ACAP เผยอัยการสั่งไม่ฟ้องอดีตผู้บริหารและพวก 7 ราย คดีทุจริต-ปล่อยกู้ GSC

06 ม.ค. 2568 | 12:23 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ม.ค. 2568 | 12:23 น.

ACAP ชี้แจงอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้บริหาร 7 ราย ในคดีทุจริตปล่อยกู้ GSC รวมถึงผู้บริหาร 2 รายในคดีทุจริตการก่อสร้างกำแพง โดยอัยการพิจารณาแล้วว่า ไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟ้องกล่าวหา

บริษัท เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ACAP เปิดเผยผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ได้มีการร้องทุกข์ กล่าวโทษ ดำเนินคดีกับ นางสาวณิชารดี สุขเจริญไกรศรี ผู้ต้องหาที่ 1, นางสาวสุดาภรณ์ กลิ่นแก้ว ผู้ต้องหาที่ 2, นางสาวสิริณี ฉิมบรรเทิง ผู้ต้องหาที่ 3, นางสาวอุดมพร เอี่ยมจ้อย ผู้ต้องหาที่ 4, นางสาวณิชาภา ทองตัด ผู้ต้องหาที่ 5, นายธัญพิสิษฐ์ ทรัพย์รอด ผู้ต้องหาที่ 6, นางสาวเมตตา โพธิ์กิ่ง ผู้ต้องหาที่ 7 เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 ในข้อหาร่วมกันกระทำความผิดหน้าที่โดยทุจริต แสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่น และทำให้บริษัทเสียหายหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์

ทำให้ GSC ได้รับความเสียหาย หรือทำให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์ โดยร่วมกันตัดสินใจ อนุมัติ หรือสั่งการให้ GSC ปล่อยเงินกู้ยืมให้แก่บริษัท เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ACAP รวม 7 รายการ มูลค่าสะสมรวมสูงสุดอยู่ที่ 180 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 73 ของสินทรัพย์รวมของ GSC) ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ

โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นก่อน และไม่เป็นไปตามนโยบายการลงทุน ทำให้ GSC มีความเสี่ยงในการลงทุนและเสีย ประโยชน์จากดอกเบี้ยที่ควรได้รับ รวมทั้งทำให้ ACAP ได้ประโยชน์จากส่วนต่างดอกเบี้ยของเงินกู้ยืมที่ลดลง อีกทั้งเป็นการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของรายการที่เกี่ยวโยงกันฯ

โดยเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 กองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ได้มีหนังสือ ที่ ตช 0026.935/3265 เรื่อง แจ้งคำสั่งไม่ฟ้อง ตามหนังสือของพนักงานอัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร ๒ หนังสือที่ อส 0015.2/1620 ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2565 โดยอัยการพิเศษฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 2 มีคำวินิจฉัยโดยสรุปดังนี้

จากพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หน้าที่ดังกล่าวของ ผู้ต้องหา ที่ 1 ถึงผู้ต้องหาที่ 4 มิได้ทำให้เกิดความเสียหายแก่ บริษัท โกลบอล เซอร์วิส เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) GSC เนื่องจากบริษัทฯ ได้รับการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยจาก บริษัท เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ACAP ตามอัตราที่เหมาะสมและได้รับชำระภายในระยะเวลาที่กำหนดครบถ้วนเรียบร้อยแล้ว เพราะขณะนั้น GSC ได้ฝากเงินจำนวน ดังกล่าวแบบเผื่อเรียกไว้กับสถาบันการเงินได้รับดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 0.75 เท่านั้น

แต่การให้ ACAP กู้ยืมได้รับดอกเบี้ยร้อยละ 2 ซึ่งสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินจ่ายให้และสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศกำหนดไว้ แม้ผู้กล่าวหา (ก.ล.ต) จะให้ การทำนองว่าผู้ต้องหาที่ 1 ถึงผู้ต้องหาที่ 4 ได้ร่วมกันสั่งการให้ GSC คิดดอกเบี้ยจากการให้ ACAP กู้ยืมทั้ง 7 ครั้งต่อปี ซึ่งต่ำกว่าที่ควร เนื่องจากหากคิดดอกเบี้ยตามเครดิตเรทติ้งของ ACAP จะต้องคิดดอกเบี้ยขั้นต่ำที่ร้อยละ 4-4.5 ต่อปี โดยอ้างอิงจากรายงานความเห็นของที่ปรึกษาทางการเงินอิสระก็ตาม

