พิษไวรัสโควิด-19 กลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด หนีไม่พ้นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ที่มีสายป่านสั้น ที่ต้องจับตาคือสมาชิกสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยที่มีกว่าแสนรายทั่วประเทศ ที่ส่วนใหญ่ประกอบธุรกิจด้านอุตสาหกรรมเกษตร แปรรูปอาหารและเครื่องดื่ม สมุนไพร เครื่องสำอาง สุขภาพ ท่องเที่ยวและบริการ การค้าปลีก ค้าส่ง โลจิสติกส์ รวมทั้งดิจิทัลเทคโนโลยี ที่ต่างเผชิญพิษไวรัสร้าย
เมื่อปัญหาใหม่ยังมีเข้ามา ขณะที่ปัญหาเก่ายังไม่ได้รับการแก้ไข กลายเป็นภารกิจสำคัญที่ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย “นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช”นั่งไม่ติด พร้อมเปิดใจผ่าน “ฐานเศรษฐกิจ”ถึงปัญหา-อุปสรรคที่ถาโถมเข้ามา รวมถึงปัญหาเรื้อรังที่รอวันแก้ไข พร้อมชี้แนะทางออกที่ต้องเร่งดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา ตลอดจนแผนกระตุ้นกำลังซื้อให้กับสมาชิกในปี 2565
นายแสงชัยกล่าวว่า ตั้งแต่เผชิญวิกฤติโควิด-19 จีดีพีของเอสเอ็มอีมีสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) เพียง 34% และมีปัญหาการขาดดุล (นำเข้ามากกว่าส่งออก) แม้ภาพรวมการส่งออกของประเทศจะขยายตัว แต่สัดส่วนการส่งออกของเอสเอ็มอีมีเพียง 13% ของมูลค่าทั้งหมด ดังนั้นภาครัฐต้องส่งเสริมให้เอสเอ็มอีพัฒนาขีดความสามารถ และลงทุน เพื่อลดการนำเข้า และขยายสัดส่วนการส่งออกจากเอสเอ็มอีด้วย
-หนี้เอสเอ็มอีพุ่งไม่หยุด
ขณะที่หนี้ครัวเรือนเพิ่ม โดยไตรมาส 2 /2564 อยู่ที่ 14.27 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพี 89.3% และจากผลการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า 62.8% ต้องการรับความช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน และส่วนใหญ่ 50.4% ต้องการพักชำระหนี้ ชี้ให้เห็นว่าปัญหาการขาดสภาพคล่อง รายได้ลด ขณะที่รายจ่าย และภาระหนี้ที่เอสเอ็มอีต้องแบกรับภาระไว้เป็นระเบิดเวลาที่เป็นสัญญาณอันตรายหากภาคการธนาคาร และภาครัฐไม่เร่งปรับปรุงให้การพักชำระหนี้เดิมให้เหมาะสมกับเอสเอ็มอี แต่ละรายอย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้มีปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้( NPLs) เพิ่มขึ้น ขณะที่ Special Mention(หนี้ที่ต้องจับตามองพิเศษ) ยังอยู่ในระดับสูงโดยสินเชื่อเอสเอ็มอีในระบบธนาคารพบว่าในไตรมาส 2/2564 เอ็นพีแอลอยู่ที่ 246,108 ล้านบาท (7.3%) และ Special Mention 416,002 ล้านบาท (12.35%) รวมสินเชื่อที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง 662,110 ล้านบาท (19.65%) ปกติ 2,706,015 ล้านบาท (80.35%) จากยอดสินเชื่อเอสเอ็มอี ในระบบธนาคารทั้งหมด 3,368,125 ล้านบาท ซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายหากไม่ดำเนินการมาตรการพักชำระหนี้ และปรับโครงสร้างหนี้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของเอสเอ็มอีแต่ละราย จะก่อให้เกิดผลกระทบเป็นในห่วงโซ่ธุรกิจ และเศรษฐกิจในภาพรวม
-9 ปัญหาเรื้อรังรอวันแก้ไข
