พัฒนาการนโยบายภาษีที่สำคัญในครึ่งปีหลัง 2021

04 ส.ค. 2564 | 04:10 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ส.ค. 2564 | 11:10 น.

พัฒนาการนโยบายภาษีที่สำคัญในครึ่งปีหลัง : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย อธิภัทร มุทิตาเจริญ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,702 หน้า 5 วันที่ 5 - 7 สิงหาคม 2564

ครึ่งหลังของปี 2021 นี้ มี 2 พัฒนาการสำคัญเกี่ยวกับภาษีระหว่างประเทศเกิดขึ้นคือ 1) ภาษี e-Service ที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือนกันยายนนี้ และ 2) การบรรลุข้อตกลงร่วมกันของ 130 ประเทศทั่วโลก ในเรื่องการเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติ

 

ในบทความนี้ ผมชวนท่านผู้อ่านคุยถึงสาระสำคัญของทั้งสองพัฒนาการนี้ครับ

 

ภาษี e-Service เป็นการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ให้บริการดิจิทัลระหว่างประเทศ ในชีวิตประจำวันเรามักจะต้องใช้บริการนี้หลายประเภท เช่น การซื้อ App จาก IOS store หรือ Play store และการจ่ายค่าสมาชิก Netflix เป็นต้น 

 

ตามหลักแล้ว ธุรกรรมเหล่านี้ถือเป็นการบริโภคสินค้าและบริการซึ่งเกิดขึ้นในประเทศและเรามีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ที่ผ่านมากฎหมายเราไม่ได้กำหนดให้ผู้ขายซึ่งอยู่นอกประเทศไทย ต้องเป็นผู้นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้รัฐ ส่งผลให้บางบริษัทเทคโนโลยีใช้ช่องโหว่ตรงนี้ในการวางแผนภาษี โดยให้ลูกค้าจ่ายค่าบริการไปที่บริษัทในเครือของตนที่ต่างประเทศ (ลองสังเกตชื่อบริษัทที่เราจ่ายเงินให้บน Invoice กันนะครับ)  

 

การทำธุรกรรมในลักษณะนี้ทำให้บริษัทเทคโนโลยีสามารถหลบเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม และอาจมองว่าเป็นการเอาเปรียบบริษัทคู่แข่งในประเทศที่มีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ยกตัวอย่างเช่น หาก Workpoint จะขายบริการ Subscription service ก็จะต้องเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ในขณะที่ Netflix ไม่ต้องเก็บ ส่งผลให้ Workpoint จะเสียเปรียบด้านราคาต่อ Netflix 

 

เหตุผลสำคัญหนึ่งของภาษี e-Service จึงเป็นการสร้างความเป็นเสมอภาคในการแข่งขันนี้ (Leveling the playing field) ให้ธุรกิจไทย โดยตั้งแต่เดือนกันยายนนี้เป็นต้นไป บริษัทต่างประเทศที่ขายบริการให้คนไทยจะต้องไปขึ้นทะเบียนกับกรมสรรพากร และนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขายบริการของตนให้แก่รัฐบาลหลายประเทศ เช่นเกาหลีใต้ สิงคโปร์ และ มาเลเซียเลือกใช้แนวปฏิบัตินี้เช่นกัน 

 

พัฒนาการนโยบายภาษีที่สำคัญในครึ่งปีหลัง 2021

 

ทั้งนี้มีความเป็นไปได้สูงที่เราจะเห็นการผลักภาระภาษี e-Service ส่วนหนึ่งมาที่ผู้บริโภคไทย อุปสงค์ของบริการดิจิทัลหลายประเภทถือว่ามีความยืด หยุ่นค่อนข้างตํ่า นั่นคือผู้บริโภคมีความจำเป็นต้องซื้อบริการนั้นและมีทางเลือกอื่นที่ทดแทนกันได้ไม่มากนัก 

 

