คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ
โดย ผศ.ดร.เจสสิกา เวชบรรยงรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,
ผศ.ดร.ศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,584 หน้า 5 วันที่ 18 - 20 มิถุนายน 2563
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ส่งผลกระทบให้แรงงานไทยประสบปัญหาการว่างงาน จากรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสที่ 1 ปี 2020 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ประเมินว่า ปีนี้อัตราการว่างงานจะอยู่ที่ร้อยละ 3-4 โดยมีผู้ว่างงานไม่เกิน 2 ล้านคน
แต่กลุ่มแรงงานที่น่าเป็นห่วง คือ แรงงานจบใหม่ประมาณ 5.2 แสนคน ที่จะเริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงานในช่วงวิกฤติโควิด-19 นี้ โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization) เรียกกลุ่มแรงงานนี้ว่า Lockdown Generation ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้ไม่เพียงแต่จะประสบปัญหาความยากลำบากในการหางานทำในช่วงนี้เท่านั้น แต่ยังได้รับผลกระทบต่อช่วงชีวิตการทำงานในระยะยาวอีกด้วย
ผลการศึกษาจากงานวิจัยหลายชิ้นในต่างประเทศ ที่มีการประเมินผลกระทบต่อแรงงานที่จบการศึกษาในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ พบว่า นอก จากผลกระทบระยะสั้นในเรื่องการหางานทำแล้ว การจบการศึกษาในช่วงวิกฤติยังส่งผล กระทบในระยะยาว ทั้งในเรื่องเส้นทางความก้าวหน้าในหน้าที่การงานและรายได้ในอนาคตอีกด้วย โดยแรงงานกลุ่มนี้ มีแนวโน้มที่จะทำงานไม่ตรงตามระดับการศึกษา เป็นการทำงานที่ตํ่ากว่าระดับการศึกษาที่จบมา และทำงานไม่ตรงตามสาขาที่เรียนจบมา (Fogg and Harrington, 2011) โดยเฉพาะแรงงานที่จบการศึกษาในสาขาที่ต้องทำงานในภาคเอกชน
เมื่อเทียบกับแรงงานที่จบในสาขาที่ทำงานในภาครัฐ เช่น ภาคการศึกษา ภาคบริการด้านสุขภาพ (Liu, Salvanes, and Sφrensen, 2016) นอกจากนั้น หากเทียบกับแรงงานที่จบการศึกษาในช่วงภาวะเศรษฐกิจที่ดี แรงงานที่จบการศึกษาในช่วงวิกฤติ มีแนวโน้มที่จะเริ่มต้นทำงานในบริษัทที่มีคุณภาพด้านการจ้างงานที่ตํ่า คือ เป็นบริษัทที่มีการให้ค่าจ้างที่ตํ่ากว่าค่าเฉลี่ยที่ควรจะเป็นการขาดโอกาสที่จะเติบโตในหน้าที่ การงาน ส่งผลเสียต่อรายได้ของแรงงานในอนาคต (Oreopoulos, von Wachter, and Heisz, 2012)
หากพิจารณากรณีของประเทศไทย แรงงานจบใหม่ช่วงวิกฤติโควิด-19 นี้ น่าจะไม่เพียงแต่ประสบปัญหาการหางานทำ แต่ปัญหาที่น่ากังวลมากกว่า คือ การทำงานที่ไม่ตรงตามระดับการศึกษาและสาขาที่เรียนมา ซึ่งส่งผลเสียอย่างมากในอนาคต
ทั้งนี้ จากงานวิจัยของผู้เขียน พบว่า ปัจจุบันตลาดแรงงานไทยประสบปัญหาทั้งภาวะการทำงานที่ไม่ตรงตามระดับการศึกษา (Vertical Mismatch) (Paweenawat and Vechbanyongratana, 2015) และไม่ตรงตามสาขาวิชา (Horizontal Mismatch) (Paweenawat and Vechban yongratana, 2019) ในระดับที่สูงอยู่แล้ว การที่แรงงานจบใหม่ในช่วงวิกฤตินี้ เข้าสู่ตลาดแรงงานในสภาวการณ์เช่นนี้ ย่อมทำให้ปัญหาความไม่สอดคล้องกันในตลาดแรงงาน (Mismatch in Labor Market) ที่มีอยู่เดิมทวีความรุนแรงเพิ่มสูงขึ้น
