหมด อยากจะแสดงให้เห็นว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นจุดตั้งแต่ซัพพลายไปถึงดีมานด์ที่นักลงทุนสนใจด้านความยั่งยืน

"โครงการเหล่านี้เริ่มมานานแล้ว แต่เมื่อก่อนอาจไม่ได้เรียกว่า ความยั่งยืนและอาจถูกเรียกเป็นบรรษัทภิบาล (Governance) ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) หลังเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ทำเรื่อง CSR ล่าสุด ก็เป็นเรื่องของความยั่งยืน เป็นกรอบที่ถือว่า สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ก็ทำมาร่วม 20 ปี ได้แล้ว"

ส่วนกระแสการตอบรับของบจ. ในช่วง 3-4 ปีหลังมานี้ถือว่า เร่งตัวขึ้นมาค่อนข้างมาก ความตื่นตัวในเรื่องของกระแสความยั่งยืน โดยเฉพาะเรื่องของสิ่งแวดล้อม เรื่องโลกร้อน เป็นประเด็นที่กลุ่มคน GEN ใหม่ ที่คนหนุ่ม-สาว ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง

เรื่องของการอบรม ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการจัดทำขึ้นทุกปี ปีนึงก็หลายรุ่น เพราะมีความตั้งในที่จะผลิตบุคลากรให้เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันก็มีกลุ่มบุคลากร SET ESG Experts Pool อยู่ประมาณ 240 คน ซึ่งถือว่าเยอะ เป็นกลุ่มที่มีพลังสูงที่จะเข้ามาร่วมผลักดันในหลายๆ กิจกรรม ร่วมกัน

ยกตัวอย่างเช่น การนำเอาความรู้ใหม่ๆ มาหารือกัน เอาเทรนด์ความยั่งยืนใหม่ๆ มาแลกเปลี่ยนข้อมูล อาทิ ความหลากหลายทางชีวภาพ การรายงานทางการเงินที่ต้องเอาข้อมูล ESG เข้ามาร่วมประกอบการรายงานควบคู่กันไป ซึ่งมีแนวโน้มที่คนรุ่นใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มเรื่อยๆ แต่ถามว่า พอไหม ก็ต้องบอกว่า ตอนนี้ตลาดทุนไทยมี 860 บจ.จากนี้คงต้องพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ 

"เราพยายามจะทำงานร่วมกับพันธมิตร เช่น มหาวิทยาลัยต่างๆ พยายามสอดแทรกเนื้อหาหลักสูตรอบรมด้านความยั่งยื่น โดยตลาดหลักทรัพย์ มีการจัดทำระบบเรียนรู้ด้วยตนเองแบบออนไลน์ผ่านระบบ e-Learning ที่สามารถเอาเข้าไปให้มหาวิทยาลัยทั่วประเทศนำไปใช้ ผลิตบุคลากรรุ่นใหม่เข้ามาในตลาดฯ"

ในเรื่องของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net zero เป็นประเด็นที่มีความสำคัญอย่างมาก ต้องบอกเลยว่า ในปัจจุบันนี้การที่เราจะไปทำการค้าการขายในต่างประเทศ โดยเฉพาะในแถบยุโรป จะส่งออกไปประเทศเหล่านี้ ถ้าเราไม่สามารถพูดได้ว่า สินค้าเรามีคาร์บอนที่ต่ำก็อาจโดนเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่ม

ธุรกิจส่งออกต้องปรับตัวรับเกณฑ์ใหม่

เพราะฉนั้นเป็นเรื่องธุรกิจเลยที่ต้องปรับตัวให้ทัน ไม่เช่นนั้นจะทำการค้าขายไม่ได้ รวมถึงการลงทุน กองทุนต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เริ่มให้ความสำคัญในเรื่องบริษัทที่ใส่ใจในเรื่องนี้ด้วย

ดังนั้นธุรกิจต้องทำเรื่อง ความยั่งยืน เพราะยุโรปค่อนข้างจัดเจนมาก อเมริกา ต้องรอดู ธุรกิจต้องมีการปรับตัว ไม่ปรับสุดท้ายธุรกิจก็ไม่สามารถเดินหน้าไปต่อได้ และอาจต้องตายไปในท้ายที่สุด