แต่การกล่าวอ้างข้อเท็จจริงโดยอาศัยอ้างอิงความเห็นของที่ปรึกษาทางการเงินอิสระเพียงลอยๆ เท่านั้น โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าในขณะนั้นมีสถาบันการเงินใดหรือบริษัทอื่นใด เสนอให้ดอกเบี้ยเงินฝากหรือเสนอขอกู้เงินจาก GSC โดยให้ดอกเบี้ยสูงกว่าร้อยละ 2 ต่อปี ซึ่งก่อนที่ GSC จะให้ ACAP กู้เงินนั้น GSC มีรายได้จากการฝากเงินที่ให้กู้ดังกล่าวจากธนาคารเพียงร้อยละ 0.75 ต่อปีเท่านั้น

ซึ่งการให้ ACAP กู้ดังกล่าว GSC ได้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี ซึ่งมากกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารถึงร้อยละ 1.25 ต่อปี ประกอบกับการที่ GSC ให้ ACAP กู้ยืมนั้นเป็นการลงทุนในตั๋วเงินระยะสั้นแบบเผื่อเรียก ที่มีลักษณะเช่นเดียวกับการฝากเงินแบบเผื่อเรียกไว้กับสถาบันการเงินทั่วไป แต่ได้รับดอกเบี้ยที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงินทั่วไป อีกทั้งในขณะนั้น ACAP เป็นผู้ถือหุ้นใน GSC ถึงร้อยละ 64 จึงน่าเชื่อว่าจะไม่ทำให้ GSC ที่ ACAP ถือหุ้นอยู่เสียหาย

และเมื่อพิจารณาตามสำเนาตั๋วสัญญาใช้เงินที่ปรากฏในสำนวนการสอบสวน ที่ ACAP เคยให้ GSC กู้ยืม เงิน ปรากฏว่า ACAP เคยคิดดอกเบี้ยจาก GSC ในอัตราร้อยละ 1 ต่อปีเท่านั้น ประกอบกับจากการตรวจสอบรายการเคลื่อนไหวทางบัญชีก็ไม่ปรากฏว่า นางสาวณิชารดี สุขเจริญไกรศรี ผู้ต้องหาที่ 1, นางสาวสุดาภรณ์ กลิ่นแก้ว ผู้ต้องหาที่ 2, นางสาวสิริณี ฉิมบรรเทิง ผู้ต้องหาที่ 3, นางสาวอุดมพร เอี่ยมจ้อย ผู้ต้องหาที่ 4 ได้รับ ผลประโยชน์อื่นใดจากการอนุมัติให้กับ ACAP กู้ยืมเงินทั้ง 7 รายการดังกล่าว

ทั้ง GSC ไม่ได้รับความเสียหายแต่ กลับได้รับผลประโยชน์เป็นดอกเบี้ยจากการให้ ACAP กู้ยืมเงินจำนวน 7 รายการดังกล่าว จำนวน 2,826,027.40 บาท ซึ่งกรณีเป็นเรื่องปกติทางการค้าในการบริหารเงินสภาพคล่องส่วนเกินให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับ GSC และไม่ปรากฏว่า ACAP ผิดนัดชำระหนี้แต่อย่างใด ทั้งไม่ปรากฏว่าในการกู้เงินดังกล่าว ACAP ได้รับประโยชน์อื่นใดเกินไปกว่าความเป็นปกติธรรมดาทางการค้าของพันธ์มิตรร่วมค้าที่เคยพึ่งพาอาศัยกันกู้ยืมเงินซึ่งกันและกัน อันจะเห็นได้จากกรณีที่ก่อนหน้านั้น ACAP เคยให้ GSC กู้ยืมเงินจำนวน หลายครั้งโดยคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อปี

