ประเทศศรีลังกาเป็น 1 ใน 8 ประเทศที่อยู่ในเอเชียใต้ (อัฟกานิสถาน บังคลาเทศ ภูฎาน อินเดีย มัลดีฟส์ เนปาล ปากีสถาน และศรีลังกา) และอยู่ภายใต้ความร่วมมือ “The South Asian Association for Regional Cooperation : SAARC” ที่รวมไปถึงการทำเขตการค้าเสรีด้วยกัน
ขนาดเศรษฐกิจของศรีลังกาเมื่อเทียบกับอีก 7 ประเทศมีสัดส่วนเพียง 2% (8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ) ของ GDP เอเชียใต้ คิดเป็นอันดับที่ 4 รองจาก อินเดีย (80%) บังคลาเทศ (9%) ปากีสถาน (7%) นอกจากศรีลังกาแล้ว อีกประเทศหนึ่งในเอเชียใต้ที่เป็นข่าวคือ “ปากีสถานยุบสภาเลือกตั้งภายใน 90 วัน”
ศรีลังกามีประชากร 22 ล้านคน เมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ 3 เม.ย.2565 คณะรัฐมนตรีลาออกยกชุดจำนวน 26 คน และ 40 สส. ลาออก ยกเว้นนายโกตาบายา ราชปักษา (Gotabaya Rajapaksa) ประธานาธิบดี และนายมหินทะ ราชปักษา (Mahinda Rajapaksa) นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นพี่ชายไม่ได้ลาออกด้วย
ต่อมาในวันอังคาร์ที่ 5 เม.ย. 2565 ผู้ว่าธนาคารกลางศรีลังกา ก็ลาออก ก่อนหน้านี้มีการประกาศเคอร์ฟิวตั้งแต่วันศุกร์ที่ 1 เม.ย. 2565 เนื่องจากมีการประท้วงหน้าที่พักของประธานาธิบดีจนเกิดจลาจล ตะโกนว่า “Go Home Gota” เกิดอะไรขึ้นกับศรีลังกา
ต้องบอกว่ามีสาเหตุมาจาก “วิกฤติเศรษฐกิจ” และเป็นวิกฤติเศรษฐกิจตั้งแต่ศรีลังกาได้รับเอกราชจากอังกฤษ เมื่อปี 1948 เมื่อต้นเดือนมีนาคม รัฐมนตรีพลังงานประกาศตัดไฟตั้งแต่ 6.30 ชม. ถึง 10 ชม.ต่อวัน รัฐบาลศรีลังกาไม่มีเงินซื้ออาหาร น้ำมัน และยารักษาโรค
ปกติศรีลังกามีไฟฟ้ามาจากพลังงานน้ำ 40% แต่ปัจจุบันน้ำในเขื่อนไม่มีอันเนื่องมาจากภัยแล้ง เด็กนักเรียน อ่านหนังสือด้วยตะเกียง ร้านขายของช้ำใช้ไฟจากแบตเตอรี่รถยนต์ สะพานในโคลัมโบมืดสนิท โรงงานเสื้อผ้าหยุดผลิต (อุตสาหกรรมเสื้อผ้าทำรายได้ 40% ของรายได้ส่งออกของประเทศ เป็นอันดับหนึ่ง ตามด้วยส่งออกชา และยางพารา เสื้อผ้าจ้างงาน 7 แสนคน มีทั้งหมด 300 โรงงานทั้งประเทศ) รถสาธารณะหยุดบริการ (คนต้องคอย 2-3 ชม.) ลูกค้ายกเลิกจองโรงแรม 80% รวมไปถึงโรงพยาบาลหยุดผ่าตัด
สาเหตุวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้มาจาก 1.หนี้ต่างประเทศสูงในเอเชียใต้ ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ศรีลังกาลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้วยการกู้เงินจากต่างประเทศ ปี 2020 ศรีลังกาเป็นหนี้ต่างประเทศทั้งหมด 60 พันล้านเหรียญคิดเป็น 119% ต่อ GDP หรือ 258% ของส่งออก (สูงเป็นอันดับสอง รองจากปากีสถาน) เจ้าหนี้รายใหญ่คือ จีน ADB และญี่ปุ่น (สัดส่วน 10% ของหนี้ต่างประเทศ) ธนาคารโลก (9%) และอินเดีย (2%) ถือว่าเป็นประเทศที่มีหนี้ต่างประเทศสูงเมื่อเทียบกับอีก 7 ประเทศเอเชียใต้ ไม่ว่าจะคิดต่อ GDP ต่อเงินต่างประเทศ ต่ออัตราการขยายตัว “สูงหมด”