นอกจากนั้น แรงงานที่ทำงานไม่ตรงตามระดับการศึกษาและสาขาที่เรียนมา มีแนวโน้มที่จะไม่ได้รับการฝึกอบรมทั้งในระหว่างการทำงานและการพัฒนาทักษะที่สำคัญที่จะใช้ต่อยอดความก้าวหน้าในอาชีพในอนาคต ดังนั้น โจทย์สำคัญน่าจะอยู่ที่ว่า ในภาวะวิกฤติเช่นนี้ หากแรงงานจบใหม่จำเป็นต้องมีการทำงานไม่ตรงตามระดับการศึกษาและสาขาที่จบมา
ภาครัฐควรมีบทบาทอย่างไรที่จะช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหานี้ โดยมีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อเพิ่มโอกาสการจ้างงานและเสริมศักยภาพในการปรับเปลี่ยนงานไปยังงานที่ดีกว่า ตรงตามระดับการศึกษาและสาขาที่จบมากกว่า มีรายได้ที่สูงกว่า เมื่อภาวะเศรษฐกิจมีการปรับตัวดีขึ้น
หากพิจารณานโยบายของภาครัฐที่ผ่านมา พบว่า มีการเร่งแก้ไขปัญหาระยะสั้น โดยการส่งเสริมการจ้างงานแรงงานจบใหม่ ผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการบัณฑิตอาสา โครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย
อย่างไรก็ตาม เพื่อแก้ไข ปัญหาระยะยาว ภาครัฐควรส่งเสริมกระตุ้นให้แรงงานเข้ารับการฝึกอบรมทั้งอย่างที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ในทักษะที่ตลาดแรงงานน่าจะมีความต้องการเมื่อภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพในตัวแรงงานเองให้สามารถที่จะหางานที่ดีขึ้นได้
นอกจากนั้น ภาครัฐและสถาบันการศึกษามีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องร่วมกันหาแนวทางในการที่จะสร้างหลักสูตร เพื่อผลิต แรงงานที่มีคุณลักษณะที่ตรงกับความต้องการในตลาดแรงงานของประเทศ เนื่องจากวิกฤติโควิด-19 ได้มีการปรับเปลี่ยนวิถีทางการดำรงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ปรับเปลี่ยนสภาวะระบบเศรษฐกิจของประเทศ
มหาวิทยาลัยก็ย่อมต้องมีการปรับตัวเช่นเดียวกัน เพื่อเพิ่มโอกาสให้แรงงานจบใหม่สามารถมีการเริ่มต้นงานที่ดี เพื่อเพิ่มโอกาสความก้าวหน้าในอาชีพการงาน รายได้ของตัวแรงงานเองและเพื่อเป็นกำลังหลักสำคัญในการช่วยป้องกันภาวะเศรษฐกิจตกตํ่าในอนาคต
อ้างอิง
• Fogg, Neeta & Harrington, Paul. (2011) Rising mal-employment and the greatrecession: The growing disconnect between recent college graduates and the college labor market. Continuing Higher Education Review. 75: 51-65.
• Liu, Kai & Salvanes, Kjell G. & Sφrensen, Erik φ., (2016) Good skills in bad times: Cyclical skill mismatch and the long-term effects of graduating in a recession. European Economic Review, 84: 3-17.
• Oreopoulos, Philip & Wachter, Till & Heisz, Andrew. (2008). The Short-and Long-Term Career Effects of Graduating in a Recession: Hysteresis and Heterogeneity in the Market for College Graduates. American Journal: Applied Economics. 4. 10.3386/w12159
• Paweenawat, S.W. and Vechbanyongratana, J. (2015) “Wage Consequences of Rapid Tertiary Education Expansion in a Developing Economy: The Case of Thailand” The Developing Economies. 53 (3): 218–231
• Paweenawat, S.W. and Vechbanyongratana, J. (2019) “Private Returns to STEM Education and Implications for Middle-Income Trap Countries: Evidence from Thailand” Working Paper 2019