ผลวิจัยมธ.ชี้“ธ.ค.64”ติดเชื้อโควิดลดเหลือ 2,500 คนต่อวัน เสียชีวิต 40 ราย

27 พ.ย. 2564 | 02:00 น.

ผลวิจัยมธ.ชี้“ธ.ค.64”ติดโควิดลดเหลือ 2,500 คน/วัน เสียชีวิต 40 : คอลัมน์ฐานโซไซตี โดย... ว.เชิงดอย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3735

*** ฐานโซไซตี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3735 ระหว่างวันที่ 18 พ.ย. - 1 ธ.ค.2564 ว.เชิงดอย ประจำการรายงานข่าวสารที่น่าสนใจ เพื่อประโยชน์สาธารณะ 

 

*** ไปเริ่มกันที่...สถานการณ์โควิด-19 สำหรับประเทศไทย ณ วันที่ 24 พ.ย.64 ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. รายงานพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 5,857 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสมแล้ว 2,081,992 ราย ผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 55 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 20,541 ราย มีผู้ที่กำลังรักษาตัวอยู่ 81,577 ราย ผู้ที่หายป่วยกลับบ้านแล้ว 7,318 ราย หายป่วยสะสมตั้งแต่ 1 เม.ย.2564 จำนวน 1,952,445 ราย  ทั้งนี้ อัตราการเสียชีวิตลดลง  โดยผู้ที่เสียชีวิตเพิ่ม 55 รายนั้น เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และโรคเรื้อรัง นอกจากนี้ พบว่า กลุ่มผู้ป่วยติดเตียงเสียชีวิต 4 ราย ส่วนใหญ่ติดเชื้อมาจากผู้ดูแล หรือผู้ที่อยู่ร่วมบ้าน ขณะเดียวกัน พบว่า 41 ราย จาก 55 รายที่เสียชีวิต “ไม่ได้ฉีดวัคซีน” แม้แต่เข็มเดียว 

*** อย่างไรก็ดี ถือเป็นเรื่อง “น่ายินดี” ที่จำนวน “ผู้ป่วยใหม่” ต่ำกว่าหลักหมื่น โดยอยู่ระดับ 5-7 พันคน มาหลายวัน เช่นเดียวกันจำนวน “ผู้เสียชีวิต” ของไทยอยู่ในระดับที่ 50 บวก ลบ ย้อนไป เมื่อวันที่ 21 พ.ย.64 พบผู้ป่วยรายใหม่ 7,006 คน เสียชีวิต 29 คน วันที่ 22 พ.ย. ป่วยใหม่ 9,426 คน เสียชีวิต 49 คน วันที่ 23 พ.ย. ป่วยใหม่ 5,126 คน เสียชีวิต 53 คน และ เมื่อ 24 พ.ย. ป่วยใหม่ 5,857 คน เสียชีวิต 55 คน  ...ถ้าคนไทยได้รับการ “ฉีดวัคซีนโควิด” มากขึ้น ดูแลตัวเองดีดี “การ์ดไม่ตก” ก็เชื่อว่าจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ และ ผู้เสียชีวิต น่าจะดีขึ้นตามลำดับ 

 

*** ยังต่อเนื่องกับเรื่อง “โควิด-19” แต่ว่าด้วยเรื่อง “ฟื้นฟูเศรษฐกิจ” ของประเทศไทย สำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC) โดย พ.ต.ต.ดร.ชวนัสถ์ เจนการ หัวหน้าโครงการวิจัย และ ผศ.ดร.สุทธิกร กิ่งเเก้ว ผู้บริหารโครงการวิจัย ได้เผยผลวิจัยเรื่อง “ภาวะเศรษฐกิจและสังคมไทยภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) และการพัฒนาการผลิตวัคซีนภายในประเทศ” โดยได้สรุปภาพรวมผลกระทบทางเศรษฐกิจของไทยจากโควิด-19 ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา พบว่าการระบาดของโรคส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมไทยใน 8 ด้าน 

*** หนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ในปี 2563 เพิ่มขึ้นเป็น 51.83% และคาดว่าเพิ่มต่อเนื่องอีกเป็น 55.59% ในปี 2564 ซึ่งใกล้ระดับเพดานความยั่งยืนทางการคลังเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกิน 60% และเข้าใกล้ระดับเพดานปัจจุบันที่ 70% ที่พึ่งปรับเพิ่มขึ้นไม่นานนี้ 

 

*** หนี้เอกชน ซึ่งเป็นการกู้ยืมเงินจากภาคเอกชนที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน เพิ่มขึ้นตั้งแต่ในช่วงแรกของการระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะการระบาดระลอก 3 ในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2564 ทำให้มูลค่าการออกตราสารหนี้ใหม่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 61.90% และคาดการณ์ว่าครึ่งหลังปี 2564 จะมีการออกตราสารหนี้ใหม่อีกกว่า 4 แสนล้านบาท

 

*** หนี้ครัวเรือน ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 คนไทยมีหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 13.59 ล้านล้านบาท และเพิ่มต่อเนื่องจนไตรมาสที่ 1 ในปี 2564 มีประมาณ 14.13 ล้านล้านบาท โดยผู้กู้มีทั้งเพื่ออสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัย และ รถยนต์ และกลุ่มผู้กู้เพื่อหมุนเวียนเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจและใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน 

 

*** การท่องเที่ยว ในปี 2563 รายได้จากการท่องเที่ยวหดตัวลงเหลือเพียง 0.8 ล้านล้านบาท ลดลง 72% เมื่อเทียบกับปีก่อน ที่มีประมาณ 3 ล้านล้านบาท มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียง 6.7 ล้านคน ขณะที่ปี 2562 มีสูงถึง 40 ล้านคน โดยในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศ แต่ยังเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับสถานการณ์ปกติ

 

*** การว่างงาน มีผู้ว่างงานกว่า 7 แสนคนตลอดช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด ซึ่งสูงขึ้นจากช่วงก่อนการแพร่ระบาดที่มีจำนวนผู้ว่างงานประมาณ 3 แสนคน 

 

*** ธุรกิจเลิกกิจการ ในปี 2563 มีถึง 20,920 ราย ทุนจดทะเบียน 91,859 ล้านบาท โดยธุรกิจที่เลิกกิจการสูงสุดคือ ก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และภัตตาคาร-ร้านอาหาร โรงงานอุตสาหกรรม มีโรงงานประกอบกิจการใหม่ 2,633 โรงงาน เงินลงทุนรวม 171,054 ล้านบาท คนงาน 86,797 คน ซึ่งลดลงกว่าปีก่อนที่

 

*** โรงงานอุตสหกรรม ประกอบกิจการใหม่ 3,175 โรงงาน เงินลงทุนรวม 301,418 ล้านบาท คนงาน 96,492 คน และมีโรงงานที่เลิกกิจการมีทั้งหมด 716 โรงงาน กิจการที่ปิดสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์จากพืช ผลิตภัณฑ์โลหะ อุตสาหกรรมอาหาร และ ผลิตภัณฑ์อโลหะ 

 

*** วิถีชีวิตใหม่ การเข้ามาของโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้ประเทศไทยก้าวสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) การทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และ การทำธุรกิจผ่านระบบออนไลน์มากยิ่งขึ้น และเกิดการทำงานและการสื่อสารในรูปแบบใหม่ๆ อย่างการทำงานที่บ้าน (Work From Home) ส่งผลให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซขยายตัวสูงถึง 80% จากปีก่อนหน้า หรือมีมูลค่า 300,000 ล้านบาท ตรงข้ามกับมูลค่าการซื้อขายผ่านหน้าร้านที่หดตัวถึง 11% สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างชัดเจน  

 

