ในแต่ละประเทศจะเรียกชื่อแตกต่างกันออกไป ที่คนอินเดียเรียกคือ “Kalmegh (คัลเมค)” เป็นชื่อตามภาษาฮินดี (Hindi) อินเดียสามารถผลิต “ผลผลิต แห้ง 500 ถึง 600 กิโลกรัมต่อไร่” ใช้รักษาหลายโรคมากมายทั้ง ดีซ่านความดันโลหิตสูง การติดเชื้อในลำคอ โรคบิด มะเร็ง พิษต่อตับ ไอ หนาว ปวดศีรษะ อาการบวม นํ้า อาการปวด การอักเสบ ปวดกล้ามเนื้อ โรคข้ออักเสบ โรคไขข้อโรคกล้ามเนื้ออักเสบ เส้นโลหิตตีบ และภาวะซึมเศร้า เป็นต้น
ส่วนจีนเรียก “Chuan Xin Lian (ชวนซินเหลียน)” แปลว่า “ดอกบัวแทงหัวใจ” ตามแพทย์แผนจีน เน้นการรักษาสมดุลและความเป็นหนึ่งเดียวของร่างกาย หรือ yin-yang หรือ มืด-สว่าง ขาว-ดำ จีนใช้รักษาไข้หวัดใหญ่โรคบิดติดเชื้อทางเดินหายใจและมาลาเรีย (จีนปลูกมากที่เมือง Qingyuan ในกว่างโจว ประมาณ 2 พันไร่) มาเลเซียเรียก“Hempedu Bumi” อินโดนีเซียเรียก “Sambiloto” หรือ Sambiroto ญี่ปุ่นเรียก senshinren และเกาหลีใต้เรียก ch’onsimyon. ทั้งมาเลเซียและอินโดนีเซียใช้การแพทย์แบบ Unani
ฟ้าทะลายโจรมีคุณสมบัติหลัก ๆ 3 ด้าน ต้านการอักเสบ ต้านไวรัส และต้านอนุมูลอิสระ เพราะมีสารสำคัญอยู่ 4 ตัวคือ ดีอ๊อกซี่แอนโดรกราโฟไลด์, แอดโดรกราโฟไลด์, นีโอแอดโดรกราโฟไลด์, และดีอ๊อกซี่ไดดีไฮโดรแอดโดร กราโฟไลด์ แต่ตัวที่สำคัญคือ แอนโดรกราโฟไลด์ เป็นสารสำคัญหลักในการออกฤทธิ์ที่พบในสมุนไพรฟ้าทะลายโจร “ส่วนใหญ่พบในใบทำให้มีรสขม หรือ kalmeghin” ส่วนในรากมีสารชื่อว่า “Flavonoids” ที่ต่อต้านอนุมูลอิสระ เสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกาย
ในอุตสาหกรรมยา อินเดียได้กำหนด Kalmeghin ไม่ตํ่ากว่า 2.8% ของนํ้าหนักแห้ง อินเดียใช้สาร kalmeghin อยู่ระหว่าง 1.38 to 3.12 % ของนํ้าหนักแห้ง ใช้ระยะเวลาที่เหมาะสมปลูกอยู่ระหว่าง 120 วัน ถึง 135 วัน เพราะเป็นช่วงที่ให้ผลผลิตในแห้งสูงสุด 800 กิโลกรัมต่อไร่ และให้ค่าสาร Andrographolide Content มากที่สุด 2.4-2.6%
ปี 2013 ตลาดฟ้าทะลายโจรแปรรูปของโลก มีมูลค่า 4,000 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 7,000 ล้านบาทในปี 2020 อัตราการขยายตัวปีละ 10% ตลาดจีนมีมูลค่า 1,200 ล้านบาท (30%) อินเดีย 800 ล้านบาท (สัดส่วน 20%) ตลาดด้วย สหรัฐอเมริกา เยอรมัน และอาเซียน