ซึ่งแม้คณะกรรมการของ GSC จะเคยมีมติกำหนดไว้ว่าให้บริษัทฯ สามารถนำเงินสภาพคล่องส่วนเกินไปลงทุนในกองทุนรวมความเสี่ยงต่ำระดับ 1 เท่านั้น แต่ ACAP มีระดับความเสี่ยงสูงกว่าระดับ 1 เกินกว่าที่คณะกรรมการบริษัทฯ กำหนดไว้ก็ตาม แต่กรณีปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในที่ประชุมของคณะกรรมการตรวจสอบ และคณะกรรมการของ GSC เพื่อรับรองงบการเงินไตรมาส 1 ประจำปี 2562 เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2562 ก็ได้มีการแจ้งให้กรรมการทุกคนที่เข้าร่วมประชุมให้ได้รับทราบว่า มีการนำเงินสภาพคล่องส่วนเกินของบริษัทฯ ไปลงทุนในตั๋วสัญญาใช้เงินแบบเผื่อเรียกอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี กับทาง ACAP เพื่อเป็นการบริหารสภาพคล่องระยะสั้นในระหว่างที่กำลังศึกษาข้อมูลการลงทุนเพื่อพัฒนาระบบ IT ซึ่งกรรมการทุกคนที่เข้าร่วมประชุมก็ได้ให้ การรับรองงบการเงินโดยมิได้มีการโต้แย้งใดๆ

ดังนั้นพฤติการณ์ นางสาวณิชารดี สุขเจริญไกรศรี ผู้ต้องหาที่ 1, นางสาวสุดาภรณ์ กลิ่นแก้ว ผู้ต้องหาที่ 2, นางสาวสิริณี ฉิมบรรเทิง ผู้ต้องหาที่ 3, นางสาวอุดมพร เอี่ยมจ้อย ผู้ต้องหาที่4 จึงยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบจนเป็นเหตุให้บริษัทได้รับความเสียหายหรือ ทำให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์จากการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบโดยทุจริตอันเป็นองค์ประกอบของความผิด ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 89/7, มาตรา 89/12, มาตรา 281/2, วรรคหนึ่ง, วรรคสอง, มาตรา 307, มาตรา 311 ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

จึงสั่งไม่ฟ้อง นางสาวณิชารดี สุขเจริญไกรศรี ผู้ต้องหาที่ 1, นางสาวสุดาภรณ์ กลิ่นแก้ว ผู้ต้องหาที่ 2, นางสาวสิริณี ฉิมบรรเทิง ผู้ต้องหาที่ 3, นางสาวอุดมพร เอี่ยมจ้อย ผู้ต้องหาที่ 4 ฐานร่วมกันกระทำความผิดหน้าที่โดยทุจริตแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่น และทำให้บริษัทเสียหาย หรือทำให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ และร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยขาดความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต ทำให้บริษัทเสียหายหรือทำให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับ ประโยชน์ ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 49/7, มาตรา 49/12, มาตรา 281/2 วรรคหนึ่ง, วรรคสอง, มาตรา 302, มาตรา 311 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 43

และสั่งไม่ฟ้อง นางสาวณิชาภา ทองตัด ผู้ต้องหาที่ 5, นายธัญพิสิษฐ์ ทรัพย์รอด ผู้ต้องหาที่ 6, นางสาวเมตตา โพธิ์กิ่ง ผู้ต้องหาที่ 7 ฐานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยขาดความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต ทำให้บริษัทเสียหายหรือทำให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 49/7, มาตรา 89/12, มาตรา 281/1 วรรคหนึ่ง ประมวล กฎหมายอาญามาตรา 43

ข้อ 2 เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2565 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้มีการร้องทุกข์ กล่าวโทษ ดำเนินคดีกับ นางสาวณิชารดี สุขเจริญไกรศรี (ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่ง กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร) และ นางสาวพิมพ์วลัญช์ สุวัตถิกุล (ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งกรรมการและกรรมการบริหาร) กรณีเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทจดทะเบียน กระทำผิดต่อหน้าที่ แสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่น จนเป็นเหตุให้ ACAP ได้รับความเสียหายและบันทึกบัญชีไม่ถูกต้องหรือไม่ตรงกับความเป็นจริง

