“ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ นายกิจจา วงศ์วารี กรรมการบริหารกลุ่มบริษัทในเครือ อโรม่า กรุ๊ป เจเนอเรชั่น 2 ของครอบครัวที่สานต่อธุรกิจที่ซึมซับมาตั้งแต่เด็กจนโต และได้ขยายอาณาจักรธุรกิจกาแฟจนเติบใหญ่ในระดับแถวหน้าของเมืองไทย พร้อมเปิดแผนธุรกิจปี 2565 และตั้งข้อสังเกตทำไมกาแฟแพงขึ้น แต่เกษตรกรปลูกกาแฟยังยากจน พร้อมออกมาตอกย้ำถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเปิดรับจำนำกาแฟ มาติดตามจากคำให้สัมภาษณ์ ดังนี้
นายกิจจา กล่าวว่า อโรม่าเป็นผู้นำกาแฟคั่วบด ใช้กาแฟในประเทศไทยเป็นหลัก เป็นสายพันธุ์ “อาราบิก้า” จากแหล่งปลูกทางภาคเหนือ และหากเป็นสายพันธุ์ “โรบัสต้า” จะมาจากทางภาคใต้ ปัจจุบันอโรม่าจะใช้ “อาราบิก้า” เป็นสัดส่วนหลักเกือบ 90% เพราะด้วยรสชาติเป็นที่นิยมของคนไทย ส่วนการนำเข้าจะนำเข้าจาก สปป.ลาว เวียดนาม และเมียนมา เน้นประเทศเพื่อนบ้านเป็นหลัก ปริมาณการใช้วัตถุดิบต่อปีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปี 2564 ใช้สารกาแฟจำนวน 2,500 ตัน
ในปี 2565 จะเป็นอีกปีที่ท้าทายในธุรกิจกาแฟที่มีการแข่งขันรุนแรงต่อเนื่อง โดยบริษัทต้องกำหนดแผนการลงทุนระยะยาว 3-5 ปี โดยปีนี้จะเพิ่มกำลังผลิตเป็นเท่าตัว เนื่องจากทางกลุ่มได้มีการขยายการลงทุนด้านเครื่องจักรไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยจะค่อยๆ ขยายกำลังการผลิต ซึ่งปี 2565 ตามแผนการผลิตของกลุ่มสามารถขยายตัวรองรับได้ระยะยาว 5 ปี เพราะตลาดกำลังเติบโต เห็นได้จากคนไทยดื่มกาแฟเพิ่มขึ้น และไม่ได้ดื่มกาแฟกันที่ราคา 60 บาทต่อแก้ว
วันนี้จะมีผู้เล่นรายใหญ่ขายในราคา 30-35 บาทต่อแก้วมากขึ้น และวอลุ่มสูง นั่นคือคนไทยส่วนใหญ่หันมาดื่มกาแฟมากขึ้น เราก็ต้องลงไปมองกาแฟระดับกลาง ๆ มากขึ้น พอมีตลาดรองรับก็น่าจะคัดเอากาแฟเกรดดีออกมารองรับได้มากขึ้น และนำกาแฟไทยเกรดดีตรงนี้ขึ้นมาโปรโมต ขณะเดียวกันก็มีการนำเข้ากาแฟจากต่างประเทศมากขึ้นเพื่อมาพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟให้มีทิศทางที่ยั่งยืน ให้คนดื่มกาแฟได้จากหลากหลายประเทศ หลากหลายราคา แตกไลน์เป็นกาแฟนำเข้าเพื่อเพิ่มช่องทางใหม่ ๆ ให้ผู้บริโภคเลือก
กรรมการบริหารกลุ่มบริษัทในเครือ อโรม่า กรุ๊ป กล่าวว่า ธุรกิจกาแฟ ต้นน้ำคือ สารกาแฟ มาจากเกษตรกรที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพ และยังเชื่อว่าการส่งเสริมเกษตรกรไทยให้ปลูกกาแฟที่มีคุณภาพดีเป็นสิ่งที่อโรม่าจะต้องทำ ปัจจุบันมีการส่งเสริมเกษตรกร ปีหนึ่งรับซื้อจากเกษตรกรในประเทศ 50-80% ของทั้งหมด จากที่ผลิต 2,500 