ขณะที่มูลค่าฟ้าทะลายโจรของไทย แบ่งเป็นฟ้าทะลายโจรแห้ง (ระดับเกษตรกร) มูลค่าปี 2564 อยู่ที่ 25 ล้านบาท และมูลค่าการแปรรูปอยู่ที่ 70-100 ล้านบาท(ระดับผู้ประกอบการ) ผลผลิตฟ้าทะลายโจรสดทั้งประเทศอยู่ที่ 5 หมื่นตันสด หรือ 8 พันตันแห้ง(6 กก.สดต่อ 1 กก.แห้ง) ปัจจุบันเกษตรกรฟ้าทะลายโจรส่วนใหญ่ทำเกษตรแบบพันธสัญญากับโรงพยาบาลขายอยู่ที่ กก.ละ 250 บาทต่อ กก. (ก่อนโควิด 180 บาทต่อกก.) ตลาดนอกระบบพันธสัญญามีการซื้อขายกิโลละมากกว่าพันบาท ใน 1 ปี ปลูกได้ 3 รอบ ๆ ละ 3 เดือน (รอบสุดท้ายจะไม่ขายนำไปทำเมล็ดพันธุ์ต่อ)
กรณีเกษตรกรสระแก้วปลูก 1 ไร่ รอบที่ 1 ได้ 1.6 ตันต่อไร่ รอบที่ 2 ได้ 800 กก.ต่อไร่ (39 ครัวเรือน 65 ไร่ เฉลี่ยครัวเรือนละ 2 ไร่) รวมทั้งปี 2.4 ตันต่อไร่ รายได้เฉลี่ยต่อปีเท่ากับ 40,000 บาทต่อปีต่อครัวเรือน กรณีเกษตรกรจังหวัดปราจีนบุรี (12 ครัวเรือน 70 ไร่ เฉลี่ยครัวเรือนละ 5 ไร่ แต่ทำสมุนไพรหลายอย่าง) รอบที่ 1 เท่ากับ 1.5 ตันต่อไร่ รอบสองเหลือ 1 ตันต่อไร่ โดย 1 ไร่ ปลูกได้ 1 หมื่นต้น ระยะปลูก 30 x 30 cm รายได้ 50,000 บาทต่อปีต่อครัวเรือน
ฟ้าทะลายโจรไทยจะมียอดขายได้มากน้อยแค่ไหน ผมมีข้อเสนอแนะ 1. เกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรต้องเน้นคุณภาพเพื่อไปสู่ “ฟ้าทะลายโจรออร์แกนิค” เพราะเป็นยาเพื่อรักษาคน ขณะนี้มีการปลูกแบบออร์แกนิคและไม่ออร์แกนิค 50 ต่อ 50 และระบบการปลูก 90-120 วัน (ก่อนออกดอก) เพราะหากเกินจากนี้สารแอนโดกราฟิโคไรจะลดลง 2. สร้างบริษัทต้นแบบฟ้าทะลายโจรครบวงจรเหมือนกับที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรดำเนินการอยู่ขณะนี้ ซึ่งปัจจุบันบริษัทเอกชนเข้ามาตามกระแสโควิด หากหมดโควิดแล้วก็หายไป
3.สร้างตลาดสมุนไพรเพื่อการค้าที่เป็นธรรม ทั้งราคา และการซื้อขายวัตถุดิบ เพราะราคาผัน ผวนมากจากเอกชนที่ต้องการซื้อ และผู้ซื้อวัตถุดิบเป็นผู้กำหนดราคาเกษตรกรไม่มีอำนาจต่อรอง 4.สร้างระบบควบคุมให้มีมาตรฐานทั้งการปลูกคุณภาพ การผลิตที่ไม่ปลอมปน ค่าสารแอนโดรกราโพไลค์ที่จำเป็นเพื่อรักษาโรคนั้นๆ 5.สร้างตลาดเพราะปัจจุบันเกษตรกรปลูกตามออเดอร์ ไม่ได้ทำเต็มศักยภาพเพราะไม่รู้ว่าตลาดอยู่ไหน