การสร้างท่าเรือ “Hambantota” เป็นตัวอย่างของการก่อหนี้ต่างประเทศที่กู้จากประเทศจีน ตามนโยบาย BRI ของจีน ที่อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ Mike Pence เรียกว่า“กับดักหนี้การทูต (debt-trap diplomacy)” เพื่อต้องการสร้างให้เหมือนกับการสร้าง ports of Gwadar ในปากีสถาน และท่าเรือ Chittagong ในบังกลาเทศ
ท่าเรือ Hambantota เริ่มสร้างปี 2008 เปิดใช้ 2010 มูลค่าก่อสร้าง 1.4 พันล้านเหรียญ กู้จีน 1.2 พันล้านเหรียญ มีการเปรียบเทียบว่าเงินกู้จีนคือ “บุหรี่” ท่าเรือ Hambantota เป็นผลของการสูบบุหรี่คือ “มะเร็ง” (Jonathan E. Hillman AUGUST 26, 2021, Reconnecting Asia)
จนถึงปัจจุบันถือว่าท่าเรือไม่คุ้มกับการก่อสร้างเพราะเรือส่วนใหญ่ไปใช้บริการท่าเรือโคลัมโบแทน ซึ่งก็เป็นไปตามผลการศึกษาของแคนาดาเมื่อปี 2003 ที่วิเคราะห์ถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้แก่ การจราจร รายได้ ต้นทุนการก่อสร้าง การดำเนินงาน การเมือง และการเงิน
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลศรีลังกาก็กู้เงินจาก Exim Bank ของจีนด้วยอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 2 - 8.5% ขึ้นกับแต่ละช่วงของการกู้ เมื่อสร้างเสร็จท่าเรือก็ไม่สามารถทำเงินได้ ทำให้ต้องให้บริษัทจีน China Merchants Port Holdings Company Limited (CM Port) เข้ามาบริหารท่าเรือ 99 ปี ในรูปการถือหุ้น 80% ที่เหลือเป็นท่าเรือศรีลังกา Sri Lanka Ports Authority (SLPA) 30%
2.เศรษฐกิจพึ่งพิงอินเดียและจีนมากเกินไป ทั้งสองประเทศเป็นทั้งคู่ค้า FDI นักท่องเที่ยว และเงินช่วยเหลือหลักของศรีลังกา โดยรายได้ของประเทศมาจาก เสื้อผ้า ชา ยางพารา ประมง และท่องเที่ยว สินค้านำเข้า น้ำมัน เครื่องจักร รถยนต์ เหล็ก เครื่องใช้ไฟฟ้า นำเข้ามาจาก จีน อินเดีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ช่วงโควิดที่ผ่านการส่งออกลดลง นักท่องเที่ยวไม่มา ส่งผลต่อรายได้เข้าประเทศทันที
3. ขาดดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 2018-2022 ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศลดลงจาก 9.9 พันล้านเหรียญ เหลือ 2 พันล้านเหรียญ หรือลดลงไป 80% ทำให้ไม่มีดอลลาร์ไปซื้อสินค้าจำเป็นทั้งน้ำมัน อาหาร และยารักษาโรค และไม่มีเงินใช้หนี้ที่ปีนี้ต้องจ่ายเจ้าหนี้ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