นายแสงชัยกล่าวเติมอีกว่า ขณะนี้หากจะสรุปปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ยังไม่ได้แก้ไขอย่างจริงจัง ไล่ตั้งแต่ 1.ไม่พัฒนาเอสเอ็มอี อย่างเป็นระบบ ต่อเนื่องและกระจายพื้นที่ ที่ผ่านมาทำแบบ Event ได้งบประมาณ ได้ภาพ แต่ไม่ได้ดูแลส่งเสริมการเรียนรู้ติดตามแบบตลอดชีวิต เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง และถ่ายทอดการจัดการองค์ความรู้อย่างต่อเนื่องในทุกมิติ 2.การพัฒนาแรงงาน ต้องให้ SMEs วิสาหกิจชุมชน เกษตรกร และทุกภาคส่วนสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดการพัฒนาท้องถิ่นตน ไม่ใช่กลุ่มนายทุนหรือผู้ประกอบการขนาดใหญ่เท่านั้น เพราะทิศทางการพัฒนาและสะท้อนความต้องการจะบิดเบี้ยว เกิดความเหลื่อมล้ำขยายวงกว้างต่อไป
3.ขาดระบบการเชื่อมโยง ส่งต่อที่เป็น Block Chain สร้าง Eco-system SMEs ด้านการพัฒนาขีดความสามารถด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี มาตรฐาน คุณภาพ การตลาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภาครัฐต้องปฏิรูป Government Networking และมี Mission แต่ละหน่วยงานที่ไม่ซ้ำซ้อนกัน และแบ่งงานกันทำ 4.ทลายกำแพงการเข้าถึงแหล่งทุน ให้ผู้ประกอบการ SMEs ในแต่ละกลุ่มที่มีความต้องการพัฒนาที่แตกต่างกัน และต้องมีระบบพี่เลี้ยง กระบวนการติดตาม ประเมินผล ไม่ใช่การดำเนินงานเป็นโครงการ
5.กองทุนพัฒนา SMEs เพิ่มขีดความสามารถ เพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งทุนต้นทุนต่ำโดยไม่ใช้เกณฑ์ของธนาคาร ลดปัญหาการกู้ยืมนอกระบบ และลดภาระ SMEs ที่ไปใช้พิโก้ นาโนไฟแนนซ์ที่มีดอกเบี้ยสูง เป็นการแก้ไขปัญหาไม่ตรงประเด็น และอยู่ในวังวนของหนี้ภาคครัวเรือน และหนี้เสียที่สูง
6.ปฏิรูประบบราชการ ลดขั้นตอนการของทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจ ค่าใช้จ่ายทางตรง ทางอ้อมให้เกิดความโปร่งใส นำ Block Chain มาใช้บริหารจัดการตรวจสอบ และให้รวดเร็วมีประสิทธิภาพมากขึ้น 7.ปรับปรุงพัฒนากฎหมายที่เป็นอุปสรรค และสร้างการมีส่วนร่วมของ SMEs ในการพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ พ.ร.บ.หลักประกันธุรกิจ ที่มีทรัพย์สินทางปัญญาเป็นหลักประกันได้ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และใช้เป็นหลักประกันได้จริง เป็นต้น
8.การรวบรวมบริหารจัดการข้อมูล SMEs ขาดความเป็นเอกภาพ ไม่บูรณาการ ขาดการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ทั้ง ๆ ที่หน่วยงานของตนเองตั้งมาหลายสิบปี แต่ไม่มีการวางระบบฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ และ 9.นิยามของ SMEs ภาคธนาคาร ภาครัฐ แต่ละหน่วยงานใช้คนละนิยาม ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน สมาพันธ์เอสเอ็มอีเรียกร้องมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ก็ยังเห็นหลายหน่วยงานไม่ปรับเปลี่ยน
-ปี2565เดินแผนกระตุ้นกำลังซื้อ
นายแสงชัยยังกล่าวถึงแผนกระตุ้นกำลังซื้อปี 2565 ว่า สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เตรียมแผนกระตุ้นกำลังซื้อให้กับสมาชิกกว่าแสนรายทั้งประเทศ ไล่ตั้งแต่ การขับเคลื่อนเครือข่ายเพื่อนช่วยเพื่อน “SME Networking” จัดรวมกลุ่มผู้ประกอบการ SME ที่มีความหลากหลายทางธุรกิจและร่วมช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยทำ Business matching แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเพื่อนช่วยเพื่อนแนะนำธุรกิจให้กัน เป็นการสร้างโอกาส สร้างรายได้ให้ในกลุ่ม ซึ่งกระจายกันในแต่ละสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ส่วนภูมิภาค และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กรุงเทพมหานคร
