sustainability

บิ๊กธุรกิจไทยลุยเศรษฐกิจสีเขียว ตั้งเป้า Net Zero ปี 2593

    ภาคธุรกิจไทยเดินหน้าปรับโครงสร้างธุรกิจสู่ความยั่งยืน ตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ภายในปี 2593 คาดใช้เงินลงทุนกว่าแสนล้านบาทในการบริหารจัดการ

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ฉลอง 60 ปี จัดสัมมนา “60 YEARS OF EXCELLENCE”  เปิดเวทีสัมมนา ในหัวข้อ “The Future of Sustainability Growth” ภาคธุรกิจเอกชนไทยเดินหน้าปรับโครงสร้างการผลิต เปลี่ยนการใช้พลังงานจากฟอสซิล ไปสู่พลังงานทางเลือก และพลังงานหมุนเวียน

รวมทั้งปรับกระบวนการทำงานของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) เข้าสู่ภาคธุรกิจสีเขียว โดยมีเป้าหมายในการที่จะขับเคลื่อนการเติบโตขององค์กรให้มีรายได้อย่างยั่งยืน และ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (CO2) ตามข้อตกลงการลดก๊าซเรือนกระจกในการประชุมการลดภาวะโลกร้อนตามข้อตกลงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ปี พ.ศ 2559 

บิ๊กธุรกิจไทยลุยเศรษฐกิจสีเขียว ตั้งเป้า Net Zero ปี 2593

โดยที่ประเทศไทยมีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกลง 30-40% จากกรณีปกติ ในปี พ.ศ. 2573 และเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2593 และ เป็น “ศูนย์” ในปี 2608 ในฐานะที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันร่วมเป็นภาคี ในปี 2559

นายปณต สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด กล่าวว่า แนวทางการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมว่า ต้องยอมรับว่าภาคอสังหาฯ เป็นภาคธุรกิจที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง

คิดเป็นสัดส่วนถึง 60% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทั้งโลก ดังนั้นแนวทางการพัฒนาอสังหาฯ เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก เราเริ่มต้นตั้งแต่กระบวนการพัฒนาโครงการ และร่วมมือกับพันธมิตรและคู่ค้า

บิ๊กธุรกิจไทยลุยเศรษฐกิจสีเขียว ตั้งเป้า Net Zero ปี 2593

เราใช้เวลา 2-3 ปีในการพัฒนาวัสดุก่อสร้างที่ใช้คาร์บอนต่ำ ในการทำให้โครงการวัน แบงค็อก เป็นโครงการที่พัฒนาโดยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ โดยเรานำผงคอนกรีตมาใช้ในการสร้างอาคารอเนกประสงค์ เราสร้างอาคารคอนกรีตอย่างยั่งยืน โดยการนำเทคโนโลยี การออกแบบ และการก่อสร้างมาใช้

นายปณต กล่าว ผมเชื่อว่าธุรกิจอสังหาฯ เป็นธุรกิจที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้ในระยะยาว ถ้าเราร่วมมือกันทำตั้งแต่ต้นน้ำในส่วนของวัสดุก่อสร้าง ไปจนถึงแนวคิดในการออกแบบและการก่อสร้าง ไปจนถึงการใช้งานอาคาร” 

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าว ภายใต้หัวข้อ “A Conversation on the Sustainable Future” ว่า กลุ่มบริษัทบางจากให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืน

โดยการพัฒนาโครงสร้างการบริหารจัดการขององค์กรมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีแนวทางที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนองค์กรสู่การเป็นองค์กรที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาองค์กรในกรอบของ ESG

เราเริ่มต้นแผนการลดก๊าซเรือนกระจกมาตั้งแต่ปี 2559 โดยมีการตรวจสอบกระบวนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร เพื่อใช้เป็นฐานในการคิดคำนวณและออกแบบแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจก จากนั้นวางแผนในการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง

ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี เราใช้งบลงทุนมากกว่า 6 หมื่นล้านบาท เพื่อปรับกระบวนการผลิตภายใน รวมถึงการลงทุนในพลังงานทางเลือก เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีค่าสุทธิเป็นกลาง ในปี 2593

สำหรับแนวทางสำคัญในการปรับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้น นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ในส่วนของบางจาก คือการปรับกระบวนการผลิต การใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น เราพัฒนาประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน

บิ๊กธุรกิจไทยลุยเศรษฐกิจสีเขียว ตั้งเป้า Net Zero ปี 2593

โดยมีการวางเป้าหมายในการลดคาร์บอนเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2608 ตามเป้าหมายของประเทศ โดยจะทยอยลดลง 10% 30% 40% 50% จนเป็นศูนย์ตามลำดับ ซึ่งในกระบวนการดังกล่าว ได้นำเทคโนโลยีมาใช้ รวมถึงการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานของบริษัทในการลดก๊าซเรือนกระจกไปด้วยกัน

หัวใจสำคัญในการปรับลดให้ได้ตามเป้าหมาย ต้องเริ่มต้นที่คนของเราให้คำนึงถึงความสำคัญของการลดก๊าซเรือนกระจกจากชีวิตประจำวัน ไปสู่กระบวนการทำงาน รวมถึงการลงทุนในการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตไปพร้อมกัน

“สิ่งสำคัญคือ เราต้องมองการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตไม่ใช่ค่าใช้จ่าย แต่เป็นเรื่องของการลงทุนที่จะได้รับผลตอบแทนกลับมาในอนาคต เหมือนการลงทุนในพลังงานทางเลือก เรามองว่าเป็นการลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนกลับมา

ซึ่งถือเป็นการลงทุนอย่างยั่งยืน ไม่ใช่ค่าใช้จ่าย เมื่อเราเปลี่ยนแนวคิดในการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก เป็นเรื่องของการลงทุนที่จะได้ผลตอบแทนกลับมาในระยะยาว ก็จะทำให้การปรับกระบวนการผลิตไม่ใช่ภาระ แต่เป็นเรื่องของการสร้างอนาคตสู่การเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจสีเขียว”

นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า ธุรกิจของเอสซีจี ทั้งการผลิตปูนซีเมนต์ วัสดุก่อสร้าง ปิโตรเคมี และบรรจุภัณฑ์ เป็นอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเราจึงเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องมีการปรับตัวและพัฒนากระบวนการผลิตของเราให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมกันด้วย

สิ่งที่เอสซีจีกำลังทำอยู่คือ เราปรับกระบวนการผลิต เริ่มต้นจากการใช้พลังงานในการผลิตสินค้าของกลุ่มเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เริ่มต้นจากเป้าหมายในการลดลง 25% จนเข้าสู่ระดับกลาง และเป็นศูนย์ในที่สุด

แต่ละขั้นตอนจะมีแผนที่แต่ละส่วนงานทำร่วมกัน และรวมไปถึงการขับเคลื่อนร่วมกับพันธมิตรธุรกิจ และห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) เพื่อให้กระบวนการลดก๊าซเรือนกระจกสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นระบบ

ทั้งนี้ในการทำงานร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ บริษัทมีการพัฒนาสินค้าร่วมกันกับคู่ค้า อาทิ โครงการ วัน แบงค็อก บริษัทพัฒนาร่วมกับทางกลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด ในการพัฒนาปูนซีเมนต์​แบบ Low Carbon มาใช้ในการก่อสร้างโครงการ รวมไปถึงวัสดุต่างๆ ที่มีกระบวนการผลิตที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น

จากนี้เป็นต้นไป สินค้าในกลุ่มของเอสซีจี จะเป็นสินค้า Low Carbon ทั้งในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง และปิโตรเคมี โดยในส่วนปิโตรเคมี มุ่งเน้นให้ความสำคัญด้านการพัฒนา BIO Plastic ที่สามารถใช้คาร์บอนต่ำกว่าพลาสติกทั่วไป 1 เท่าตัว แม้ต้นทุนการผลิตจะสูงในช่วงเริ่มต้น แต่ค่าใช้จ่ายจะลดลงเมื่อผลิตมากขึ้น เพื่อให้เกิด Low Carbon Plastic ให้เพิ่มขึ้นจาก 10% ไปถึง 30% ในที่สุด

โดย BIO Plastic สามารถรีไซเคิลได้ 90% การเปลี่ยนแปลงแหล่งพลังงานและกระบวนการผลิต เป็นหัวใจสำคัญในการลดคาร์บอน ในกระบวนการผลิตของกลุ่มเอสซีจี ซึ่งเป็นกระบวนการก้าวสู่องค์กรที่ยั่งยืนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของ ESG

“เศรษฐกิจยั่งยืน” เป็นเรื่องของการลงทุนไม่ใช่ต้นทุน

นางเฮเลเนอ บุดลีเกอร์ อาร์ทิเอดา (H.E. Mrs. Helene Budliger Artieda) State Secretary for Economic Affairs, SECO, Switzerland กล่าวว่า แนวคิดเรื่องความยั่งยืน และการลดก๊าซเรือนกระจก เป็นเรื่องที่ต้องทำร่วมกัน

