“จีน”ส่ง“เครื่องบินขับไล่ล่องหน J-20”สุดล้ำหน้าร่วมซ้อมรบกับรัสเซีย

12 ส.ค. 2564 | 06:33 น.

“จีน-รัสเซีย”ซ้อมรบร่วม จีนจัด “เครื่องบินขับไล่ล่องหน J-20” ซึ่งมีความล้ำหน้าที่สุดร่วมฝึก แสดงให้ถึงความไว้วางใจซึ่งกันและกันระหว่าง 2 ชาติมาถึงระดับที่สูงมาก  

วันนี้(12 ส.ค.64) พล.ต.ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศ และผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ได้ประมวลและนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการซ้อมรบร่วม Zapad/Interaction-2021 ระหว่างจีน-รัสเซีย (ตั้งแต่วันที่ 9 - 13 ส.ค.64) ณ ฐานฝึกยุทธวิธี Qingtongxia Combined Arms Tactical ในเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุย ที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน 

                                  “จีน”ส่ง“เครื่องบินขับไล่ล่องหน J-20”สุดล้ำหน้าร่วมซ้อมรบกับรัสเซีย

โดยจีนนำเครื่องบินรบทั้งหมด 6 ลำเข้าร่วมในพิธีเปิด ประกอบด้วยเครื่องบินขับไล่ล่องหน J-20, เครื่องบินขับไล่ J-11, เครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ J-16, เครื่องบินทิ้งระเบิด JH-7A, เครื่องบินทิ้งระเบิด H-6K และเครื่องบินขนส่งขนาดใหญ่ Y-20 ของกองทัพอากาศ PLA ซึ่งผู้เชี่ยวชาญได้ตั้งข้อสังเกตว่า เครื่องบินขับไล่ล่องหน J-20 ที่ไม่เคยเข้าร่วมการฝึกร่วมกับประเทศอื่นเลยจนกระทั่งการฝึกในครั้งนี้                                                                                                                         
 

การปรากฏตัวของ J-20 ในการฝึกซ้อมรบครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าความร่วมมือทางทหาร รวมทั้งการแลกเปลี่ยน และความไว้วางใจซึ่งกันและกันระหว่างจีนและรัสเซียได้มาถึงระดับที่สูงมาก เนื่องจาก J-20 เป็นหนึ่งในฮาร์ดแวร์ที่ล้ำหน้าที่สุดของจีน  

 

ทั้งนี้ การซ้อมรบร่วมกันถือเป็นอีกรูปแบบหนึ่งเพื่อแสดงความไว้วางใจซึ่งกันและกันของกองทัพทั้งสองประเทศ และเป็นความร่วมมือในระดับสูงคือ กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (PLA) โดยจะแบ่งปันอาวุธและอุปกรณ์การต่อสู้หลักบางส่วนกับกองทัพรัสเซีย ซึ่งจะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจวิธีการสู้รบของกันและกันได้ดีขึ้น ทั้งยัง สร้างความเข้าใจในการปฏิบัติการทางทหารร่วม รวมทั้งภารกิจในการต่อต้านการก่อการร้ายในอนาคตร่วมกัน 
                        “จีน”ส่ง“เครื่องบินขับไล่ล่องหน J-20”สุดล้ำหน้าร่วมซ้อมรบกับรัสเซีย

อนึ่ง ในการฝึกซ้อมรบครั้งนี้ได้สะท้อนถึงแนวความคิดและยุทธวิธีใหม่ ๆ รวมถึงการลงจอดทางอากาศและการยึดพื้นที่ของฝ่ายศัตรูในเชิงลึก และการจู่โจมจากฝูงโดรน 

 

ตลอดจนการทดสอบการลาดตระเวนร่วม การเตือนล่วงหน้า การโจมตีด้วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์และความสามารถในการโจมตี ฯลฯ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ทั้งสองประเทศกำลังเผชิญกับความท้าทายจากสถานการณ์ความมั่นคงที่เปลี่ยนแปลงไปในเอเชียกลาง ภายหลังการถอนทหารของสหรัฐฯ ออกจากอัฟกานิสถาน รวมทั้งการเผชิญหน้ากับสหรัฐฯ และพันธมิตร       

 

(ข้อมูลจากเว็บไซต์ http://en.people.cn/n3/2021/0810/c90000-9881988.html )