ความยืดหยุ่นของอุปสงค์ในลักษณะนี้ทำให้เรามีโอกาสสูงที่จะเห็นบริษัทเทคโนโลยีผลักภาระภาษี ผ่านการขึ้นราคาสินค้าในเดือนกันยายนเป็นต้นไป ตัวอย่างจากต่างประเทศ เช่น เม็กซิโก ที่เก็บภาษีแบบเดียวกันในปี 2020 ชี้ว่า Netflix เลือกที่จะผลักภาระภาษี 100% มาที่ กลุ่มลูกค้าที่มีความ ยืดหยุ่นตํ่า(กลุ่มที่ซื้อแพคเกจ Premium) และผลักภาระภาษีเพียง 50% มาที่กลุ่มลูกค้าที่มีความอ่อนไหวต่อราคาสูง (กลุ่มที่ซื้อแพคเกจราคาถูก) 

 

อย่างไรก็ตาม ภาษี e-Service นี้ จะไม่ได้จัดการโดยตรงกับความกังวลสำคัญของรัฐบาลหลายประเทศ นั่นคือ การโยกย้ายกำไรเพื่อหลบเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาติ ภาษี e-Service จะเป็นการเก็บภาษีจากการบริโภค ซึ่งตามหลักการแล้ว แต่ละรัฐบาลมีสิทธิที่จะเก็บภาษีจากการบริโภคที่เกิดขึ้นในดินแดนของตน 

 

ประเด็นที่เป็นข้อพิพาทค่อนข้างมากคือ การเก็บภาษีจากกำไร (ภาษีเงินได้นิติบุคคล) ของบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งมักจะวางแผนภาษีโดยหลีกเลี่ยงการมีออฟฟิศ หรือ ตึก รวมไปถึงการจดทะเบียนบริษัทเพื่อดำเนินธุรกิจหลักในประเทศที่ตนเข้าไปขายบริการ 

 

ข้อตกลงของ 130 ประเทศในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมนี้ เป็นการตอบความกังวลนี้ครับ โดยข้อตกลงนี้มี 2 ส่วนสำคัญ 

 

ข้อตกลงแรก จะเป็นการสร้างกลไกจัดสรรภาษีเงินได้นิติบุคคล กำไรโดยอิงกับสถานที่ของการขายสินค้าและบริการแทนที่จะอิงกับการมีสถานประกอบการถาวรเพียงอย่างเดียว ซึ่งค่อนข้างล้าสมัยในโลกปัจจุบัน 

 

ข้อตกลงที่สอง คือ การกำหนดอัตราภาษีเงินได้ขั้นตํ่าในระดับอย่างน้อย 15% ที่กลุ่มบริษัทต่างๆ ทั่วโลกจะต้องจ่ายโดยจะให้สิทธิการเก็บภาษีนี้แก่รัฐบาลของประเทศที่แต่ละกลุ่มบริษัทนี้จด Headquarter อยู่ ข้อตกลงนี้จะช่วยลดแรงกดดันการแข่งขันภาษีระหว่างประเทศรวมไปถึงปรากฎการณ์ ‘Race to the bottom’ ของอัตราภาษีที่รัฐบาลหลายประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาเซียนต้องเผชิญ 

 

โดยสรุปข้อตกลงนี้ ถือเป็นการเริ่มต้นของการหาทางออกร่วมกันในประเด็นที่หลายประเทศมีความขัดแย้งด้านผลประโยชน์มาเป็นระยะเวลายาวนาน 

 

อย่างไรก็ตาม หนทางยังอีกยาวไกล รัฐบาลหลายประเทศต้องเสนอข้อตกลงนี้ต่อสภาของตน สหภาพยุโรปต้องใช้มติแบบเอกฉันท์จากทุก ประเทศ รวมถึงข้อสรุปเกี่ยวกับประเด็นรายละเอียดบางประการเช่น การให้สิทธิประโยชน์ภาษีผ่าน BOI เป็นต้น 

 

ผมจะขอมาแลกเปลี่ยนเรื่องเหล่านี้เพิ่มเติมในโอกาสหน้าครับ