โควิดลามคลัสเตอร์โรงงาน หวั่นทุบห่วงโซ่การผลิต ฉุดศก.-ส่งออกชะลอตัว

30 พ.ค. 2564 | 02:00 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ค. 2564 | 09:23 น.

สิ่งที่หลายคนกลัวกำลังเกิดขึ้นแล้ว กลุ่มก้อนคนจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ไวรัสร้ายโควิด-19 จะสายพันธุ์อะไรก็ตามได้แพร่ระบาดไปทั่วดูน่ากลัวขึ้นทุกขณะ 

ตัวอย่างกรณี บริษัท แคล-คอมพ์ อิเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) โรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ ในพื้นที่ อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี ที่มีแรงงานกว่า 5,000 คน มีอันต้องถูกสั่งปิดโรงงานชั่วคราว หลังมีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นหลายพันคน และส่งผลกระทบต่อชุมชนรอบโรงงาน รวมถึงภาพรวมของจังหวัด

ทั้งนี้หากเกิดกรณีแบบเดียวกันในหลายโรงงานในพื้นที่อื่นจนคุมไม่อยู่ ผลพวงที่ตามมาจะหนักหนาสาหัสขึ้นหลายเท่า นายวิสูตร พันธวุฒิยานนท์ นายกสมาคมนายจ้างผู้ประกอบกิจการรับเหมาแรงงาน ให้สัมภาษณ์ “ฐานเศรษฐกิจ” ในฐานะทำงานใกล้ชิดกับทั้งนายจ้างและลูกจ้างในธุรกิจขนาดเล็กไปยังขนาดใหญ่ ถึงความเป็นห่วงต่อการรับมือผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มองว่าการบริหารจัดการหลายด้านยังล่าช้า โดยเฉพาะการเข้าถึงของวัคซีน

จี้นิคมฯ-เขต/สวนอุตฯรับมือ

นายวิสูตร ยอมรับว่า มีความกังวลถึงผลกระทบต่อเนื่องที่จะเกิดขึ้นหากควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไม่อยู่ จะต้องมีอีกกี่โรงงานอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบแบบเดียวกับบริษัท แคล-คอมพ์ฯ เพราะทุกพื้นที่ที่เป็นจุดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมล้วนเป็นศูนย์รวมของผู้ใช้แรงงานจำนวนมาก และเป็นต้นทางของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

ดังนั้นเวลานี้ทุกพื้นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรม ที่ยังเดินการผลิตอยู่จะต้องยกระดับการรับมือไว้ล่วงหน้าก่อน อย่ารอให้เกิดปัญหาแล้วมาล้อมคอก  ไม่ว่าจะเป็นโรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งในเขต/สวนอุตสาหกรรม หรือในนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงโรงงานที่ตั้งอยู่นอกเขตประกอบการทั่วประเทศ

 

ระวังผิดกฎความปลอดภัย

นายวิสูตรกล่าวอีกว่า อีกปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ยังพบว่ามีแรงงานบางกลุ่มตื่นกลัวกับการฉีดวัคซีนจึงลงความประสงค์ไม่ฉีด ซึ่งก่อนหน้านี้ระบบประกันสังคมมีการออกเอกสารให้ฝ่ายบุคคลของแต่ละบริษัทแจ้งพนักงานและคนงานว่าใครมีความประสงค์จะฉีดวัคซีน หรือไม่ฉีดเพราะกลัวผลข้างเคียง ทำให้มีแรงงานจำนวนหนึ่งประสงค์ไม่ฉีด

“เวลานี้ทุกภาคส่วนต้องออกมาขอความร่วมมือให้ฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ไม่เช่นนั้นแล้วหากเกิดการแพร่ระบาดลามไปทั่วโรงงานจะไม่สามารถเดินการผลิตต่อได้ หรืออาจมีบางส่วนต้องสะดุดลง ถ้าโรงงานหยุดไป 1 แห่ง ก็จะกระทบซัพพลายเออร์ หรือกลุ่มที่ผลิตวัตถุดิบป้อนก็จะสะเทือนต่อเนื่องไปด้วย และจะกระทบห่วงโซ่การผลิตได้”

