สำหรับท่านที่อยากเปิดร้านขายอะไหล่และซ่อมรถจักรยานยนต์หรือรถมอเตอร์ไซค์ด้วยในตัวนั้น อาจมีข้อสงสัยว่า นอกจากต้องดำเนินการจดทะเบียนพาณิชย์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแล้ว ยังต้องดำเนินการอื่นใดอีกหรือไม่? อุทาหรณ์จากคดีปกครองวันนี้มีคำตอบครับ ...
มูลเหตุของคดีนี้เกิดจาก ... ผู้ฟ้องคดีประกอบกิจการขายอะไหล่รถจักรยานยนต์ โดยได้จดทะเบียนพาณิชย์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ต่อมาเจ้าพนักงานสาธารณสุข ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล สำนักงานเขต ก. ได้เข้าตรวจสอบสถานประกอบกิจการของผู้ฟ้องคดี พบว่ ามิได้จำหน่ายเพียงอะไหล่รถเท่านั้น แต่ยังมีการซ่อมรถจักรยานยนต์ด้วย ซึ่งเข้าข่ายเป็นการประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ. 2561
จึงมีแบบตรวจแนะนำของเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 (แบบ นส. 1) แจ้งให้หยุดประกอบกิจการจนกว่าจะได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น และให้ดำเนินการยื่นคำขอรับใบอนุญาต แต่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ดำเนินการแก้ไข หรือ ปฏิบัติตามคำแนะนำแต่อย่างใด และยังคงดำเนินกิจการดังกล่าวอย่างต่อเนื่องตลอดมา
หลังจากนั้น ผู้อำนวยการเขต ก. ในฐานะผู้รับมอบอำนาจให้ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่น จึงได้มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีหยุดประกอบกิจการทันที ผู้ฟ้องคดียื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว แต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์
ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าตนประกอบกิจการจำหน่ายอะไหล่รถจักรยานยนต์ เช่น ยาง กระจกข้าง เติมลม ไฟรถ นอตรถ เปลี่ยนยาง และมีการติดตั้งอะไหล่ให้แก่ลูกค้าที่ไม่สามารถติดตั้งเองได้ โดยไม่ได้ประกอบกิจการรับจ้างซ่อมรถจักรยานยนต์เป็นหลัก เนื่องจากไม่มีช่างเครื่องยนต์ประจำ เว้นแต่เป็นการซ่อมเฉพาะรถจักรยานยนต์ของตนเอง และญาติพี่น้อง หรือลูกค้าบางกรณีเท่านั้น จึงไม่อาจถือว่าผู้ฟ้องคดีประกอบกิจการซ่อมเครื่องยนต์ อันเป็นการประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ จึงยื่นฟ้องผู้อำนวยการเขต ก. และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุขฯ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ) ต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งให้หยุดดำเนินกิจการทันทีและคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ดังกล่าว
คดีมีประเด็นปัญหาว่า คำสั่งของผู้อำนวยการเขต ก. ที่ให้ผู้ฟ้องคดีหยุดดำเนินกิจการทันที และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุขฯ ที่ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ?
โดยที่มาตรา 45 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุขฯ กำหนดให้ในกรณีที่ปรากฏว่า ผู้ดำเนินกิจการใด ๆ ตามที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ปฏิบัติไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น หรือ ประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ หรือคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ที่กำหนดไว้เกี่ยวกับการดำเนินกิจการนั้น ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้ผู้ดำเนินกิจการนั้นแก้ไข หรือ ปรับปรุงให้ถูกต้องได้ และถ้าผู้ดำเนินกิจการไม่แก้ไข
หรือ ถ้าการดำเนินกิจการนั้นจะก่อให้เกิด หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าจะเกิดอันตรายอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพของประชาชน เจ้าพนักงานท้องถิ่น จะสั่งให้ผู้นั้นหยุดดำเนินกิจการนั้นไว้ทันทีเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะเป็นที่พอใจแก่เจ้าพนักงานท้องถิ่นว่าปราศจากอันตรายแล้วก็ได้
ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า การประกอบกิจการของผู้ฟ้องคดีมีลักษณะเป็นกิจการเกี่ยวกับยานยนต์ เครื่องจักร หรือ เครื่องกล ในลักษณะที่เป็นการซ่อมเครื่องยนต์ หรืออุปกรณ์ที่เป็นส่วนประกอบของยานยนต์ การประกอบธุรกิจเกี่ยวกับยานยนต์ที่มีการซ่อม หรือปรับปรุงยานยนต์ และการจำหน่าย ซ่อม ปะ เชื่อมยางยานยนต์
ถือเป็นการประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตามข้อ 3 ของประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ. 2558 ประกอบกับข้อ 7 7. (3) (4) และ (7) ของข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ. 2561 ที่ต้องมีการควบคุมภายในท้องถิ่นและต้องได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นเสียก่อน จึงจะดำเนินกิจการได้
ผู้ฟ้องคดีจึงต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการตามมาตรา 33 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุขฯ ประกอบกับข้อ 7 ข้อ 10 และข้อ 13 ของข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพฯ
เมื่อเจ้าพนักงานสาธารณสุขซึ่งได้รับแต่งตั้งจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้เข้าตรวจสอบสถานประกอบกิจการของผู้ฟ้องคดี พบว่ามีการใช้อาคารดังกล่าวเป็นสถานประกอบกิจการ ในลักษณะเข้าข่ายเป็นการประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร
จึงมีแบบตรวจแนะนำของเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุขฯ (แบบ นส. 1) แจ้งผู้ฟ้องคดีให้หยุดประกอบกิจการ จนกว่าจะได้รับอนุญาต และให้ดำเนินการยื่นคำขอรับใบอนุญาต แต่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ดำเนินการแต่อย่างใด และยังคงประกอบกิจการดังกล่าวอย่างต่อเนื่องตลอดมา
ดังนั้น ผู้อำนวยการเขต ก. ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นย่อมมีอำนาจ ตามมาตรา 45 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุขฯ สั่งให้ผู้ฟ้องคดีหยุดดำเนินกิจการดังกล่าวทันทีได้
คำสั่งที่ให้ผู้ฟ้องคดีหยุดดำเนินกิจการซ่อมรถจักรยานยนต์ทันที จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว และคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี จึงชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน
ศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้ยกฟ้อง (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 750/2567)
สรุปได้ว่า การประกอบกิจการจำหน่ายอะไหล่ และมีการซ่อมรถจักรยานยนต์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นร้านเล็ก หรือ ร้านใหญ่ ซ่อมรถให้แก่ลูกค้าทั่วไปหรือแค่ญาติมิตร ย่อมถือเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามข้อบัญญัติท้องถิ่นข้างต้น ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนที่อยู่ในบริเวณข้างเคียง
จึงเป็นกิจการที่ต้องมีการกำกับดูแล โดยนอกจากผู้ที่จะประกอบกิจการดังกล่าวจะต้องยื่นจดทะเบียนพาณิชย์แล้ว ยังต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ก่อนดำเนินกิจการด้วย เมื่อมีการฝ่าฝืนประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้แจ้งให้หยุดประกอบกิจการและแนะนำให้ดำเนินการแก้ไขโดยขออนุญาตให้ถูกต้องแล้ว แต่ผู้ประกอบกิจการยังคงเพิกเฉย
เช่นนี้ พระราชบัญญัติการสาธารณสุขฯ ให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานท้องถิ่นในการออกคำสั่งให้ผู้ประกอบกิจการหยุดดำเนินกิจการนั้นทันทีอันเป็นมาตรการที่เข้มข้นขึ้นได้ ดังเช่นคดีนี้ ซึ่งหากยังฝ่าฝืนอีกอาจต้องรับโทษทางกฎหมายด้วยนะครับ
(ปรึกษาการฟ้องคดีปกครองได้ที่ “สายด่วนศาลปกครอง 1355”)