โดยมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลาที่ศึกษาพัฒนาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีการขับเคลื่อนตั้งคณะทำงานและลงพื้นที่คืบหน้าไประดับหนึ่งแล้ว
ล่าสุด“ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ ดร.ณพพงศ์ ธีระวร ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก และอุตสาหกรรมบริการ ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ถึงวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว จากการปั้นเบตงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับประเทศ
ดร.ณพพงศ์ กล่าวว่า ตามพันธกิจด้านการยกระดับการวิจัย บริการวิชาการ และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม เพื่อพัฒนาท้องถิ่น ในวิสัยทัศน์ “มหาวิทยาลัยคลังปัญญาแห่งชายแดนใต้” สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ระยะ 20 ปี มุ่งเน้นงานบริการวิชาการและการขับเคลื่อน
โครงการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านเศรษฐกิจฐานรากและอุตสาหกรรมบริการ อ.เบตง จ.ยะลา เป็นพื้นที่มีความโดดเด่นเฉพาะด้านการท่องเที่ยว อาทิ การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เป็นต้น และยังมีหลายส่วนที่จะต้องพัฒนายกระดับเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยือนหลังจากภาวะการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 หมดไป เพื่อเชื่อมโยงระหว่างชุมชนท่องเที่ยวและแหล่งท่องเที่ยวหลัก นอกจากนี้จะเกิดการกระจายรายได้ ทำให้เศรษฐกิจในท้องถิ่นเกิดการหมุนเวียน สอดคล้องกับนโยบายการขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบในพื้นที่ อ.เบตง สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”
เปิด 6 จุดเด่นเบตง
สำหรับจุดเด่นของพื้นที่อำเภอเบตง คือ 1.มีเขตชายแดนติดเมืองเศรษฐกิจของมาเลเซีย2. ชุมชนมีความเข้มแข็ง สามัคคีและมีอัตลักษณ์ในความสังคมพหุวัฒนธรรม 3.มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามตามกระแสนิยมการท่องเที่ยวในเชิงนิเวศ 4.เป็นเมืองที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบต่ำที่สุด 5.มีนักท่องเที่ยวมาเลเซียและสิงคโปร์ 6.เมืองเบตงมีการพัฒนาท่าอากาศยานพร้อมเปิดใช้งานรองรับนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ
“รูปแบบแผนการศึกษาทั้งหมดอำเภอเบตงมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว จึงจำเป็นต้องรักษาฐานกลุ่มนักท่องเที่ยวเป้าหมายไว้ โดยอาศัยความเป็นเจ้าบ้านที่ดีและเป็นมิตรกับนักท่องเที่ยว รวมถึงเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวในอำเภอเบตง และพื้นที่ใกล้เคียงเป็น LandMark แห่งใหม่ เปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวสู่จังหวัดชายแดนใต้ต่อไป”
รวมทั้ง การนำโครงการเบตง 10,000 ล้าน (ดึงนักท่องเที่ยว 2 ล้านคนต่อปี) เป็นศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบฐานพัฒนาหลักสูตร ทั้งนี้ โดยบูรณาการผลิตบัณฑิต วิจัย บริการวิชาการ และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ให้เกิดผลทั้งคุณภาพบัณฑิต และคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยใช้ชุมชนเป็นฐานการเรียนการสอนให้กับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลามีความสามารถในเชิงปฏิบัติเพื่อการประกอบอาชีพ อีกทั้งสร้างผู้ประกอบการและธุรกิจการท่องเที่ยวให้มีช่องทางการขยายตัวและเติบโตของเศรษฐกิจในท้องถิ่นแบบครบวงจร มุ่งเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมการศึกษา และสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างเม็ดเงินอย่างมหาศาลลงมาสู่ชุมชนท้องถิ่นมากขึ้น ผ่านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและอุตสาหกรรมบริการร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายความร่วมมือ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่
สำหรับประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการเบตง 10,000 ล้าน การพัฒนาดังกล่าวเกิดการกระจายรายได้ เศรษฐกิจฐานรากเกิดการหมุนเวียนในพื้นที่ อ.เบตง และใกล้เคียง สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนในพื้นที่ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในทุกมิติ ขณะที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และศูนย์เศรษฐกิจฐานรากฯ และชุมชนในพื้นที่ มีรายได้สามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน
มั่นใจกระตุ้น ศก.ได้จริง
ดร.ณพพงศ์ กล่าวว่าแผนทั้งหมดจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง ถ้าดูจากในอำเภอเบตงทั้งหมด พบว่า ในปี 2563 จำนวนนักท่องเที่ยว 131,099 คน และ ปี 2564 จำนวน 170,745คน เกิดการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น ร้อยละ 30.24 2) รายได้จากนักท่องเที่ยวชาวไทยเพิ่มขึ้น พบว่า ในปี 2563 มีรายได้ 169.85 ล้านบาท ในปี 2564 มีรายได้ 445.37 ล้านบาท เกิดการเปลี่ยน แปลงเพิ่มขึ้น 162.21 ล้านบาท โดยมีนักท่องเที่ยวเข้าพักในโรงแรม รีสอร์ต โฮมสเตย์ในพื้นที่ ในปี 2563 จำนวน 130,985 คน และ ในปี 2564 จำนวน 141,638 คน เกิดการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.13
ทั้งนี้ ยังพบว่าผลจากโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวตำบลอัยเยอร์เวง จากที่ดำเนินการตั้งแต่ ปี 2544-ปัจจุบัน ทำรายได้มากกว่า 30 ล้านบาทต่อเดือน ยังไม่รวมอำเภอเบตงและอำเภอข้างเคียง ที่ได้รับอานิสงส์จากการท่องเที่ยวมากกว่า 300 ล้านบาทต่อเดือน (นักท่องเที่ยวเฉลี่ยใช้จ่ายรายละ 1,300 บาท เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวท้องถิ่น 3 จังหวัดชายแดนใต้ ร้อยละ 60 หากมีการเปิดชายแดนไทยมาเลเซีย คาดว่า จะสามารถทำรายได้เพิ่มอีก 2 เท่าตัว สามารถดึงเงินลงทุนได้อีกหลายเท่าตัว
“ที่สนใจหันมาการทุ่มเทแรงขับเคลื่อนโครงการเบตง 10,000 ล้าน เพราะมีความตั้งใจในการกลับมาพัฒนาพื้นที่จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นบ้านเกิด ประกอบกับการได้รับโอกาสดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ดังนั้นจึงมีความตั้งใจในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดยะลา โดยเล็งเห็นศักยภาพของอำเภอเบตง อำเภอใต้สุด ที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงาม มีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลาย พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง มีหมอกตลอดปี”
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3754 วันที่ 3 – 5 กุมภาพันธ์ 2565