ตันต่อปี อย่างไรก็ดีหากดีมานด์มากขึ้นแต่ซัพพลายเท่าเดิม คิดว่าทุกรายก็จะเริ่มนำเข้ากาแฟจากต่างประเทศมากขึ้น เพราะกาแฟในประเทศมีไม่พอใช้ ตอนนี้สายพันธุ์ “อาราบิก้า” มีรองรับเพียง 6,000-7,000 ตันต่อปีเท่านั้น โดยหากนำเข้าภายใต้ระบบโควต้าจากประเทศเพื่อนบ้านก็มีต้นทุนเรื่องภาษี 5-10% แล้วแต่ช่วง แต่กาแฟกิโลกรัมละไม่สูง มีตั้งแต่ 100-150 บาทต่อกิโลกรัม
นายกิจจา ยังตอกย้ำถึงเรื่องเดิมที่เคยหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า รัฐบาลควรเปิดรับจำนำกาแฟ ทุกวันนี้กาแฟ “อาราบิก้า” ของไทยมีแค่ 6,000-8,000 ตัน ถ้ารัฐบาลเข้าไปรับจำนำ ถ้าทำได้แล้วกำหนดราคาไปเลยว่าจำนำมาแล้วขายต้องขายเท่าไหร่ แล้วจะเปิดโควตาให้นำเข้าก็ต่อเมื่อกาแฟหมดทุกแมล็ด เกษตรกรไทยก็แฮปปี้แล้ว เพราะจะทำให้ให้ขายได้ราคาที่ดี ดังนั้นขอให้มีความชัดเจน ถ้าไม่ยอมซื้อของไทยให้หมดก็ไม่ต้องเปิดนำเข้า
“รัฐบาลโดย ธ.ก.ส.ช่วยได้ในแบบเปิดรับจำนำก็จะดี ถ้ารัฐบาลเปิดรับจำนำกาแฟจะกำหนดราคาได้ว่าขายราคาไหน พอหมดก็นำเข้า คนเดือดร้อนก่อนคือรายใหญ่อยู่แล้ว ซึ่งผมยินดี เพราะอยากช่วยจริงๆ”
ปัจจุบันมีการเปิดนำเข้ากาแฟในรูปของโควต้าและเสียภาษี โดยรัฐบาลมีการกำหนดโควตา และให้ซื้อของไทยก่อนไปขอโควตานำเข้าเมื่อไม่พอใช้ ถ้านำเข้าภายใต้โควตาจากกลุ่มอาเซียนด้วยกันเสียภาษี 5% แต่ถ้านำเข้านอกโควตาเสียภาษี 90%
“ตอนเด็กผมไปไร่กับพ่อ ตอนนั้นพ่อยังกินกาแฟยกล้อแก้วละ 20 บาท มาวันนี้กาแฟไทยขั้นต่ำกิโลกรัมละ 500-800 บาท พอมาถึงตรงกลางน้ำคือร้านกาแฟ เมื่อก่อนเครื่องชงราคาตัวละ 1 แสนบาท ถือว่าแพง ตอนนี้เครื่องชงพรีเมียม 6-8 แสน เครื่องบดตัวละ 8 หมื่น ถึง 1 แสนบาท เปิดร้านกาแฟหนึ่งร้านต้องลงทุนเป็น 10 ล้าน 20 ล้าน 30 ล้านบาท ราคาขายต่ำสุดแก้วละ 60 บาท ราคาสูงหน่อยก็ 300-400 บาทแต่ทำไมเกษตรกรไทยยังจนเท่าเดิม”
ถามว่าทำไมเกษตรกรไม่ได้อยู่ในแวลูเชนเลย 30 ปีที่แล้วเกษตรกรจน วันนี้ก็ยังจนเท่าเดิม ทำไมเป็นแบบนั้น กาแฟวันนี้ขึ้นไปกิโลกรัมละกี่ร้อยไปแล้ว กาแฟแก้วละเท่าไหร่ไปแล้วแต่ทำไมเกษตรกรยังจนอยู่ วันนี้ที่พูดกันว่าช่วยเกษตรกรไทยกันมากมาย ถามกลับว่าช่วยไปแล้วดีขึ้นจริงหรือไม่ ถ้าทำไปแล้วยังไม่ดีขึ้นช่วยเปลี่ยนได้หรือไม่ ทำเหมือนเดิมมา 5 ปี 10 ปียังเหมือนเดิมก็ต้องเปลี่ยน ถ้าไม่ทำอะไรเลยสุดท้ายจะไม่มีคนปลูกกาแฟ ทั้งนี้อโรม่า กรุ๊ปในปี 2565 ยังมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าสนับสนุนเกษตรกรอย่างเต็มกำลังเพื่อให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3749 วันที่ 16-19 มกราคม 2565