sustainability

NRF ชู 'โครงการวิจัยถ่านชีวภาพ' มุ่งเสริมเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ

    NPF ผุดไอเดียพัฒนาต้นแบบ "เตาเผาถ่านชีวภาพ" รองรับวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรได้สูงถึง 50 กก./วัน ใช้ทรัพยากรเหลือทิ้งจากการเกษตร มาเปลี่ยนเป็นถ่านชีวภาพ (ไบโอชาร์) ลดปัญหาการเผาและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Negative)

บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF ผู้นำด้านการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน ได้ให้การสนับสนุนการพัฒนาและวิจัยเกี่ยวกับโครงการต้นแบบการผลิตถ่านชีวภาพจากเตาเผาวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งโครงการนี้เป็นความร่วมมือกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โดยมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรเหลือทิ้งจากการเกษตร เช่น ซังข้าวโพด ลำต้น ตอ ใบ และเปลือกข้าวโพด มาเปลี่ยนให้เป็นถ่านชีวภาพ (ไบโอชาร์) ที่สามารถช่วยลดปัญหาการเผาและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Negative) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ

นายแดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF เปิดเผยว่า โครงการนี้เกิดขึ้นจากปัญหาหมอกควันที่เกิดจากการเผาวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรในภาคเหนือ ซึ่งเป็นปัญหาที่เรื้อรังและส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่เป็นเวลาหลายปี

แดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF

โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง และจังหวัดใกล้เคียง การเผาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และก๊าซพิษอื่นๆ ส่งผลให้เกิดฝุ่นละออง PM2.5 ในปริมาณที่สูง ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนและเศรษฐกิจในพื้นที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ด้วยเหตุนี้ NRF จึงได้สนับสนุนสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ ในการวิจัยและพัฒนาต้นแบบเตาเผาถ่านชีวภาพที่สามารถรองรับวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรได้มากถึง 50 กิโลกรัมต่อวัน โดยมีรูปแบบการเผาที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ การใช้ฟืน การใช้น้ำมันพืชใช้แล้ว และถ่านอัดแท่ง

ซึ่งสามารถควบคุมอุณหภูมิในการเผาได้ถึง 700 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ยังมีการออกแบบระบบชุดอบวัตถุดิบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตถ่านชีวภาพอีกด้วย ทั้งนี้ ผลที่คาดหวังจากโครงการนี้คือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีนัยสำคัญ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจหมุนเวียน

NRF ชู

โดย "ถ่านชีวภาพ" ที่ได้จากกระบวนการนี้สามารถนำไปใช้ทดแทนปุ๋ยเคมีในแปลงเกษตร ช่วยกักเก็บคาร์บอนในดินและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนการผลิตในภาคเกษตรกรรม นอกจากนี้การพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวยังสามารถขยายผลไปสู่การใช้งานในระดับชุมชนและเกษตรกรรายย่อยได้ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว

การสนับสนุนจาก NRF ในโครงการนี้ไม่เพียงแค่เป็นการลดปริมาณการเผาและหมอกควัน แต่ยังเป็นการส่งเสริมการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ที่มุ่งเน้นการใช้วัสดุที่มีอยู่แล้วอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ NRF มุ่งหวังว่าโครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนานวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ที่สามารถขยายผลไปสู่ภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ และเป็นต้นแบบสำหรับการพัฒนาในระดับนานาชาติต่อไป NRF เชื่อมั่นว่า การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาทางสิ่งแวดล้อม ไม่เพียงแต่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศ แต่ยังช่วยส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันของไทยในตลาดโลก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ประเทศคู่ค้าหลักอย่างสหภาพยุโรป (EU) ได้กำหนดมาตรการทางสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมากขึ้น การเป็นประเทศที่สามารถผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อการรักษาความสามารถในการแข่งขันและความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว