HYDROPNEUMATIC ระบบที่ช่วยชีวิต ประธานาธิบดี เดอร์ โกลล์ 

15 พ.ค. 2564 | 04:15 น.

ไฮดรอฟนิวเมติค ระบบที่ช่วยชีวิตประธานาธิบดี เดอร์ โกลล์ HYDROPNEUMATIC : HOW’s THAT froggy CITROEN DS SAFES CHARLES de GAULLE’s LIFE.

 

 

จอมพลชาร์ล เดอ โกลล์ ประธานาธิบดีฝรั่งเศสผู้เกรียงไกรลือนามกระทั่งรัฐบาลได้นำชื่อของท่านมาตั้งเปนชื่อสนามบินนานาชาติแห่งกรุงปารีส_ครองตำแหน่งอยู่นานทั้งเปนนายพลด้วยเปนประธานาธิบดีด้วยทำนองรัฐบุรุษ

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 1962 หลังจากประกาศปลดปล่อยอัลจีเรียออกจากการเปนอาณานิคมโพ้นทะเลของจักรวรรดิฝรั่งเศส นำมาซึ่งความไม่พึงใจของเหล่าฝรั่งเศสชาตินิยม  มือสังหารคณะหนึ่งดักรออยู่ระหว่างทางออกจากทำเนียบประธานาธิบดีณ ชองป์ เอลิเซ่ บนถนน เดอ ลา ลิเปเรสิออง ที่มุ่งหน้าไปยังสนามบินออร์ลี่

เมื่อคณะของ ฯพณฯ มีท่านผู้หญิงอยู่ด้วย มาถึงจุดสังหาร ด้วยความเร็วทางเรียบประมาณ 100 กม. ต่อ ชั่วโมง มือปืนได้กราดยิงใส่รถยนต์ประจำตำแหน่งซีตรอง รุ่นดีเอส สีดำ เปนจำนวนกว่า 140 นัด กลุ่มกระสุนส่วนใหญ่สาดเข้าทางด้านหลัง เจาะยางรถยนต์แบนหมดทั้งสี่ล้อ สังหารองครักษ์ของท่านในรถจักรยานยนต์ไป 2 นาย กระจกหลังถูกกระสุนแตกละเอียด และมีนัดสำคัญถากเส้นผมท่านประธานาธิบดีไปนิดเดียว 

 

ขอบคุณภาพจำลองสถานการณ์ จาก เฟรด ซินเนอเมน

HYDROPNEUMATIC ระบบที่ช่วยชีวิต ประธานาธิบดี เดอร์ โกลล์ 

กะจะถล่มซ้ำ!

ทว่าผู้ก่อเหตุร้ายต้องผิดหวัง เนื่องจากกระสุนที่เจาะยางแบนราบหมดนั้นไม่สามารถสยบยานพาหนะสุดยอดเทคโนโลยีล้ำยุค อย่างเจ้าซีตรองหน้ากบได้ ช่วงล่างระบบไฮโดรฟนิวเมติคของมัน ทำหน้าที่รักษาระดับสมดุลตัวรถ ประกอบ แรงตะกุยของระบบขับเคลื่อนล้อหน้าพา ฯพณฯ และท่านผู้หญิงด่วนออกจากนาทีฉุกเฉิน ลอยฉิวไปบนผิวถนนอย่างไม่มีอะไรเกิดขึ้นจนถึงที่หมาย ณ ปลายรันเวย์สนามบิน You Can Compress The Gas, But You Can Not Compress The Fluid

เปนหลักการเพชรยอดมงกุฏ ของการคิดค้นระบบช่วงล่างที่ให้ความรู้สึก หนึบเเน่นแต่นุ่มนวล ด้วยการอนุญาตให้ก๊าซ และ น้ำมันเหลว ทำหน้าที่ตามธรรมชาติดั้งเดิมของมันร่วมกันไปในระบบปิด ดังรูป

ส่งผลให้ผู้อยู่ในตัวรถรู้สึกว่าตัวเองนั้น ‘Divorce from the road surface’ หย่าขาดจากพื้นผิวถนน (อันขรุขระกระโดกดน)

 

หกสิบปีมาแล้วเจ้ายอดพาหนะนี้ทำอะไรได้บ้าง

- มันวิ่งสามล้อได้ โดยทรงตัวสมดุลไม่มีเอียง

- มันไม่เคยเตี้ยลง ไม่ว่าจะมีน้ำหนักการบรรทุกเท่าไหร่

- มันยกตัวเองหนีน้ำได้

- ไฟหน้าของมันหมุนตามพวงมาลัย จะได้เห็นทางในที่มืดก่อนเดินหน้าลุย

- พวงมาลัยมีก้านเดียวและไม่ต้องประคอง กลับเข้าที่ทางตัวเองเสมอ

- เบรคด้วยระบบไฮโดรฟนิวเมติก และเบรคตรงที่เพลาขับไม้ได้จับจานล้อ

- ไม่ใช้คลัทช์เหยียบแต่เข้าเกียร์ได้เลยตามจังหวะความเร็ว

- เวลาจอดมันจะหมอบลงติดพื้นดินเหมือนเสือ

HYDROPNEUMATIC ระบบที่ช่วยชีวิต ประธานาธิบดี เดอร์ โกลล์ 

 