การเดินแผน “SME Exporter Lists” ทำ Business matching กับ SMEs ในต่างประเทศ โดยเชื่อมโยงกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ EXIM Bank BOI และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมให้ SME มีความรู้การส่งออก ลดความเสี่ยง และเข้าใจกลไกการค้า การลงทุนต่างๆประเทศมากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มทยอยทำโครงการนี้ออกมาบ้างแล้ว
รวมถึงเดินหน้า “ของดี SME ไทย” และจัดทำ “e-catalog” เพื่อส่งเสริมให้ SME ที่มีคุณภาพ มาตรฐาน นวัตกรรมและสร้างแบรนด์ที่แข็งแรง มี Story telling น่าสนใจทุกราย ในแต่จังหวัด จังหวัดละ 100 ธุรกิจ เพื่อส่งเสริม สนับสนุนช่องทางการตลาดและการขายทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งขับเคลื่อนรวบรวมผู้ประกอบการ SME แต่ละคลัสเตอร์ทำด้านการพัฒนาคุณภาพ และระบบมาตรฐานต่างๆ รวมทั้งสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อให้ SME สามารถเข้าถึงองค์ความรู้และการพัฒนาด้านต่างๆ มีเป้าหมาย 7,700 ธุรกิจ ในปี 2565
เช่นเดียวกับโครงการ “คลีนิค SME ไทย” บ่มเพาะ SME ก่อนขอสินเชื่อ วางแผนทางบัญชี การเงิน และติดตามเป็นพี่เลี้ยงที่ปรึกษาทางธุรกิจเชื่อมโยงแหล่งความรู้การบริหารจัดการ ระบบคุณภาพและมาตรฐาน แหล่งนวัตกรรม ช่องทางการตลาดภายหลังได้รับสินเชื่อ เพื่อให้การใช้สินเชื่อเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของธุรกิจ ที่ผ่านมาสมาพันธ์ได้เริ่มให้ความช่วยเหลือ SME ไปแล้วหลายร้อยราย
โครงการ“ซุปตาร์ช่วยขาย” เป็นโครงการที่ประสบผลสำเร็จในปีนี้จากความร่วมมือศิลปินดาราจิตอาสามาช่วย SMEs ขายสินค้า และพัฒนาคุณภาพ ระบบบริหารจัดการโดย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งมีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ร่วมผนึกกำลังกับทางสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และจะขยายความร่วมมือออกไปในส่วนภูมิภาคต่างๆเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาสินค้าชุมชน และ SME ให้เข้าถึง Digital Marketing มายิ่งขึ้น รวมถึง“SME Online Training Course” เกือบ 100 หลักสูตร เน้นความรู้ที่สามารถนำไปใช้งานในธุรกิจได้จริงจากประสบการณ์นักธุรกิจ และนักบริหาร รวมทั้งนักวิชาการในภาคปฏิบัติมาเสริมแกร่งให้แข็งแรง แบบไม่มีค่าใช้จ่าย เป็นต้น
สุดท้ายประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ฝากถึงรัฐบาลปลุกเศรษฐกิจ ปี 2565 ให้ฟื้นตัวเร็วโดยการกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ ต้องมุ่งเน้นกลุ่มเกษตรกร และ SMEs ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ของโครงสร้างเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งจากผลกระทบอุทกภัยที่เกิดขึ้นส่งผลให้สภาพพื้นที่หลายจังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วมเสียหาย เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน ทำให้รายได้ขาดหาย ขณะที่ต้นทุนที่ลงทุนไปสูญเสียไปกับผลผลิต และสภาพบ้านเรือนที่ต้องซ่อมแซม อุปกรณ์ เครื่องจักร เครื่องมือทางการเกษตรที่เสียหาย สิ่งต่างๆเหล่านี้ SMEs ก็เผชิญในลักษณะใกล้เคียงกันในพื้นที่ประสบภัย
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3730 วันที่ 11-13 พฤศจิกายน 2564