"หลายประเทศเริ่มมีมาตรฐานที่ต้องมีข้อมูลระบุที่มาที่ไป ต้องตรวจสอบได้ ยาง น้ำยางได้มากจากที่ไหน แรงงานถูกต้องหรือไม่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ จะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ หลายคนมองว่า การปรับตัวมันเป็นต้นทุน แต่อยากให้เห็นว่าเรื่องความยั่งยืนเป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องตระหนักและต้องทำ"

พูดถึงเรื่องคาร์บอน จุดสำคัญมากๆ อันหนึ่ง คือ บจ. ต้องรู้ก่อนว่า ธุรกิจของตนเองปล่อยคาร์บอนเท่าไหร่ หรือที่เรียกว่า "คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร" ปัจจุบันต้องเรียนว่า มี บจ. เพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้นเองที่ได้มีการประเมินว่าองค์กรตนเองมีการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์เท่าไหร่ ยิ่งน้อยไปกว่านั้นคือ คนประเมินได้รับการสอบทานจาก Third party แล้ว

ผุดเครื่องคิดเลขคาร์บอนให้บจ.

เพราะฉนั้น สิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์คิดและทำเสริมให้ในปี 2567 นี้ คือ เครื่องมือคำนวนคาร์บอน หรือ Carbon Calulator หรือที่เรียกว่า "เครื่องคิดเลขคาร์บอน" ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะให้ บจ. สามารถใช้ในการคำนวนคาร์บอนได้ด้วยตนเอง

โดยปีนี้เป็นโครงการนำร่อง (Pilot Project) ซึ่งมีบจ.ที่มาเข้าร่วมประมาณ 20 แห่ง ส่วนปี 2568 หลังจากที่กระบวนการทุกอย่างเสร็จสิ้นก็จะเปิดให้บจ. ทั้งหมดใช้ ทั้งนี้การคำนวนคาร์บอนต้องเรียนว่า เป็นเรื่องที่ค่อนข้างเฉพาะกับลักษณะธุรกิจของแต่ละบริษัท

ยกตัวอย่าง บริษัทหนึ่งอาจมีการปล่อยคาร์บอนจากธุรกิจหนึ่งมาก ในขณะที่บริษัทอีกประเภทหนึ่งที่ไม่เยอะเท่า ทำให้ทางตลาดหลัทรัพย์ฯ จำเป็นที่จะต้องทดลองกับบริษัทที่เข้าร่วมก่อน เพื่อให้ได้เครื่องคิดเลขที่มันเหมาะสมที่สุดในแต่ละธุรกิจ

ทั้งนี้อยากให้ทุก บจ.เปิดข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร เพราะอย่างที่เรียนไว้ว่า สเต็ปแรกบจ. ต้องรู้ก่อนว่า ปล่อยคาร์บอนไปเท่าไหร่ ก่อนที่จะไปคำนวนได้ว่า ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกมามีคาร์บอนเท่าไหร่ แล้วเวลาส่งออกถึงใช้ตัวเลขนั้น

ฉนั้นเราก็ทำให้ข้อจำกัดในการมีข้อมูลในการคำนวนคาร์บอนลดน้อยลง แทนที่ทุกคนจะต้องไปลงทุนสร้างเครื่องคิดเลขคาร์บอนของตัวเอง ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ทำให้แทน โดยที่ไม่ปิดกั้น

หากบจ. ใดมีการสร้างเครื่องคิดเลขร่วมกับรายอื่นๆ ที่อาจมีความละเอียดแบบเฉพาะของแต่ละหน่วยธุรกิจมากกว่า ก็สามารถเอามาใช้ได้เช่นกัน เพราะว่าการคำนวนสูตรการคิดคาร์บอนต้องถูกรับรองโดยทางการอยู่แล้ว เพียงแต่ความละเอียด หรือวิธีการคำนวนอาจแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย สิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำเป็นแบบพื้นฐานเท่านั้น 

ร่างสัญญา Master plant ซื้อขายคาร์บอนด์

รวมถึงการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ พยายามอำนวยความสะดวกในการซื้อขายคาร์บอนด์เครดิต อย่างปี 2566 ก็ได้ว่า จ้างสำนักกฎหมายแห่งหนึ่งเขียนร่างสัญญาที่เป็น Master plant สำหรับการซื้อขายคาร์บอนด์เครดิต เพื่อให้ บจ.สามารถซื้อขายระหว่างกันเองได้ โดยที่ไม่ต้องไปร่างสัญญาใหม่

