ช่วงที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) พยายามสร้างความเข้มแข็งให้กับตลาดทุนไทย ด้วยการสร้างจุดแข็งด้านความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่ต้องคำนึงทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล หรือ ESG ส่งผลให้บริษัทจดทะเบีบนจากประเทศไทยได้รับการจัดอันดับใน DJSI หรือ Dow Jones Sustainability Index มีสมาชิกอยู่ถึง 12 บริษัท สูงที่สุดในโลกในปี 2566 เหนือกว่า สหรัฐอเมริกา ที่มีอยู่ 11 บริษัท
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ตลาดหุ้นไทยกำลังเจอวิกฤติศรัทธาอย่างหนักจากนักลงทุน ทั้งจากกรณีการทุจริตในในการซื้อขายหุ้นบริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE, การตกแต่งบัญชีของ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK และล่าสุดการกล่าวโทษผู้บริหารบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ขณะนี้มีมาตรการสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดหุ้นไทย ซึ่งได้ดำเนินการ ไปหลายมาตรการแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการคุมเข้มเรื่องการทำ Short sale และการกำกับดูแลเรื่องการใช้ Program Trading เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ระยะต่อไปจะมีมาตรการดูแลเพิ่มเติมออกมาอีก แต่ยังพูดก่อนไม่ได้ เพราะบางเรื่องค่อนข้างอ่อนไหน อย่างไรก็ตาม ในด้านการบังคับใช้ต้องดีกว่านี้ เพื่อเติมเต็มในการบังคับใช้กฎหมายให้รวดเร็วและเป็นธรรม
“โจทย์ในการดูแลตลาดทุน คือ การบังคับใช้กฎหมายต้องชัดเจน รวดเร็ว เด็ดขาด ส่วนนี้จะสร้างความเชื่อมั่นได้ ทั้งนี้ แต่ละคดีที่เกี่ยวกับหลักทรัพย์มีช่องโหว่แตกต่างกัน ซึ่ง STARK ก็ช่องหนึ่ง MORE ก็ช่องหนึ่ง ส่วน EA ก็อีกช่องหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่เกิดกับหุ้นขนาดใหญ่ หรือ IPO Underwrite ซึ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ดังนั้น การสร้างความเชื่อมั่นต้องมีหลายวิธีจัดการ” นายลวรณกล่าว
ส่วนของกระทรวงการคลังที่จะสามารถสนับสนุนตลาดทุนได้คือ การเติมสินค้าเข้าไปในตลาดทุน หลังจากที่สร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุนแล้ว เปรียบเสมือนเมื่อมีตุ่มน้ำที่รั่ว เราต้องอุดรูรั่วนั้นเสียก่อนที่จะเติมน้ำเข้าไปในตุ่ม ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลัง กำลังเตรียมเรื่องกองทุน Thai ESG ที่ปรับเพิ่มวงเงินลดหย่อนภาษี 30% ไม่เกิน 3 แสนบาท/ปี จากเดิมไม่เกิน 1 แสนบาท/ปี
ทั้งนี้ ได้ปรับเงื่อนไขลดระยะเวลาการถือครองที่จะได้รับการลดหย่อนภาษี เหลือ 5 ปี จากเดิม 8 ปี ซึ่งหลังจากที่ผ่านการอนุมัติจากครม.แล้ว เราอยากให้สามารถเริ่มซื้อขายได้ตั้งแต่ก.ย.67 นี้เลย ซึ่งคาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ตลาดราว 5 -6 หมื่นล้านบาท
นอกจากนั้น จะมีอีกหนึ่งมาตรการที่จะเติมสินค้าเข้าตลาดทุน คือ การขยายกองทุนวายุภักษ์ โดยปัจจุบันผู้ถือหน่วยลงทุนกองทุนวาภักษ์ มีกองทุนสองประเภท ได้แก่ ประเภท ก. คือ ประชาชนทั่วไปที่เข้ามาลงทุน ปัจจุบันมีมูลค่า 1.5 แสนล้านบาท และประเภท ข. ที่ถือโดยหน่วยงานของรัฐและกระทรวงการคลัง มีมูลค่าประมาณ 3.5 แสนล้านบาท
สำหรับการที่จะขยายกองทุนวายุภักษ์ จะเป็นการขยายจากกองเดิม คือ ประเภท ข. ซึ่งจะทำได้รวดเร็ว เนื่องจากไม่ต้องทำการยื่นดำเนินการใหม่ ขณะเดียวกัน ประเภท ข. เป็นหลักประกันในการการันตีผลตอบแทนของประชาชนที่เข้ามาซื้อหน่วยลงทุนประเภท ก. ซึ่งกำหนดผลตอบแทนขั้นต่ำที่ 3% หากผลตอบแทนของ ประเภท ก.ต่ำกว่า 3% ก็ต้องนำผลตอบแทนจากประเภท ข.มาสมทบให้จนเต็ม 3%
อย่างไรก็ตาม กองทุนประเภท ข. ซึ่งเป็นกองทุนค้ำประกันผลตอบแทนขั้นต่ำให้กับประชาชนที่ซื้อหน่วยลงทุนกองทุนวายุภักษ์ ในช่วงที่ผ่านมา มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมามาก ดังนั้น เราจะตัดส่วนหนึ่ง ประมาณ -1.5 แสนล้านบาท มาตั้งเป็นกองทุน แล้วขายหน่วยลงทุนให้กับประชาชน
“เมื่อรวมเม็ดเงิน จาก Thai ESG และกองทุนวายุภักษ์แล้ว ประเมินว่าจะมีเม็ดเงินไหลเข้าตลาดประมาณ 2 แสนล้านบาท” นายลวรณกล่าวทิ้งท้าย
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,010 วันที่ 18 - 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2567