ซึ่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ให้ความสำคัญมาก ทั้งนี้การขับเคลื่อนประเทศและองค์กรสู่การเป็นองค์กรยั่งยืน เป็นกระบวนการที่ต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกันทั้งภาครัฐและเอกชน

“กฎหมายอย่างเดียวไม่สามารถทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ ลดก๊าซเรือนกระจกได้ แต่เราต้องทำให้ภาคเอกชนและประชาชน เข้าใจและพร้อมที่จะมีส่วนในการลดก๊าซเรือนกระจกไปพร้อมกัน” นางอาทิเอดา กล่าว

สำหรับประเทศไทย เป็นหนึ่งในประเทศที่ให้ความสำคัญในเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก  และมีความร่วมมือกับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในการพัฒนาแนวทางการลดโลกร้อนภายในประเทศ เช่นความร่วมมือในการพัฒนา E-Bus (รถประจำทาง) ในประเทศไทยจำนวน 2,000 คัน ซึ่งช่วยในการลดก๊าซเรือนกระจก

ทั้งนี้ สวิตเซอร์แลนด์ มีกองทุนสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกที่พร้อมจะร่วมมือกับประเทศไทยและอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลก เพื่อกระตุ้นให้เกิดการปรับกระบวนการผลิตและการทำงานที่มีส่วนในการลดก๊าซเรือนกระจกในแต่ละประเทศ เพราะเรื่องของก๊าซเรือนกระจกเป็นเรื่องที่ทุกประเทศต้องทำงานร่วมกัน ประเทศใดประเทศหนึ่งทำโดยลำพังไม่ได้

บิ๊กธุรกิจไทยลุยเศรษฐกิจสีเขียว ตั้งเป้า Net Zero ปี 2593

นายฮานส์ พอล เบิร์กเนอร์ (Mr. Hans-Paul Burkner) Managing Director and Global Chair Emeritus, Boston Consulting Group กล่าวว่าเรื่อง “The Economics of Sustainability” ว่าในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เราหมายถึงการพัฒนาเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องของการลงทุนที่จะสร้างอัตราการเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาว

“เราต้องเปลี่ยนมุมมองว่า การลดก๊าซเรือนกระจก การทำธุรกิจอย่างยั่งยืนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และ ธรรมาภิบาล ไม่ใช่เรื่องของค่าใช้จ่าย แต่เป็นเรื่องของการลงทุน ที่จะขับเคลื่อนองค์กรให้มีรายได้และกำไรที่เติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมกัน

เราไม่จำเป็นที่จะต้องลงทุนก้อนใหญ่เพื่อธุรกิจสีเขียว แต่เราสามารถเลือกทางเลือกที่เหมาะสมในกระบวนการทำงานและการผลิต เพื่อก้าวเข้าสู่ธุรกิจสีเขียว ทั้งการปรับกระบวนการผลิต การเลือกวัสดุ การปรับเปลี่ยนเรื่องของพลังงาน การใช้เทคโนโลยี ที่เหมาะสม และสร้างรายได้และกำไรที่เหมาะสม” 

สำหรับประเทศไทยมีโอกาสที่ดีและมีความได้เปรียบหลายด้านในการก้าวสู่ความยั่งยืน ด้วยจุดเด่นด้านภูมิศาสตร์ที่ตั้งของประเทศที่โดดเด่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่กำลังขยายตัว เมื่อเทียบกับภูมิภาคยุโรป ขณะที่ประเทศที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคอื่นๆ กำลังเผชิญความลำบาก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจขนาดเล็กและกลุ่ม SMEs มีความได้เปรียบและคล่องตัวมากกว่าในการปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่ความยั่งยืน

ขณะที่บริษัทขนาดเล็กและใหญ่ ต้องมีวาระด้านความรับผิดชอบด้านความยั่งยืนที่ชัดเจน และต้องบริหารทรัพยากรอย่างยั่งยืน ต้องคว้าโอกาส และต้องรู้เรื่องกฎระเบียบด้วย และนับเป็นโอกาสที่ดีที่ไทยต้องคว้าไว้ สำหรับโอกาสที่ไทยจะได้รับคุณค่าจากความยั่งยืน ช่วยลดต้นทุน ซึ่งเราจะต้องเป็นผู้กำหนดเอง และต้องกำหนดแผนงาน และทำจริง ทุกบริษัทมีโอกาสเหมือนกัน