บทเรียนประชาธิปไตย
ที่เด็กควรเรียนรู้
ผู้ใหญ่ควรจำ
ประเทศไทยของเรา ได้ผ่านเส้นทางประชาธิปไตยมายาวนาน นับแต่ปี 2475-ปัจจุบัน ถึงวันนี้ก็ 88 ปีเข้าไปแล้ว การศึกษาทำความเข้าใจ และเก็บรับบทเรียนในอดีตที่ผ่านมาจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อการนี้ ก็ต้องยอมรับและเข้าใจเสียก่อนว่า นี่คือเส้นทางประชาธิปไตยวิถีไทย ย่อมมีลักษณะเฉพาะพิเศษที่ไม่เหมือนใคร ทุกอย่างคือความจริงของประเทศไทย ที่เป็นไปตามวิถีทางที่ไม่อาจหาสูตรสำเร็จใดๆ มากำกับหรือกำหนดให้เป็นไปตามหลักหรือแบบนิยมอย่างเช่น โลกตะวันตก บนเส้นทางประชาธิปไตยของเรานั้น มีบทเรียนมากมายให้เรียนรู้ และควรแก่การจดจำเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายเยี่ยงอดีตที่ผ่านมา
เมื่อปี 2475 ประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งใหญ่ โดยคณะราษฎร ที่นำโดย นายปรีดี พนมยงค์ กับพวก เพื่อการปฏิวัติสยาม ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองประเทศ จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่การปกครองที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตย ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยมีรัฐสภา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้น แม้จะสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศ ตามความต้องการของคณะราษฎร แต่ก็เกิดการต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันเองในหมู่คณะราษฎรในเวลาต่อมา โดยต่อเนื่องยาวนานมาถึง 25 ปี
จนถึงยุค จอมพล ป.พิบูลสงคราม ในปี 2500 อำนาจของฝ่ายคณะราษฎรจึงสิ้นสุดลง ด้วยการปฏิวัติของรัฐบาลทหารที่นำโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ บทสรุปและบทเรียนแบบรวบยอดที่สุดว่า ประเทศสยามขณะนั้นได้อะไรจากเหตุการณ์ พ.ศ.2475 ได้สะท้อนผ่านบทสัมภาษณ์ของ นายปรีดี พนมยงค์ ผู้นำสำคัญของการปฏิวัติครั้งนั้นเองว่า "เมื่อข้าพเจ้ามีอำนาจ ข้าพเจ้าก็ไม่มีประสบการณ์ แต่ครั้นเมื่อข้าพเจ้ามีประสบการณ์ ข้าพเจ้าก็ไม่มีอำนาจ" บ่งบอกให้เห็นว่าการคิดก่อการครั้งนั้น มาจากความคิดของคนหนุ่มที่ขาดประสบการณ์
การปฏิวัติ 2475 จึงไม่ประสบผลสำเร็จ ทั้งๆ ที่ท่านคิดการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองเมื่อวัย 32 ปีแล้ว ก็เกิดผลอย่างที่ทราบ จึงเป็นบทเรียนให้เด็กชั้นประถม มัธยม หรือในรั้วมหาวิทยาลัย ควรได้เรียนรู้ว่า หนูๆ ทั้งหลายยังขาดความรู้และประสบการณ์ที่ห่างไกลอย่างยิ่ง ต่อการเรียกร้องและการเปลี่ยนแปลงใดๆ ทางการเมือง
ต่อมาถึงยุค จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจปกครองประเทศ ต่อเนื่องยาวนานจนถึงยุค จอมพลถนอม กิติขจร ครองอำนาจปกครองประเทศ กินเวลาถึง 16 ปี จึงเกิดการลุกขึ้นสู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญและการปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่มีนักเรียน นิสิต นักศึกษา เป็นหัวหอกและแกนนำสำคัญ โดยมีผู้ใหญ่และนักการเมือง นักวิชาการ และกลุ่มทุนใหม่ อยู่เบื้องหลังสนับสนุน จนเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ประชาชนสามารถขับไล่รัฐบาลทหารลงได้
แต่หลังเหตุการณ์เมื่อมีรัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้ง มีการปกครองประชาธิปไตย แบบรัฐสภา ได้รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง แต่กลุ่มผู้เสวยอำนาจก็คือ นักการเมือง นักเลือกตั้ง กลุ่มทุนใหม่ เจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นที่ร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมือง เข้ามามีอำนาจแทนที่รัฐบาลทหาร ขณะที่ขบวนการนักศึกษาที่เคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย มีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เข้าแทรกซึมและครอบงำการนำ ในที่สุด นักเรียน นิสิต นักศึกษา ก็ถูกอำนาจทหารและฝ่ายอนุรักษ์นิยม ปราบปรามอย่างรุนแรงในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จนต้องหนีเข้าป่าจับปืนร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ เกิดสงครามการเมืองในประเทศ มีการสู้รบฆ่าฟันกันเองระหว่างคนไทย ร่วม20 ปี สร้างความสูญเสียแก่ชีวิตเลือดเนื้อของคนไทยร่วมชาติจำนวนมาก
กว่าสงครามจะสงบลงในยุค พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นี่คือบทเรียนที่เด็กๆ ควรเรียนรู้ และผู้ใหญ่ควรจดจำ ทุกครั้งที่มีการเรียกร้องต่อสู้ ประชาชน ประเทศได้อะไรจากการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง คุ้มค่ากับชีวิตเลือดเนื้อของประชาชน ที่เสียสละหรือไม่ ใครกันแน่ที่ได้ประโยชน์ หากไทยต้องฆ่าไทยอีกครั้ง
มาถึงยุคสมัยที่ผ่านไปเมื่อไม่นาน ไม่ว่าเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 ถึงการชุมนุมใหญ่ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในปี 2547-2551, การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง หรือ นปช.ในปี 2549-2553, และการชุมนุมของ กปปส.ในปี 2556-2557 ล้วนแต่ให้บทเรียนอันล้ำค่าแก่สังคมไทย สิ่งที่ประชาชนเรียกร้องมักไม่ได้ สิ่งที่ได้คือสิ่งที่ไม่ได้เรียกร้อง การสูญเสียชีวิตเลือดเนื้อของประชาชน การเผาบ้านเผาเมืองทำลายทรัพย์สินทางราชการ และเอกชน กับผลตอบแทนที่ประเทศและสังคมไทยได้รับ ล้วนตรงกันข้าม
สิ่งที่ประชาชนเรียกร้องต้องการการปฏิรูปประเทศ สิ่งที่ได้ก็คือรัฐบาลระบอบทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ที่โคตรโกงและโกงกันทั้งโคตร จนนำมาซึ่งรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปัจจุบัน และรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 แม้จะไม่ถูกใจใครต่อใคร แต่ก็เป็นไปตามประชาธิปไตยวิถีไทย เมื่อถามว่าทำไมจึงเป็นเช่นนี้ คงตอบได้ว่า สังคมไทยมีลักษณะเฉพาะ พฤติกรรมของนักการเมืองและวัฒนธรรมประชาธิปไตย และเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองที่ผ่านมา ทำให้รัฐธรรมนูญไทยวิวัฒนาการมาอย่างที่เห็นและเป็นอยู่นั่นเอง
ประเทศไทยของเรา มีบทเรียนและปัญหาแตกต่างจากสังคมตะวันตก มีวัฒนธรรม ทัศนะคติและวิธีคิดที่ไม่เหมือนประเทศอื่น การสร้างชาติ สร้างรูปแบบการปกครองประเทศ สร้างประชาธิปไตย หรือการบัญัติกฎหมายรัฐธรรมนูญให้เป็นหลักของบ้านเมือง ด้วยการยอมรับของคนส่วนใหญ่เพื่อให้บ้านเมืองมีความสงบสุขและเจริญก้าวหน้า ด้วยความเข้มแข็ง มั่นคงและยั่งยืนนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่าย
ถ้าหากเราไม่ยอมเรียนรู้อดีต ศึกษาบทเรียนในปัจจุบันอย่างจริงจัง เพื่อกำหนดอนาคตของบ้านเมือง เด็กๆ ที่คิดและสนใจการเมือง หรือความเป็นไปของประเทศ จำต้องเรียนรู้และเข้าใจอดีตของประเทศ เคารพบทเรียนและประสบการณ์ของผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ก็ควรเก็บรับบทเรียนจดจำอดีต ถ่ายทอดบทเรียนให้คนรุ่นหลังได้คิดและเข้าใจ แล้วก้าวไปด้วยกันในการสร้างสรรค์ประเทศ มิใช่รักเด็กแต่หลอกเด็ก ใช้เด็กเป็นเครื่องมือทางการเมือง
มีแต่พลังทางการเมืองที่สร้างสรรค์ ด้วยความสามัคคีของคนทุกวัยเท่านั้น ประชาธิปไตยหรือรูปแบบการปกครองที่ดีที่ทุกคนใฝ่ฝัน และเห็นชอบร่วมกันว่าคือ ทางเลือกทางรอดของชาติ จึงจะปรากฎเป็นจริงได้