ท่านประธานาธิบดีรู้สึกขอบคุณ (จริงๆน่าจะแปลว่าเปนหนี้บุญหนี้คุณ) ระบบนวตกรรมไฮโดรฟนิวเมติคของซีตรองเปนอย่างยิ่ง และซาบซึ้งกับความสามารถของนักประดิษฐ์ชาวฝรั่งเศสมาก รถยนต์ของรัฐแบบว่า รถตำรวจ รถหลวงสเตทลิโมซีนให้ซีตรองรุ่นพิเศษไปทำมา 

ยอดขายของซีตรองหน้ากบ ดีเอส พุ่งกระฉูดระเบิดเถิดเทิงจนกระทั่งผู้บริโภคพบว่าคุณวิเศษอันซับซ้อนของระบบไฮโดร_ฟนิวเมติคนี้นั้นแลกมาด้วยต้นทุนการดูแลรักษาที่แพงพอๆกับตัวรถ! รถจะติดเครื่องไม่ได้ถ้าระบบนี้รั่ว และถึงว่ารถจะติดเครื่องได้มันก็จะออกตัวไม่ได้!

รถตำรวจหลายคันวิ่งไม่ทันกวดรถคนร้ายที่ขับรถง่ายๆอย่างซิมคาร์ หรือ เรโนลด์ เพราะต้องยกตัวรถด้วยระบบซับซ้อนขึ้นเสียก่อนเวลาหลายวินาที จนวันเเห่งความเลวร้ายมาถึง พอดีพอเสียซีตรองที่กำลังถังแตกจะต้องถูกเทคโอเวอร์จากทุนของฝ่ายเฟียตจากอิตาลี 

เดอ โกลล์ยื่นมือเข้าช่วยเหลือออกรัฐบัญญัติบางประการไม่ให้กิจการเปี่ยมศักดิ์ศรีของชาวฝรั่งเศสต้องเสื่อมเกียรติกลุ่มเฟียต (จริงๆก็เฟอรรารี่, อัลฟ่า, มาเซราติ) ต้องถอยหลังกลับบ้านไป

สุดสายแปด_แฮปปี้แลนด์ก็สะพานพุทธ สุดสายป่านเข้า เปอร์โยต์ ก็ต้องมาร่วมค่ายกับซีตรอง ในฐานที่เปนค่ายฝรั่งเศสเหมือนๆกัน ต้องร่วมกันตัดส่วนเกิน เสริมกำลังลดต้นทุน

 

จากวันนั้นถึงวันนี้

ซีตรองยังคงฝืนผลิตรถยนต์ให้มีระบบไฮโดร_ฟนิวเมติกออกเรื่อยมาจนกระทั่งทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเปนรุ่น CX, BX, Xantia, C5, จนมาถึงรถธง C6 แต่ตลาดค่อยๆแคบเข้าๆเปนตลาดเฉพาะของคนรู้ใจเท่านั้นเอง  ในเมืองไทยเราอาจพบแฟนพันธุ์แท้ผู้มีรถนิยมวิไล อย่างประสาทศัลยแพทย์ วิศวกรคอมพิวเตอร์ วาณิชธนากร สถาปนิกสำคัญ ใช้รถยนต์หน้ากบนี้ในชีวิตประจำวันบนท้องถนนโดยไม่ยี่หระหรือกังวลกับความจุกจิก ซับซ้อนของระบบอัจฉริยะ

ย้อนกลับมาดูเมืองไทยในปีเก่าๆ เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ลงมือปฏิวัติ รัฐประหารรัฐบาลพิบูลสงคราม ในเวลาที่ถนนหนทางต่างจังหวัดยังหลังเต่าขระขรุไม่มีดี จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในเวลาค่ำเล็ดลอดออกจากกรุงเทพด้วยความเร็วสูงสุดบนซีตรอง ดีเอส ในตำนาน ฝ่าและผ่านถนนขรุขระบางปิ้ง_สุขุมวิท เลาะชายฝั่งไปโผล่ที่ชายแดนเกาะกงในเวลาชั่วข้ามคืน จากคำให้การ ของ พ.ต.อ. ชุมพล โลหะชาละ นายตำรวจติดตาม (ยศในขณะนั้น) 

จอมพล ป.พิบูลสงคราม

 

วันนั้นท่านจอมพลแปลกผู้มีใบหูต่ำกว่าตำแหน่งลูกนัยน์ตาเปนผู้ขับรถยนต์คันที่ว่านี้เอง ท่านจอมพลสั่งเสียให้เอาปืนกลที่อยู่ท้ายรถส่งคืนหลวง และท่านก็หายแผล็วข้ามฝั่งไปนอนในค่ายทหารเกาะกง ทำเวลาได้เฉียบขาด ลอดเส้นยาแดงผ่าแปด เพราะกว่าชุดจับกุมจะขโยกเขยกด้วยพาหนะอเมริกันเทอะทะผ่านทางทุรกันดารมาได้ก็_สายไปเสียแล้ว

คงเปนอีกหนึ่งจอมพลในโลกที่ ขอบคารวะให้ระบบไฮโดร_ฟนิวแมติค สัญชาติฝรั่งเศส ช่างเปนรถในนิยมของชนระดับ จอมพลเเท้เทียว.

 

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 หน้า 23 ฉบับที่ 3,679 วันที่ 16 - 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2564