เพียงแค่ดาวน์โหลดมากรอกข้อมูลเองเท่านั้น ไม่ต้องเสียเวลาหรือมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ทำให้กับสาธารณะ ทุกธุรกิจสามารถนำเอาไปใช้ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ก็มองว่า จะเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยให้บริษํทหรือธุรกิจลดต้นทุนได้

สำหรับการขับเคลื่อนกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อรองรับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงอย่าง โลกร้อนฯ สิ่งแรกที่ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำ คือ

  1. สร้างให้เกิดความตระหนัก
  2. ลดภาระในการ นำมาใช้ หรือ รวบรวมและเรียบเรียง
  3. เพราะฉนั้นทุกๆ อย่างที่เป็นความยากลำบากของ บจ. ในการทำด้านความยั่งยืน ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะทำให้ต้นทุนต่างๆ ถูกที่สุด 

เช่น บจ. อยากคำนวนคาร์บอน เราก็มีเครื่องคิดเลขคาร์บอนด์ให้ บจ. จำเป็นต้องรายงานข้อมูลต่างๆ ด้าน ESG ทางตลาดหลักทรัพย์ก็มีแพลตฟอร์ม ESG data ให้ ทำให้บจ. สามารถมารายงานตรงนี้ที่เดียว แต่สามารถลิงค์การรายงานดังกล่าวออกไปยังหน่วยงานอื่นๆ ได้

หรือในความจำเป็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องที่ต้องทำ เช่น การส่งรายงาน ตามเกณฑ์ที่กำหนดในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1 One Report) ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (​​​ก.ล.ต.) และสามารถนำไปใช้ในการทำเรตติ้งได้

นอกจากนั้น ตลาดหลักทรัพย์พยายามโปรโมทฯ เรื่องดีๆ ที่บจ.ทำ มีการให้รางวัลกับบจ. ที่ทำในเรื่องของความยั่งยืนทุกปี รวมถึงมีการผลักดันเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ล่าสุด กระทรวงคลังได้ออกกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน หรือ Thailand ESG Fund (TESG)

ซึ่งจุดนี้ก็ใช้ข้อมูลบางส่วนจากแพลตฟอร์มที่ทางตลาดหลักทรัพย์ฯสร้างขึ้น เพื่อเป็นพื้นฐานแสดงให้เห็นว่า มีหุ้นตัวไหนเป็นหุ้นความยั่งยืนบ้าง ต้องบอกเลยว่า ค่อนข้างประสบความเร็จด้วยปี โดยปีที่แล้ว(2566) พบว่า บจ.เปิดเผยข้อมูลด้านคาร์บอนมากขึ้นถึง 30% เพราะจะทำให้บจ.ดังกล่าวอยู่ในลิสต์บริษัทที่พัฒนาควบคู่กับความยั่งยืน

ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ อยากจะกระตุ้นให้มีการเปิดเผยข้อมูลของบจ.ให้ได้มากที่สุด เป็นงานที่เราต้องทำต่อเนื่อง เพราะแม้หมดเรื่องคาร์บอน ก็มีเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) มีเรื่องของสิทธิมนุษยชน (Human Rights) เข้ามาใหม่อีก

เพราะฉนั้นเป็นเรื่องที่ต้องโปรโมท สร้างการรับรู้อย่างต่อเนื่อง ต้องวัดผลกันอย่างต่อเนื่อง บางอย่างอาจต้องการปรับปรุงและแก้ไขวิธีการหลายๆ อย่างต่อไป

พร้อมกันนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังมีการส่งเสริมบรรษัทภิบาล หรือการกำกับดูแลกิจการ (Corporate Governance) ภาคธุรกิจ สิ่งที่เราเน้นมาโดยตลอด เพราะตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง พบอุปสรรค์ว่า บจ.จะไปกู้เงินต่างประเทศ แทบจะไม่ให้เลย เพราะว่าไม่ได้เรื่องของ Governance ที่ดี

