รู้จัก 9 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใน "กว่างซี" โอกาสลงทุนของภาคธุรกิจไทย

16 ก.พ. 2565 | 23:48 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ก.พ. 2565 | 07:17 น.

"กว่างซี" เป็นมณฑลกำลังพัฒนาทางภาคใต้ของจีน มีพรมแดนติดกับเวียดนาม แม้ความสามารถด้านการแข่งขันจะยังไม่สูงเทียบเท่ากับมณฑลที่พัฒนาแล้ว แต่ปัจจัยดังกล่าวผลักดันให้รัฐบาลท้องถิ่นเร่งพัฒนาการเจริญเติบโต โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่โดดเด่น มีศักยภาพพัฒนาในอนาคต

คอลัมน์ ชี้ช่องจากทีมทูต

โดย ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC) ณ นครหนานหนิง/ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ globthailand.com

- - - - - - - - - - - 


เพื่อให้ก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง รัฐบาลมณฑลกว่างซี ได้ประกาศ “แผนพัฒนาอุตสาหกรรมเกิดใหม่ เชิงยุทธศาสตร์เขตปกครองตนเองกว่างซี ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 14 (ปี 2564 – 2568)” ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาและต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ และเร่งสร้าง 9 กลุ่มอุตสาหกรรมเกิดใหม่เชิงยุทธศาสตร์ เพื่อเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งเป็นโอกาสที่ภาคธุรกิจและนักลงทุนไทยสามารถศึกษาและเข้าไปมีส่วนร่วม ดังนี้

 

(1) เทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ ได้แก่ อุปกรณ์ปลายทางอัจฉริยะ (Intelligence Terminal) อุปกรณ์แสดงผลความคมชัดสูง (HD) อุปกรณ์ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และคอมพิวเตอร์ (Human–computer interaction) และอุปกรณ์และแอปพลิเคชันโทรคมนาคม 5G

 

(2) เทคโนโลยีชีวภาพ ได้แก่ ชีวการแพทย์ (Biomedical) ยาชีววัตถุ ยาพุ่งเป้า (Targeted Therapy) วัคซีนรุ่นใหม่ น้ำยาตรวจวินิจฉัยโรค และอุปกรณ์ทางการแพทย์ขั้นสูง

มณฑลกว่างซี ตั้งอยู่ทางภาคใต้ของจีน มีพรมแดนติดกับเวียดนาม

(3) พลังงานทางเลือก ได้แก่ การผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานทางเลือกและอุปกรณ์ผลิตกระแสไฟฟ้า การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสำรองพลังงานในอุตสาหกรรม โดยเฉพาะห่วงโซ่อุตสาหกรรมต้นและปลายน้ำของพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานนิวเคลียร์ พลังงานชีวมวล และระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (smart grid)

 

(4) วัสดุสมัยใหม่ ได้แก่ วัสดุสำคัญในการผลิตอุปกรณ์ขนส่งระบบราง รถยนต์พลังงานทางเลือก การบินและการเดินเรือ โดยเฉพาะเหล็กกล้าสมัยใหม่ อัลลอยด์ขั้นสูง เส้นใยสังเคราะห์รูปแบบใหม่ วัสดุใหม่จากแร่ rare earth วัสดุแบตเตอรี่พลังงานทางเลือก วัสดุชีวภาพ เป็นต้น

 

(5) การผลิตอุปกรณ์ขั้นสูง ได้แก่ อุปกรณ์ขั้นสูงด้านการขนส่งระบบราง ทะเลและมหาสมุทร อากาศยาน ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ การประยุกต์ใช้ดาวเทียม การพัฒนาเทคโนโลยีแกน (core technology) และการพัฒนาซอฟต์แวร์ของชิ้นส่วนอะไหล่สำคัญในการผลิตอุปกรณ์ขั้นสูง

(6) รถยนต์อัจฉริยะและรถยนต์พลังงานทางเลือก ได้แก่ การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ระบบเซลล์เชื้อเพลิง (fuel cell) และแบตเตอรี่ แท่นชาร์จ สถานีเติมและระบบจ่ายไฮโดรเจน และระบบขับขี่ปลอดภัยด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ (Advanced Driver – Assistance Systems)

 

(7) อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ได้แก่ การพัฒนาห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรแบบครอบคลุม  การพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ด้านการประหยัดพลังงาน ด้านป้องกันและแก้ไขมลพิษ ด้านการบริหารทรัพยากร และอุปกรณ์การตรวจเฝ้าระวังด้านสิ่งแวดล้อม

ทัศนียภาพเมืองหลวงหนานหนิง

(8) นวัตกรรมดิจิทัลและการบริการสมัยใหม่ ได้แก่ การผลิตอุปกรณ์เทคโนโลยีนวัตกรรมดิจิทัลและการบริการด้านนวัตกรรมดิจิทัล การบริการด้านดิจิทัลดีไซน์ และกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ทางดิจิทัล เช่น หอสมุดดิจิทัล หอวัฒนธรรมดิจิทัล พิพิธภัณฑ์ดิจิทัล เป็นต้น

 

(9) อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ได้แก่ อุตสาหกรรมทะเลและมหาสมุทร วิศวกรรมชีวภาพ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ (Semiconductor) และปัญญาประดิษฐ์ (AI)

 

ทั้งนี้ นักลงทุนไทย สามารถศึกษาความเป็นไปได้และแสวงหาโอกาสในการเข้าไปมีส่วนร่วมกับห่วงโซ่อุตสาหกรรมเกิดใหม่ของกว่างซี ซึ่งรัฐบาลกว่างซีพร้อมให้การส่งเสริมการลงทุน ทั้งในแง่นโยบาย สิทธิประโยชน์ทางการลงทุน เงินทุน เทคโนโลยี และทรัพยากรบุคคล หรืออาจใช้วิธีการจับคู่ธุรกิจในลักษณะแบ่งงานตามความถนัด เพื่อเร่งพัฒนาศักยภาพและเสริมขีดความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมของสองฝ่ายให้ก้าวหน้าไปพร้อมกัน ซึ่งช่วยให้เกิดการประหยัดต่อขนาด ทั้งยังช่วยให้อุตสาหกรรมสามารถแสวงหาและแลกเปลี่ยนวัตถุดิบ ทรัพยากรและเทคโนโลยีระหว่างกัน ช่วยยกระดับประสิทธิภาพการผลิตและการสร้างมูลค่าเพิ่มให้อุตสาหกรรมได้