*** ผลวิจัยพบด้วยว่า ภายในปีนี้รัฐบาลได้เตรียมแผนการจัดหาวัคซีนจาก 3 วัคซีนหลัก คือ แอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวค และ ไฟเซอร์ รวม 127.1 ล้านโดส และหากรวมวัคซีนทางเลือกจะเท่ากับ 179.1 ล้านโดสตั้งเป้าหมายการฉีดให้ได้ 100 ล้านโดส ภายในสิ้นปี 2564 เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่

 

คาดการณ์ว่า ในปี 2565 ไทยจะสามารถผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 รวมกันประมาณ 260-295 ล้านโดส เฉพาะของสยามไบโอไซเอนซ์ที่ผลิตให้แอสตร้าเซนเนก้า สามารถผลิตได้ประมาณ 185-200 ล้านโดสต่อปี โดยจัดสรรวัคซีนให้กับไทย 1 ใน 3 และอีก 2 ใน 3 ถูก ส่งมอบให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศใกล้เคียง

 

*** หากคนไทยได้รับการฉีดวัคซีนได้ตามเป้าคือ 70% ของประชากร หรือ 100 ล้านโดส จะเกิด “ภูมิคุ้มกันหมู่” ซึ่งปัจจุบันคนไทยได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว 85 ล้านโดส (ณ 14 พ.ย.64) มีส่วนสำคัญที่จะช่วย “ฟื้นเศรษฐกิจ” ของประเทศ พร้อมช่วยให้สังคมกลับสู่ภาวะปกติอีกครั้ง ซึ่งจะเห็นได้จากในต่างประเทศที่อัตราการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน ส่งผลโดยตรงต่อระบบเศรษฐกิจ เช่น สหรัฐอเมริกา อิสราเอล จีน และ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่สามารถฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว

 

*** ผลวิจัยชี้ด้วยว่า หากการบริหารจัดการวัคซีนเป็นไปตามแผน ภายในเดือน ธ.ค.64 จะส่งผลให้ผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงเหลือราว 2,500 คนต่อวัน ผู้เสียชีวิตลดลงเหลือราว 40 คนต่อวัน และส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศจะเพิ่มเกือบ 3 แสนคน และเกิดการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจในประเทศ กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 10.38% อยู่ที่ระดับ 70.39 สูงสุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ดัชนีการลงทุนของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 6.95% รวมทั้งผู้ว่างงานในระบบประกันสังคมลดลง 32.23% หรือ 4.5 แสนคน

 

*** และหากพิจารณาปัจจัยทางเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ อาทิ มาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลก จะพบว่าหากการระบาดของโควิด-19 ลดลงเกือบเป็นศูนย์ในช่วงปลายเดือนมี.ค.2565 จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศจะปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 1.1 ล้านคน ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 อัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 11.26% ดัชนีการลงทุนของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 39.29% ผู้ว่างงานในระบบประกันสังคมลดลงกว่า 70,000 คน เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกับปีก่อน โดยคาดการณ์ไว้ด้วยว่าปี 2565 เศรษฐกิจจะขยายตัว 3.9% 

                              ดวงกมล ลิมป์พวงทิพย์

+++ ปิดท้าย...ขอแสดงความยินดีกับ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ที่ได้รับรางวัล UN Women 2021 Thailand WEPs Awards รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง สาขาการตลาดที่คำนึงถึงมิติทางเพศ (Gender-Responsive Marketplace) จากองค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) ในฐานะเป็นสถาบันการเงินที่สนับสนุนความเสมอภาคระหว่างเพศและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่เป็นผู้หญิงสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างเท่าเทียม ผ่านการออก “พันธบัตรเพื่อสังคมที่คำนึงถึงเพศสภาพ (Gender Bond)”’ ภายใต้การนำของ ดวงกมล ลิมป์พวงทิพย์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจ SME รางวัลนี้สะท้อนถึงเจตนารมณ์ของ “กรุงศรี” ที่ส่งเสริมการเข้าถึงทางการเงินอย่างทั่วถึงและครอบคลุมทุกภาคส่วน