ในตอนนั้นตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงได้ร่วมมือกับหลายหน่วยงานทั้ง ก.ล.ต. เวิล์ดแบงก์ แบงก์ชาติ ไปเอาหลักสูตร IOD จากทางออสเตรเลียเข้ามา แล้วตั้งเป็นสถาบัน IOD ที่เมืองไทย ซึ่งก็จะมีหลายกิจกรรมที่ IOD ทำก็คือ ทำการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียน (CGR rating ) ที่เราเห็นกัน

รวมไปถึงการส่งเสริมในเรื่องของการต่อต้านคอรัปชั่น ที่ได้ทำในส่วนของตลาดหลักทรัพย์ฯ เอง เดิมทีเราดูภาพที่กว้างกว่าคือ เราไม่ได้ดูแค่เพียงตัว Governance เพียงอย่างเดียว ยังมีสิ่งที่เรียกว่า "ESG Rating" ซึ่งเป็นภาพที่ใหญ่กว่า

ถามว่า Governance เป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญมาก เป็นสิ่งที่เชื่อว่าเป็นพื้นฐานของสิ่งอื่นๆ คือ ถ้า Governance ดี ในเรื่องอื่นๆ ก็เชื่อมได้ เรียนได้ว่าหลายเหตุการณ์ที่ผ่านมา ถือว่าเป็น Wake-up call ที่ต้องร่วมกันยกระดับหลายๆ อย่าง เพื่อให้ความเชื่อมั่นกลับมา

ส่วนตัวเห็นว่า ช่วงปี 1-2 ปีที่ผ่านมา หลากหลายอย่างถูกปรับเปลี่ยนไป มีการวางกฎเกณฑ์ใหม่ๆ ออกมาเยอะมาก มีการเปิดเผยข้อมูลให้กับผู้ลงทุน มากกว่าที่เคยมีมาก ยกตัวอย่าง เช่น การดู บจ. ที่กำลังจะเข้าตลาดฯ เกณฑ์การเข้า SET mai ถูกปรับให้สูงขึ้นเราเน้นที่คุณภาพมากกว่าอะไรที่ฉาบฉวย

ปั้น LiVE Exchange รองรับ Start-up

ขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้ปิดกั้นบริษัทที่เป็น Start-up เรามีกระดานใหม่ "LiVE Exchange" เพื่อรองรับธุรกิจขนาดเล็กที่ต้องการระดมทุนในการพัฒนาต่อยอดธุรกิจที่มีอนาคต รวมถึงการกำกับดูแลการการนำเอาเครื่องมือเข้ามาเป็นส่วนผสมที่ละเอียดขึ้น คงต้องเป็นเรื่องที่ต้องปรับต่อเนื่องไป เรื่องพวกนี้ไม่ใช่เรื่องที่ปรับครั้งเดียวแล้วจบ 

เรื่องที่เปิดเผยในวันที่ 30 ก.ค. 67 อันที่จริง มีการวางแผนมาแล้วกว่า 2 ปีว่า จะปรับการทำเรตติ้ง จากเดิมที่เป็นประเมินผลคือ บจ. เข้ามารับการประเมิน เราจะมีการส่งคำถามไปให้กรอก เสร็จแล้วก็จะมีการถามเพิ่มเติมและทดสอบเพิ่มมาเป็นการใช้ของมูลในลักษณะของข้อมูลที่ถูกประกาศแบบสาธารณะ ที่อาจเป็นข้อมูลจากเว็ปไซต์ บจ. เอง หรือเป็นข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ มาใช้ประกอบ 

เพราะฉนั้นจึงเป็นวิธีหนึ่งที่เราสามารถได้ข้อมูลที่กว้างมากขึ้นและโปร่งใส่มากขึ้น เพราะเป็นข้อมูลชุดเดียวกับที่มีการเปิดเผยแบบสาธารณะและทำให้เราสามารถ Cover บจ. ที่ถูกรับประเมินได้จำนวนมากขึ้นกว่าเดิม เป็นสิ่งที่เราวางแผนกันไว้ ร่วมกับผู้ประเมินระดับโลกมาเป็นพาร์ทเนอร์ ยกระดับจากมาตรฐานเป็นมาตรฐานเดียวกันที่ทั่วโลกใช้กัน