นอกจากนี้หากโรงงานใดมีความไม่ปลอดภัยเกิดขึ้นจะผิดข้อกำหนดด้านความปลอดภัยของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้  ดังนั้นเวลานี้แนวทางปฏิบัติที่เห็นคือผู้ว่าราชการทุกจังหวัดที่มีโรงงานอุตสาหกรรมได้ออกคำสั่งไปที่สวัสดิการคุ้มครองแรงงานจังหวัดให้ปฏิบัติตามกฎด้านความปลอดภัยของโรงงานอย่างเคร่งครัดแล้ว หากปฏิบัติได้เหมือนกันทุกจังหวัดจะช่วยลดความเสี่ยงลงได้ 

ล่าสุดอธิบดีกรมควบคุมโรค กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติได้ออกหนังสือแจ้งแนวทางให้บริการวัคซีนโควิด-19 แบบปูพรมทั่วประเทศโดยเฉพาะในพื้นที่ระบาดไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ให้ดำเนินการเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด เช่น เตรียมความพร้อมจุดบริการวัคซีนทั้งในและนอกโรงพยาบาล เช่น ศูนย์การค้า สนามกีฬา  ศูนย์ประชุม โรงงานอุตสาหกรรม และกำหนดช่องทางการลงทะเบียนและการเข้ารับวัคซีนไปตามช่องทางต่าง ๆ 

นายวิสูตรตั้งข้อสังเกตว่า ในแง่โรงงานอุตสาหกรรม ถ้าไม่ปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเคร่งครัดโรงงานนั้น ๆ อาจจะผิดระเบียบด้านความปลอดภัย  อาจมีโรงงานจำนวนหนึ่งต้องหยุดการผลิตลงชั่วคราว และถ้าหากเกิดการแพร่ระบาดเกิดขึ้นกับโรงงานผลิตอาหาร ก็อาจเกิดปัญหาขาดแคลนอาหารตามมาได้อีก  การส่งออกก็อาจสะดุดได้


โควิดลามคลัสเตอร์โรงงาน หวั่นทุบห่วงโซ่การผลิต ฉุดศก.-ส่งออกชะลอตัว

ศก.โลกขยับหวั่นเสียโอกาส

อย่างไรก็ตามจะเห็นว่าเวลานี้เศรษฐกิจของจีน อเมริกา ยุโรปบางประเทศซึ่งเป็นตลาดสำคัญของไทยเริ่มขยับตัวได้ จะส่งผลดีต่อภาคการส่งออกของไทยไปยังประเทศดังกล่าวที่กำลังซื้อเริ่มค่อย ๆ ฟื้น  หากไทยไม่ยกระดับการควบคุมก็อาจจะเสียโอกาสนี้ไปได้

ปัจจุบันแรงงานในระบบตามมาตรา 33 ที่เป็นแรงงานอยู่ในระบบประกันสังคม มีจำนวน 12 ล้านคน ดังนั้นรัฐต้องเร่งปูพรมฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ครบ 12 ล้านคนให้เร็วที่สุด  รวมถึงแรงงานต่างด้าวที่ทำงานถูกกฎหมาย มีจำนวนมากหลักล้านคนขึ้นไปก็ต้องรีบฉีดให้ครบ เนื่องจากทำงานร่วมกับแรงงานไทย เวลานี้มีโรงงานบางแห่งหาแรงงานไม่ได้จำเป็นต้องรับแรงงานต่างด้าวเข้ามา ก็ต้องเข้มงวดในการฉีดวัคซีนยิ่งขึ้น เพื่อให้เดินคู่ขนานไปกับการขยับตัวของเศรษฐกิจ  

“เวลานี้ได้เกิดคลัสเตอร์โควิดระบาดลามสู่ภาคการผลิต ถ้าเอาไม่อยู่ระบบเศรษฐกิจพังแน่ เพราะบางโรงงานมีแรงงานหลักหมื่นคน ถ้าแพร่ระบาดโดยไม่รู้ตัว ตัวเลขการระบาดก็จะพุ่งเร็ว เกรงว่าระบบสาธารณสุขจะรับมือไม่ทันในระยะต่อไป” 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,683 วันที่ 30 พฤษภาคม - 2 มิถุนายน พ.ศ. 2564