การใช้รถใช้ถนนทุกวันนี้ ... เราจะพบเจอกับผู้ที่ขับขี่รถด้วยความประมาทปราศจากระมัดระวังอยู่บ่อยครั้ง ทำ ให้เกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนกับผู้ที่ใช้ทางสัญจรร่วมกันให้เห็นอยู่บ่อยๆ พอได้ยินเสียงโครมครามทีไร !! ก็พาใจหาย ซึ่งแม้ว่าเราจะขับขี่รถด้วยความระมัดระวังแล้วก็ตาม แต่ก็อาจเกิดอุบัติเหตุได้หากผู้ร่วมทางขับรถด้วยความประมาท
คดีที่นำมาเล่าในวันนี้... เป็นเรื่องเจ้าหน้าที่ซึ่งมีหน้าที่ของรัฐขับรถยนต์ของทางราชการ เพื่อเก็บขยะมูลฝอย ได้ขับรถด้วยความประมาทไปเฉี่ยวชนกับรถของชาวบ้านจนมีผู้เสียชีวิต 2 ราย เมื่อคนขับรถหรือผู้ที่ก่อให้เกิดความเสียหาย หรือที่เรียกว่าผู้กระทำละเมิดนั้นเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และได้กระทำละเมิดในขณะปฏิบัติหน้าที่ หน่วยงานของรัฐในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ ย่อมต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายแทนเจ้าหน้าที่ของตน
โดยผู้เสียหายสามารถฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ได้ แต่ฟ้องตัวเจ้าหน้าที่ไม่ได้ ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 หรือจะเลือกใช้วิธียื่นคำขอต่อหน่วยงานของรัฐให้พิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ก็ได้
กรณีหากผู้เสียหายเลือกใช้สิทธิยื่นฟ้องหน่วยงานของรัฐให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ก็มีคำถามเกิดขึ้นว่า จะต้องไปยื่นฟ้องที่ศาลไหน? ศาลปกครองหรือศาลยุติธรรม?
หลายคนอาจเข้าใจว่า หากผู้กระทำละเมิดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และความเสียหายเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองทุกกรณี จึงยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ดังเช่นอุทาหรณ์คดีปกครองเรื่องนี้...
มาดูคำตอบกันว่า... กรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐขับรถราชการไปปฏิบัติงานแล้วเกิดอุบัติเหตุ จะอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครองหรือไม่ และมีหลักในการพิจารณาเรื่องเขตอำนาจศาลอย่างไร
คดีนี้เหตุเกิดจาก... นายอ้วนเป็นพนักงานของเทศบาลแห่งหนึ่ง ซึ่งไม่มีใบอนุญาตขับรถยนต์ได้ขับรถบรรทุกเฉพาะกิจ (ขยะแห้ง) ในช่องทางเดินรถที่สองจากช่องทางซ้ายสุด และขับรถเลี้ยวซ้ายเพื่อจะเข้าสำนักงานเทศบาลกะทันหันโดยไม่ให้สัญญาณไฟเลี้ยว เป็นเหตุให้เฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ที่มีนายโชค เป็นผู้ขับขี่โดยมีนางสาวชมภรรยานั่งซ้อนท้ายมาด้วยโดยเสียชีวิตทั้งคู่!
ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นมารดาของผู้เสียชีวิตเห็นว่า นายอ้วนได้ขับรถด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จึงยื่นฟ้องเทศบาลในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตน
คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาว่า เทศบาลมีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นราชการส่วนท้องถิ่น มีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 ในการรักษาความสะอาดของถนน หรือทางเดินและที่สาธารณะ รวมทั้งการกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลในเขตเทศบาลอันเป็นการให้บริการสาธารณะ
เทศบาลจึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 และเป็นหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ เจ้าหน้าที่ของเทศบาลถือเป็นเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยความเสียหายเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ ในขณะปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายเทศบาลในการรักษาความสะอาดในเขตพื้นที่เทศบาล เทศบาลจึงต้องรับผิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้งสองจากอุบัติเหตุที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว
เมื่อพิจารณาอำนาจของศาลปกครอง ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ แล้ว จะเห็นได้ว่ามุ่งหมายให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดที่เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น ละเมิดจากการออกกฎ หรือจากการออกคำสั่งทางปกครอง หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร ซึ่งไม่รวมถึงการกระทำละเมิดที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ธรรมดาทั่วไปของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
เมื่อคดีนี้เป็นการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ขับรถบรรทุกเก็บขนมูลฝอย อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ธรรมดาทั่วไป มิได้เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ ศาลปกครองจึงไม่อาจรับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาได้ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ตามมาตรา 194 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งผู้ฟ้องคดีทั้งสองสามารถยื่นฟ้องคดีใหม่ต่อศาลยุติธรรมได้ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ คผ. 14/2563)
สรุปได้ว่า การกระทำละเมิดที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ทุกกรณี แต่กรณีใดจะฟ้องเรียกค่าเสียหายที่ศาลปกครองหรือศาลยุติธรรมนั้น ต้องพิจารณาถึงลักษณะของการปฏิบัติหน้าที่ว่าเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือไม่ เช่น การออกคำสั่งทางปกครอง (คำสั่งลงโทษทางวินัย การออกโฉนดที่ดิน) ถือเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย ซึ่งจะมีการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินการไว้ อันเป็นกรณีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง
ส่วนการขับรถนั้นมีลักษณะเป็นการปฏิบัติหน้าที่ธรรมดาทั่วไป เช่นเดียวกับการรักษาคนไข้ของแพทย์ ซึ่งไม่ได้ใช้อำนาจตามกฎหมาย หากมีการกระทำละเมิด ผู้เสียหายต้องใช้สิทธิฟ้องคดีเรียกร้องค่าเสียหายต่อศาลยุติธรรมนั่นเองครับ!
(ปรึกษาคดีปกครองได้ที่สายด่วนศาลปกครอง 1355 และสืบค้นเรื่องอื่นๆ ได้จาก www.admincourt.go.th เมนูวิชาการ เมนูย่อยอุทาหรณ์จากคดีปกครอง)