ด้านการตระหนักรู้ของนักลงทุนมีความสนใจมากขึ้นเยอะมาก เราเคยทำการศึกษาร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ 2 ปีก่อน โดยที่ศึกษาพฤติกรรมนักลงทุน New เช่น Gen Y และ Gen Z เพราะเห็นว่าเป็นกลุ่มที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงของโควิด นักลงทุนอายุน้อยเริ่มมาเปิดบัญชีมากขึ้น ทำให้เราอยากรู้ว่าเค้าลงทุนในหุ้นประเภทไหน

ก็พบว่า กลุ่มดังกล่าวสนใจที่จะลงทุนในหุ้นที่มีความใหม่ หุ้นเทคโนโลยี อันนี้ชัดเจนมาก แต่ที่น่าสนใจคือ กลุ่มคนเหล่านี้มีการลงทุนในหุ้นยั่งยืนด้วย เพราะว่าคนรุ่นใหม่การลงทุนเพื่อแสดงออกถึงความเป็นตัวตนของเขา และการที่เทรนนี้มาทำให้คนรักโลกมากขึ้นและจะลงทุนในหุ้นที่มีภาพหรือผลงานที่ชัดเจนว่าทำในเรื่องนี้ 

ส่วนเรื่องกองทุนนั้น หากย้อนเวลากลับไปเมื่อราว 10 ปี ก่อน ประเทศไทยมีกองทุนที่เป็น Corporate Governance กับ ESG มีเพียง 2 กอง แต่เมื่อ ม.ค.2567 ที่ผ่านมา กองทุนมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 120 กองทุน เห็นได้ชัดเลยว่า จำนวนเพิ่มขึ้นจริงๆ ตอนนี้ดีมานด์มาแล้ว แต่สิ่งที่ต้องพยายามให้ความรู้หรือสอดแทรกให้กับสาธารณะรู้ต่อไปในเรื่องของสิ่งที่กำลังจะมาหรือต้องเปลี่ยนแปลงไป

อันที่จริงมีหลายมิติ ไม่ใช่แค่โลกร้อนอย่างเดียว ยังมีมิติอื่นๆ อีกเยอะแยะ ซึ่งถ้าผู้ลงทุนสนใจ อาจต้องไปหาข้อมูลเสริมเพิ่มเติม ข้อมูลจากเรตติ้งเพียงอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องไปดูไส้ในว่า ด้าน E (Environmental หรือ สิ่งแวดล้อม)เป็นอย่างไร เป็นสิ่งที่นักลงทุนจะมองเห็นได้ลึกมากขึ้น

หุ้นไทยติด TOP ESG โลก

ในปี 2566 เรามีหุ้น ESG อยู่ 193 บริษัทที่ผ่านเกณฑ์ มูลค่าอยู่ที่ประมาณ 70% ของ marketcap (ขึ้นอยู่กับว่าราคหุ้น ณ ช่วงนั้นๆ) แต่คิดว่า ตัวที่นักลงทุนจะดู ไม่จำเป็นต้องไปดูทั้ง 193 ตัว ไปดูในธุรกิจที่สนใจจริงๆ เพราะในแต่ละบจ.จะมีความเด่นในตัวเองเป็นเฉพาะ บางบจ. อาจเน้นเรื่อง E เยอะ บางบจ. อาจเน้น S (Social หรือ สังคม) เยอะบ้าง ก็แตกต่างกันไป

หุ้น ESG ปี 2566 มีการเปิดเผยข้อมูลว่าหุ้นที่ผ่านเกณฑ์ ผ่านด้วยเกรดอะไร อีกหน่อย ถ้าเราใช้มาตรฐานที่เป็นระดับโลกมากขึ้น นักลงทุนก็จะมีข้อมูลเชิงลึกที่มากกว่านั้น ทำให้มองเห้นภาพว่าหุ้นแต่ละตัวที่โดดเด่น เค้าโดดเด่นด้วยมิติของอะไร เราอยากให้หุ้น ESG มีความกว้างมากขึ้น มี บจ. ใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มขึ้น แต่จำนวนที่ถูกเรตเข้ามาก็ไม่ใช่ว่าทุก บจ. จะดีเท่ากันหมด เพียงแค่จะมีข้อมูลบจ. ที่เยอะขึ้น