โดยได้กระทำความผิดพร้อมพวกอีก 4 ราย การกระทำของอดีตกรรมการและผู้บริหาร ACAP และพวกรวม 5 ราย เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 307 มาตรา 311 มาตรา 312 มาตรา 313 และมาตรา 315 แห่ง พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ประกอบมาตรา 43 และมาตรา 46 แห่ง ประมวลกฎหมายอาญา

โดยเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2567 กองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิด เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ได้มีหนังสือ ที่ ตช 0026.935/3012 เรื่อง แจ้งคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง ตามหนังสือของพนักงานอัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจฯ 1 หนังสือที่ อส 0015.1/1341 ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 โดยอัยการพิเศษฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 1 มีคำวินิจฉัยโดยสรุปดังนี้

คดีในส่วนของผู้ต้องหาที่ 1 นางสาวณิชารดี สุขเจริญไกรศรี และ นางสาวพิมพ์วลัญช์ สุวัตถิกุล ผู้ต้องหาที่ 2 พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ ACAP ดำเนินการรื้อถอนกำแพงกันดินเก่าและขนย้ายดิน และก่อสร้างกำแพงกั้นดินใหม่เพื่อป้องกันมิให้ดิน โคลนไหลลงไปสร้างความเสียหายให้แก่ชาวบ้านซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงที่ดินของ ACAP อันเป็นจุดเกิดเหตุในคดีนี้ โดยมีผู้ต้องหาที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ดำเนินการของ ACAP นั้น เป็นไปตามขั้นตอนและระเบียบบังคับของ ACAP โดยมีการว่าจ้างให้ผู้ต้องหาที่ 3 เป็นผู้ก่อสร้าง ซึ่งในการว่าจ้างดังกล่าวก็มีการเปรียบเทียบราคาก่อสร้าง

โดยผู้ต้องหาที่ 3 เป็นผู้กำหนดราคาที่ต่ำกว่า และในการก่อสร้างดังกล่าวยังได้ว่าจ้างให้ ผู้ต้องหาที่ 5 เป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้างอีกด้วย ซึ่งเป็นพฤติการณ์ปกติของการดำเนินการก่อสร้างในลักษณะดังกล่าว เพียงแต่ผู้ต้องหาที่ 1 และที่ 2 มิได้ใช้ความระมัดระวังในการกำกับดูแลการก่อสร้างอย่างใกล้ชิด จนทำให้ไม่สามารถทราบได้ว่ามีการก่อสร้างเป็นไปตามที่ตกลงตามสัญญาว่าจ้างหรือไม่

และเมื่อทราบว่ามิได้มีการก่อสร้างตามสัญญา ก็ได้ยกเลิกสัญญาและเรียกเงินคืนจากผู้ต้องหาที่ 3 จนครบถ้วนข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ปรากฏตามทางการสอบสวน และที่ได้จากการสอบสวนเพิ่มเติมยังไม่เพียงพอจะรับฟังได้ว่า ผู้ต้องหาที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินงานของ ACAP ได้ร่วมกันกระทำผิด หน้าที่โดยทุจริตเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่น

จนเป็นเหตุให้บริษัทได้รับความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน คดีมีพยานหลักฐานไม่พอฟ้องผู้ต้องหาที่ 1 และที่ 2 ตามข้อกล่าวหา จึงมีคำสั่งไม่ฟ้อง นางสาวณิชารดี หรือ สุกัญญา สุขเจริญไกรศรี ผู้ต้องหาที่ 1 และนางสาวพิมพ์วลัญช์ สุวัตถิกุล ผู้ต้องหาที่ 2 ในข้อหา เป็นบุคคลซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินการของบริษัทร่วมกันกระทำผิดหน้าที่โดยทุจริตหรือแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้ โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่นจนเป็นเหตุให้บริษัทได้รับความเสียหาย ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 307 มาตรา 311, มาตรา 312, มาตรา 313 และมาตรา 315 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83