4.นโยบายผลิตเกษตรออร์แกนิคผิดพลาด ประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา ผลักดันแผนพัฒนาเกษตรกรรมออร์แกนิค 10 ปี เพื่อผลิตสินค้าออร์แกนิคและปลอดสารพิษ 100% และลดการนำเข้าปุ๋ยเคมีปีละ 1.5 ล้านตัน มูลค่าหมื่นล้านบาท (ไทยนำเข้าปีละ 5 ล้านตัน มูลค่า 5 หมื่นล้านบาท)
อย่างไรก็ตามเกษตรกร 2 ล้านครัวเรือนยังไม่พร้อมในการเปลี่ยนแปลง ผลผลิตข้าวลดลงทันที 50% เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศยุโรปกับสหรัฐฯ ในการพัฒนาสินค้าเกษตรปลอดภัย พบว่าศรีลังกายังขาดแรงจูงใจให้เกษตรกรปลูก ขาดการสนับสนุนด้านต้นทุนการผลิต การอบรมยังไม่ครอบคลุม การรับรู้และยอมรับ รัฐบาลเข้าไปเกี่ยวข้องน้อย ขาดช่องทางในการทำตลาดต่างประเทศ และไม่มีการทำตลาดภายใน (“Outlook of Present Organic Agriculture Policies and Future Needs in Sri Lanka”, S.H. Pushpa Malkanthi Sabaragamuwa University of Sri Lanka, 2021)
5. เงินเฟ้อพุ่ง 30% ปี 2020 เงินเฟ้ออยู่ที่ 4.2% ปี 2021 เพิ่มเป็น 4.8% และเดือน มี.ค. 2022 เงินเฟ้อเพิ่ม เป็น 30% แอปเปิลตามท้องถนนเดิมลูกละ 3 บาท ปัจจุบันเพิ่มเป็น 17 บาท/ลูก ทหารต้องเฝ้าปั๊มน้ำมันเพื่อป้องกันการปล้นน้ำมัน ราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 45% (119 รูปีศรีลังกา/ลิตร เป็น 173 รูปีศรีลังกา/ลิตร) ในขณะที่สินค้าจำเป็นอื่นๆ เช่น ข้าว หอม มันฝรั่ง มะนาว เพิ่มขึ้น 50%
6.บริหารประเทศด้วย “ตระกูลราชปักษามา 17 ปี” ตระกูลราชปักษาบริหารประเทศศรีลังกา ถ้านับเฉพาะประธานาธิบดีก็มาตั้งแต่ปี 2005 รัฐบาลปัจจุบันมีนายกรัฐมนตรีอายุ 76 ปี เป็นพี่ชายประธานาธิบดีที่มีอายุ 72 ปี (เคยเป็นประธานาธิบดี 2005-2015) รัฐมนตรีคลัง Basil Rajapaksa ประธานสภาฯ Chamal Rajapaksa และรัฐมนตรีด้าน กม. Namal Rajapaksa และอีกหลายกระทรวง
7.ค่าเงินรูปีศรีลังกาลดลง 50% จาก 200 รูปีศรีลังกา/ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 312 รูปีศรีลังกา/ดอลลาร์สหรัฐฯ ค่าเงินรูปีศรีลังกาที่ลดลงจะยิ่งทำให้สินค้านำเข้าแพงขึ้น
8.โควิดบวกสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซ้ำเติมเศรษฐกิจศรีลังกา วิกฤติเศรษฐกิจศรีลังกาที่เกิดขึ้นนี้ จะเป็นกระจกสะท้อนการบริหารเศรษฐกิจไทยได้อย่างดีมากในหลายเรื่อง ๆ เช่น การพึ่งพิงตลาดต่างประเทศใดตลาดหนึ่งมากเกินไป นโยบายเกษตรออร์แกนิค และจัดการเงินเฟ้อ หวังว่าไทยคงไม่เป็นแบบนั้นครับ