"ต้องเรียนว่าเรื่องความยั่งยืนเป็นประเด็นสำคัญของโลกและของตลาดทุน ความตั้งใจของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ทำเรื่องของ ESG เรตติ้ง หรือด้านข้อมูลของความยั่งยืน เพราะอยากทำให้ บจ. มีกำลังใจที่จะเข้ามาทำ เพราะทำแล้วเขาได้เปิดเผยข้อมูลที่ทำออกมาให้กับสาธารณะชน และกับนักลงทุนเองก็มีข้อมูลเพิ่มเติมที่ใช้ประกอบกับการตัดสินใจลงทุน"

ต้องเน้นคำว่า ใช้ประกอบ เพราะว่ามีข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ อีกเยอะเลย เช่น ข้อมูลด้านการเงิน หรือข้อมูลอื่นๆ ที่เอามาใช้ในการประกอบการตัดสินใจด้วย หลายครั้งเรื่องของเรตติ้งอาจถูกมองว่า เป็นตัวบ่งชี้เลยว่าอันนี้ใช่หรือไม่ใช่ แต่ต้องเรียนว่า มันเป็นข้อมูลประกอบที่นักลงทุนสามารถเอาไปใช้ได้ เป็นการดีที่มีข้อมูลมากกว่าการตัดสินใจโดยไม่มีข้อมูล เป็นเรื่องที่ต้องค่อยๆ สื่อสารออกไป

ในเรื่องของความยั่งยืน โดยเฉพาะในไทย เรามีจุดแข็งและที่เป็นเสน่ห์ ทำให้ตลาดทุนไทยเป็นที่สนใจในตลาดโลกได้ อย่าง บจ. ที่ทำด้านส่งแวดล้อมมีดีเยอะเแยะเลย ทั้งโลกก็ไขว่คว้าหา บจ. ที่ทำเรื่องพวกนี้อยู่ เป็นจุดขายจุดหนึ่งของไทยที่ทำให้หุ้นเรายังมีความน่าสนใจอยู่ ไทยเราเป็น TOP ESG ของโลก เรามีหุ้นไทยกว่า 28 ตัวที่ติดอันดับ TOP ของโลก ที่อยู่ในดัชนีดาวน์โจน และ 40 ตัว ใน MSCI

มี 14 บจ.ไทยที่ได้รางวัลเหรียญทองของ SMP โกลบอลคือสูงสุดของโลก สูงกว่าอเมริการและเอเชีย ซึ่งบจ.ไทยทำเรื่องนี้ได้เก่งมากๆ ที่เรากำลังมุ่งเน้นอยู่นี้คือ ไม่ใช่เพียงบจ. ขนาดใหญ่ แต่กำลังผลักดัน บจ.ระดับกลางและเล็กที่อยู่ในตลาดฯเข้ามาทำเรื่องนี้มากขึ้น นั้นก็เป็นเหตุที่ ทำไมต้องมีรางวัล มี Work shop มีอบรม ทำไมต้องทำเครื่องคิดเลข ก็เพื่อให้คนเหล่านี้เข้ามาทำเรื่องพวกนี้มากขึ้น

เส้นทางของการเป็นธุรกิจยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีการจัดทำเส้นทางของการเป็นธุรกิจยั่งยืน (Sustainable Business Development Roadmap) เพื่อเป็นแนวทางให้กับบริษัทจดทะเบียน เพราะโลกปัจจุบันที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเราจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นส่งผลให้การทำธุรกิจในยุคนี้ไม่สามารถให้ความสำคัญกับเพียงแค่ตัวเลข “กำไร” ที่บรรทัดสุดท้ายในงบการเงินเพียงอย่างเดียวได้อีกต่อไป

หากแต่ธุรกิจต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน อาทิ ลูกค้า คู่ค้า พนักงาน ชุมชน และ สิ่งแวดล้อม ของธุรกิจด้วย ธุรกิจยุคใหม่จึงหันมาให้ความสำคัญและร่วมดูแลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องบนความรับผิดชอบในวงกว้าง เพื่อสร้างรากฐานที่แข็งแรงให้แก่องค์กรและการเติบโตได้ในระยะยาว

เส้นทางของการเป็นธุรกิจยั่งยืน (Sustainable Business Development Roadmap)

ซึ่งการเดินทางของธุรกิจในเส้นทางนี้จะประกอบด้วย 4 ขั้นตอน

  1. การวางรากฐานความยั่งยืน
  2. การขับเคลื่อนธุรกิจยั่งยืน
  3. การพัฒนาต่อยอด
  4. การมุ่งสู่ธุรกิจยั่งยืน