sustainability

ไทย เข้าร่วมประชุมรัฐมนตรี สิ่งแวดล้อม 5 ประเทศ จัดการหมอกควันข้ามแดน ปี 68

    "เฉลิมชัย" รมว. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ หัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม 5 ประเทศ ยกระดับการจัดการหมอกควันข้ามแดน ในอนุภูมิภาคแม่โขง ปี 68

 

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบหมายให้ นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ในการประชุมคณะกรรมการระดับรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม 5 ประเทศ เรื่อง มลพิษจากหมอกควันข้ามแดนในอนุภูมิภาคแม่โขง ครั้งที่ 13 (13th MSC Mekong)

ประชุมหมอกควันข้ามแดน

พร้อมด้วยกรมควบคุมมลพิษ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ กองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ เข้าประชุมร่วมกับ กัมพูชา  สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม สํานักงานเลขาธิการอาเซียน และผู้แทนจากศูนย์เชี่ยวชาญด้านอุตุนิยมวิทยาเฉพาะทางอาเซียน เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2567 ณ เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา

 

นางสาวปรีญาพร เปิดเผยว่า ศูนย์เชี่ยวชาญด้านอุตุนิยมวิทยาอาเซียน ได้รายงานจำนวนจุดความร้อนรวมในอนุภูมิภูมิภาคแม่โขง ปี 2567 ซึ่งลดลงจากปี 2566 ประมาณ 12.5%  และได้คาดการณ์ว่าสภาวะเป็นกลางและลานีญาในช่วงสั้น ๆ จะเกิดขึ้นในช่วงธันวาคม 2567-มีนาคม 2568 ส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนอยู่ในระดับปกติจนถึงมากกว่าปกติในช่วงเวลาดังกล่าว  อย่างไรก็ตาม ฤดูแล้งในช่วงกุมภาพันธ์ถึงเมษายน จะยังส่งผลให้เกิดปัญหาความแห้งแล้ง จึงต้องระวังปัญหาหมอกควันรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงดังกล่าว

ปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ

ในการพิจารณาการตั้งเป้าหมายลดจุดความร้อนในอนุภูมิภาคแม่โขงภายใต้แผนปฏิบัติการเชียงราย (Chiang Rai 2017 Plan of Action) ประเทศไทยได้เสนอให้ที่ประชุมตั้งเป้าหมายลดจุดความร้อนเพิ่มในปี 2569-2573 เพื่อให้สอดคล้องกับโรดแมปอาเซียนปลอดหมอกควันฉบับที่ 2

ซึ่งตั้งเป้าหมายอาเซียนปลอดหมอกควันภายในปี 2573 โดยที่ประชุมเห็นชอบร่วมกันในการขยายเป้าหมายการลดจุดความร้อนรายปี จนถึงปี 2573 และจะพิจารณาตัวเลขเป้าหมายรายปีเพื่อเป็นเป้าหมายร่วมกันในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันในอนุภูมิภาคแม่โขงให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในการประชุม14th MSC Mekong ที่จะจัดขึ้นใน สปป.ลาว ในปี 2568   

ประเทศไทยยังคงให้การสนับสนุนการดำเนินงานจัดการปัญหามลพิษทางอากาศกับประเทศสมาชิก และมุ่งมั่นที่จะยกระดับความร่วมมือในอนุภูมิภาคแม่โขงและประเทศเพื่อนบ้านเพื่อการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ โดยใช้แผนปฎิบัติการเชียงรายในระดับอนุภูมิภาคแม่โขง และแผนปฏิบัติการร่วม

เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนภายใต้ยุทธศาสตร์ฟ้าใส (2567 – 2573) สำหรับ ไทย-สปป.ลาว-เมียนมา เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในอนุภูมิภาคแม่โขง นางสาวปรีญาพร กล่าว