ปัจจุบันกล้องวงจรปิดหรือกล้อง CCTV (Closed circuit television) ถือเป็นอุปกรณ์สำคัญอย่างหนึ่งในชีวิตประจำวันสำหรับหลายท่านและแทบทุกหน่วยงาน เนื่องจากกล้องวงจรปิดถูกใช้งานเพื่อบันทึกภาพหรือพฤติการณ์ต่าง ๆ ในพื้นที่ในการเฝ้าระวังความปลอดภัยสำหรับบุคคลและทรัพย์สิน รวมถึงในการตรวจสอบสถานที่และการปฏิบัติงานของบุคลากร หรือใช้สอดส่องดูแลพื้นที่ที่ต้องการความปลอดภัยเป็นพิเศษหรือพื้นที่สาธารณะ
อีกทั้งสามารถใช้เป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดี เมื่อมีการกระทำความผิดเกิดขึ้นได้อีกด้วย เนื่องจากภาพและเสียงที่ได้จากการบันทึกของกล้องวงจรปิดนั้น ถือเป็นพยานหลักฐานที่รับฟังได้ในชั้นการแสวงหาข้อเท็จจริงของเจ้าพนักงานและของศาล ซึ่งมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ หากได้มีการจัดเก็บ บันทึก วิเคราะห์ และได้มาตามกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมายครับ
คดีปกครอง ...ที่หยิบยกมาเป็นอุทาหรณ์ในฉบับนี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการทำสัญญาติดตั้งกล้องวงจรปิดของส่วนราชการ และมีประเด็นโต้แย้งกันว่าหากผู้รับจ้างได้ทำการติดตั้งกล้องวงจรปิดเสร็จเรียบร้อย และใช้งานได้ตามสัญญาแล้ว ผู้ว่าจ้างจะยังไม่ชำระค่าจ้างโดยอ้างความผิดพลาดภายในหน่วยงานเกี่ยวกับการอนุมัติจ้าง เนื่องจากชนิดของกล้องวงจรปิดไม่เป็นไปตามระเบียบที่ทางราชการกำหนดไว้ ได้หรือไม่?
เหตุของคดีเกิดจากการที่เทศบาลได้ทำสัญญาว่าจ้างให้บริษัท M จำกัด ติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) แบบโดมและกล้องประจำที่ในวงเงินค่าจ้าง 990,000 บาท เมื่อบริษัท M จำกัด ติดตั้งกล้องวงจรปิดแล้วเสร็จและคณะกรรมการตรวจการจ้างของเทศบาลได้ตรวจรับมอบงานเรียบร้อยแล้ว แต่สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดแจ้งว่า ชนิดกล้องวงจรปิดที่เทศบาลดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างและติดตั้งนั้น ไม่ตรงกับคุณลักษณะที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จัดสรรวงเงินงบประมาณให้ เทศบาลจึงไม่สามารถเบิกจ่ายค่าจ้างให้แก่บริษัท M จำกัด ได้
เทศบาลจึงมีหนังสือแจ้งบริษัท M จำกัด ว่ายังไม่ได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงชนิดของกล้องวงจรปิด ซึ่งบริษัท M จำกัด เห็นว่าตนได้ติดตั้งกล้องแล้วเสร็จพร้อมส่งมอบงาน และเทศบาลก็ได้ใช้ประโยชน์จากระบบกล้องวงจรปิดอย่างต่อเนื่อง การที่เทศบาลไม่ชำระเงินให้ตามสัญญาจ้างเป็นเหตุให้ตนได้รับความเสียหาย จึงนำคดีมาฟ้องเพื่อขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาให้เทศบาล (ผู้ถูกฟ้องคดี) ชำระเงินค่าจ้างตามสัญญาจ้างเป็นเงิน 990,000 บาท
คดีมีประเด็นน่าสนใจว่า ... เทศบาลต้องชำระเงินค่าจ้างติดตั้งกล้องวงจรปิดให้แก่บริษัท M จำกัด หรือไม่?
ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ข้อ 4 ของสัญญาจ้างฉบับดังกล่าวกำหนดให้เทศบาลจ่ายเงินค่าจ้างเพียงงวดเดียวเป็นเงิน 990,000 บาท เมื่อบริษัท M จำกัด ได้ดำเนินการติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) แบบโดมและกล้องประจำที่แล้วเสร็จ ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จ 45 วันนับจากวันลงนามในสัญญาจ้าง
เมื่อปรากฏว่าภายหลังตกลงทำสัญญาจ้างที่พิพาท บริษัท M จำกัด ได้เข้าทำงานติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) แบบโดมและกล้องประจำที่ตามคุณลักษณะทางเทคนิคที่เทศบาลกำหนดแนบท้ายสัญญาจนแล้วเสร็จ โดยมีหนังสือส่งมอบงานและเบิกเงินค่าจ้าง และคณะกรรมการตรวจการจ้างของเทศบาลได้ตรวจรับงานเรียบร้อยแล้ว กรณีจึงถือว่าบริษัท M จำกัด ได้ปฏิบัติหน้าที่อันสอดคล้องกับรายละเอียดแนบท้ายสัญญาโดยถูกต้องครบถ้วนแล้ว เทศบาลจึงต้องจ่ายเงินค่าจ้างตามสัญญาจ้างข้อ 4 ให้แก่บริษัท M จำกัด
แม้เทศบาลจะอ้างว่าได้รับการจัดสรรงบประมาณจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นให้จัดซื้อจัดจ้างกล้องวงจรปิดชนิด TVL และนายกเทศมนตรีในขณะนั้นได้เปลี่ยนแปลงชนิดของกล้องเป็นชนิด IP CAMERA ซึ่งทำให้สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดไม่อนุมัติการเบิกจ่ายค่าติดตั้งกล้องวงจรปิดให้ก็ตาม แต่เมื่อบริษัท M จำกัด ได้ทำงานตามสัญญาจ้างโดยติดตั้งกล้องวงจรปิดชนิด IP CAMERA ตามที่กำหนดในรายละเอียดแนบท้ายประกาศสอบราคาโดยถูกต้องครบถ้วน และไม่ปรากฏว่าบริษัท M จำกัด ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
แม้นายกเทศมนตรีในขณะนั้น จะเปลี่ยนแปลงชนิดกล้องวงจรปิดโดยไม่มีอำนาจ ทำให้ไม่สามารถเบิกจ่ายเงินค่าจ้างได้ก็ตาม แต่ถือเป็นการดำเนินการภายในของฝ่ายปกครอง หากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเห็นว่าเทศบาลหรือเจ้าหน้าที่ของเทศบาลปฏิบัติไม่ถูกต้องตามขั้นตอนหรือวิธีการอย่างไร ก็เป็นเรื่องภายในส่วนราชการที่จะต้องไปว่ากล่าวกันเอง
เทศบาลจึงไม่อาจอ้างเหตุความผิดพลาดของตน หรือเจ้าหน้าที่ของตนที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องตามขั้นตอน และเหตุที่ต้องรอการอนุมัติเปลี่ยนแปลงชนิดของกล้องวงจรปิดจากอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นขึ้นมากล่าวอ้าง เพื่อยังไม่ต้องชำระเงินค่าจ้างให้แก่บริษัท M จำกัด ได้ ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้เทศบาลชำระเงินตามสัญญาจ้างติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) ให้แก่บริษัท M จำกัด เป็นเงิน 990,000 บาท (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 182/2563)
คดีดังกล่าวถือเป็นบรรทัดฐานว่า ...เมื่อเอกชนคู่สัญญาได้ปฏิบัติตามสัญญาจนแล้วเสร็จ โดยส่งมอบงานและคณะกรรมการตรวจการจ้างได้ตรวจรับงานเรียบร้อย รวมทั้งมีการใช้ประโยชน์แล้ว กรณีจึงถือว่าคู่สัญญาได้ปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาโดยถูกต้องครบถ้วนแล้ว หน่วยงานผู้ว่าจ้างจึงต้องจ่ายเงินค่าจ้างตามสัญญาจ้าง โดยไม่อาจอ้างหรือยกเอาความผิดพลาด หรือความบกพร่องของการดำเนินงานภายในของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานโดยไม่ถูกต้องตามระเบียบของทางราชการขึ้นมากล่าวอ้างเพื่อยังไม่ต้องชำระค่าจ้างได้นะครับ !
(ปรึกษาคดีปกครองได้ที่ สายด่วนศาลปกครอง 1355 และสืบค้นเรื่องอื่น ๆ ได้จาก www.admincourt.go.th เมนูวิชาการ เมนูย่อยอุทาหรณ์จากคดีปกครอง)