sustainability

พิษโลกเดือดเร่งวิกฤตอาหารรุนแรง ผลผลิตร่วง ราคาพุ่ง เสี่ยงอดอยากทั่วโลก

    โลกเดือดเร่งวิกฤตอาหาร สภาพอากาศสุดโต่งทำลายพืชผลทั่วโลก ราคาอาหารพุ่งสูง ผู้เชี่ยวชาญเตือนวิกฤตอาจรุนแรงขึ้น

โลกกำลังเผชิญกับ "วิกฤตอาหาร" ที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ ราคาอาหารทั่วโลกผันผวนอย่างหนัก โดยพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2565 ก่อนจะลดลงในปี 2566 และกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งในปี 2567 นี้ สาเหตุหลักมาจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น

 

ผลกระทบจากปัจจัยเหล่านี้แตกต่างกันไปตามประเภทของอาหาร สินค้าในซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไปมีราคาแพงขึ้น ในขณะที่ราคาธัญพืชลดลงเมื่อเทียบกับต้นปี

การศึกษาในปี 2567 พบว่า อุณหภูมิสูง "อย่างต่อเนื่อง" จะทำให้อัตราเงินเฟ้อของอาหารเพิ่มขึ้นทั้งในประเทศที่มีรายได้สูงและต่ำ โดยเฉพาะในช่วงเดือนที่ร้อนจัด เช่น ฤดูร้อนปี 2565 ที่ยุโรปเผชิญกับคลื่นความร้อนรุนแรงผิดปกติ ส่งผลให้เกิดไฟป่า และคร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 60,000 ราย

พิษโลกเดือดเร่งวิกฤตอาหารรุนแรง ผลผลิตร่วง ราคาพุ่ง เสี่ยงอดอยากทั่วโลก

โลกเดือดสามารถส่งผลกระทบต่อการผลิตและราคาอาหารได้อย่างไร?

ยุโรป

ในยุโรป การศึกษาพบว่าความร้อนทำให้อัตราเงินเฟ้ออาหารเพิ่มขึ้น 0.43-0.93% โดยอัตราเงินเฟ้อของอาหารในยุโรปมีความผันผวนสูง บางช่วงสูงถึง 19% ในปี 2565-2566 นอกจากนี้ การศึกษายังเตือนว่าภาวะโลกร้อนที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้อัตราเงินเฟ้อด้านอาหารในยุโรปเพิ่มขึ้นถึง 30-50% ภายในปี 2578

 

สหราชอาณาจักร

สหราชอาณาจักรเผชิญกับปัญหาฝนตกหนักที่ทำให้ดินเปียกและการปลูกพืชล่าช้า ในปี 2566 เป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นอันดับสองและมีฝนตกชุกที่สุดเป็นอันดับ 7 นับตั้งแต่เริ่มบันทึกในปีพ.ศ. 2379 ส่งผลให้การผลิตพืชผักในสหราชอาณาจักรลดลง 4.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยผลผลิตดอกกะหล่ำลดลงกว่า 9% และมีการปลูกหัวหอมน้อยที่สุดในรอบหลายทศวรรษ

สหรัฐอเมริกา

ทางด้านสหรัฐอเมริกา ผลผลิตส้มลดลงเนื่องจากโรคและสภาพอากาศที่รุนแรง โดยผลผลิตส้มลดลงมากกว่า 40% ระหว่างปี 2563 ถึง 2567 ส่วนหนึ่งเกิดจากพายุเฮอริเคนเอียน ซึ่งทำลายพืชผลส้มในฟลอริดาประมาณ 90%

นอกจากนี้ โรคใบเขียวของส้มที่แพร่กระจายโดยแมลงที่รุกราน ยังเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุดต่ออุตสาหกรรมส้มของสหรัฐฯ ในประวัติศาสตร์

 

เมดิเตอร์เรเนียน

ฝั่งแถบเมดิเตอร์เรเนียน การผลิตน้ำมันมะกอกลดลงเนื่องจากอุณหภูมิสูง โดยการผลิตลดลงประมาณหนึ่งในสามระหว่างปี 2564 ถึง  2567 ส่งผลให้ราคาน้ำมันมะกอกพุ่งสูงขึ้นในหลายส่วนของโลก ในเดือนมกราคม  2567 ต้นทุนเพิ่มขึ้นเกือบ 70% ในโปรตุเกสเมื่อเทียบกับปีก่อน และเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 50% ในสหภาพยุโรป

 

จีน

สภาพอากาศสุดขั้วในจีนส่งผลให้ผลผลิตข้าวลดลง การศึกษาในปี 2566 พบว่าฝนตกหนักทำให้ผลผลิตข้าวในจีนลดลงประมาณ 8% ในช่วงปี 2542-2555 นอกจากนี้ ความร้อน ความแห้งแล้ง และความหนาวเย็นก็ส่งผลเสียต่อผลผลิตข้าวเช่นกัน

เดือนกรกฎาคม ปี 2567 เป็นเดือนที่ร้อนที่สุดของจีนนับตั้งแต่เริ่มบันทึกสถิติในปี 1961 และประเทศนี้เผชิญกับน้ำท่วมใหญ่ 25 ครั้งในปีนี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มบันทึกในปี 1998 ส่งผลให้ราคาของผักและผลไม้บางชนิด เช่น กะหล่ำปลี ผักโขม และลูกแพร์ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

พิษโลกเดือดเร่งวิกฤตอาหารรุนแรง ผลผลิตร่วง ราคาพุ่ง เสี่ยงอดอยากทั่วโลก

อ้างอิง: