ทั้งนี้ผลการศึกษาจะเน้นความเชื่อมโยงเศรษฐกิจชายแดน ซึ่งผลการศึกษามีหลายประเด็น
แต่บทความนี้ผมขอนำเสนอว่า มี “7 ธุรกิจที่น่าจะมีอนาคตสดใส” ที่สองประเทศควรร่วมมือพัฒนากันในพื้นที่ชายแดน ดังนี้คือ 1.ธุรกิจการค้าออนไลน์ชายแดน ปัจจุบันการค้าส่วนใหญ่ระหว่างไทยกับมาเลเซียเป็นการค้าแบบปกติ คือขนส่งสินค้าผ่านแดนไปมาระหว่างกัน แต่ยังไม่มีการค้าแบบออนไลน์ชายแดนอย่างเต็มรูปแบบ แม้ว่าทั้งสองประเทศจะมีแพลนต์ฟอร์มดังๆ เช่น Lazada เหมือนกันก็ตาม แต่เป็นลักษณะ “ต่างคนต่างทำ” หากธุรกิจหรือคนมาเลเซียบริเวณชายแดนต้องการซื้อสินค้าจากประเทศไทย โดยเฉพาะสินค้าจังหวัดชายแดนไทยผ่านทางออนไลน์ คำสั่งซื้อจะถูกส่งเข้ามาที่กรุงเทพ ซึ่งจะทำให้เสียเวลาและค่าขนส่งเพิ่มขึ้น
ส่วนการซื้อสินค้าผ่านทางโซเซียลมีเดียจากบุคคลบริเวณชายแดนไทยก็ต้องนำสินค้าไทยข้ามไปส่ง และต้องเปิดบัญชีธนาคารของฝั่งมาเลเซียไว้จึงจะโอนเงินได้ ทั้งคนไทยและมาเลเซียหันซื้อสินค้าออนไลน์กันมากขึ้น ฉะนั้นเพื่อให้ธุรกิจการค้าออนไลน์ชายแดนเฟื่องฟู สองประเทศต้องทำคือ 1.การนำแพลตฟอร์มที่มีใช้กันสองประเทศให้เชื่อมต่อกันเป็นแพลต์ฟอร์มชายแดนใหม่ เพื่อให้เกิดความสะดวกในการเลือกซื้อสินค้า และ 2. สร้างคลังสินค้าชายแดนร่วมกันเพื่อจะได้ไม่ต้องไปเอาสินค้ามาจากกรุงเทพ โดยสถานที่ตั้งควรอยู่ที่จังหวัดสงขลาเพราะมีด่านที่มีการค้าสูงและเส้นทางการขนส่งสะดวกที่สุด
2.ธุรกิจค้าส่งค้าปลีกผลไม้และปศุสัตว์ ไทยควรตั้งศูนย์ค้าส่งค้าปลีกผลไม้และปศุสัตว์ในพื้นที่ชายแดนเพื่อกระจายสินค้าต่างๆ สู่ผู้บริโภคชาวมาเลเซีย ทำให้เกิดการซื้อขายโดยตรงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายที่ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง แต่ต้องมีระบบมาตรฐานที่ทันสมัยทั้ง GAP GMP และฮาลาลรวมไปถึงการตรวจสอบย้อนกลับได้ ทำให้สินค้าเกษตรจากภูมิภาคอื่นๆ ของไทย สามารถมาขายได้ที่ศูนย์กลางค้าส่งค้าปลีกที่ภาคใต้
3.ธุรกิจข้าวสุขภาพ มาเลเซียไม่อนุญาตให้นำเข้าข้าวของไทยจากทางบก แต่ให้นำเข้าข้าวได้เฉพาะทางเรือ ทำให้ข้าวไทยต้องใช้เวลาในการขนส่งนานกว่าทางบก ด้วยเหตุผลที่รัฐบาลมาเลเซียมีนโยบายเกษตรและอาหารแห่งชาติ ปี 2554 - 2563 (National Argo-Food Policy 2011-2020) ที่ต้องการเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารเพียงพอสำหรับการบริโภคภายในประเทศแต่สินค้าข้าวควรมาจากภายในประเทศ และเพิ่มสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร รวมไปถึงเพิ่มระดับรายได้ให้แก่เกษตรกร
อย่างไรก็ตามมาเลเซียยังไม่สามารถผลิตข้าวได้เพียงพอกับความต้องการได้ทั้งหมด รวมไปถึงจำนวนร้านอาหารไทยที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการข้าวไทยที่มีคุณภาพและสุขภาพจึงยังมีโอกาขยายตัวได้อีกมาก แต่ไทยต้องเร่งการเจรจาเพื่อให้เกิดโอกาสการจำหน่ายให้มากขึ้น
4.ธุรกิจอาหารแปรรูปฮาลาล ไทยมีความพร้อมด้านวัตถุดิบการเกษตร ผักผลไม้และปศุสัตว์รวมไปถึงการแปรรูป มาเลเซียมีความพร้อมด้านมาตรฐานฮาลาล และตลาดมาเลเซียก็มีกำลังซื้อสูง บริเวณชายแดนทั้งสองประเทศต้องร่วมลงทุนธุรกิจอาหารแปรรูปฮาลาลร่วมกันเพื่อส่งออกไปทั้งมาเลเซียและตลาดตะวันออกกลาง โดยให้มีการลงทุนในเขตอุตสาหกรรมทั้งสองประเทศ ได้แก่ เนื้อสัตว์แปรรูป อาหารทะเลแปรรูป ผักและผลไม้แปรรูป
5.ธุรกิจยางและผลิตภัณฑ์ ไทยมีวัตถุดิบยางพารา มาเลเซียมีความพร้อมด้านการแปรรูป แม้ว่าจะมีโครการ Rubber City ของทั้งสองประเทศตรงชายแดนก็ตาม แต่ความร่วมมือยังมีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น มาเลเซียซื้อวัตถุดิบน้ำยางข้นไทยเพื่อไปผลิตถุงมือยาง แต่ยังมีอีกหลายผลิตภัณฑ์ยางที่ไทยและมาเลเซียต้องร่วมกันพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มของยางให้มากกว่านี้ รวมไปถึงด้านนวัตกรรมยางพาราชายแดน และต้นแบบผลิตภัณฑ์ยางพาราชายแดนร่วมกัน
6.ธุรกิจการขนส่งเพื่อรายย่อย เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการรายย่อยสามารถส่งสินค้าข้ามแดนไทย-มาเลเซียได้ง่าย โดยให้ผู้ให้บริการ อย่างไปรษณีย์ไทย หรือผู้ขนส่งเอกชน เช่น J&T Express, KERRY สามารถส่งสินค้าจากพื้นที่ชายแดนไปยังผู้รับได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านไปยังเมืองหลวงของแต่ละประเทศหรือจุดรวมสินค้าอื่นๆ ที่อยู่ห่างออกไป เพื่อขยายโอกาสการค้าสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย หรือ การค้าออนไลน์ โดยการบันทึกข้อตกลงร่วมกันของไทยและมาเลเซีย
7.ธุรกิจเขตอุตสาหกรรม โดย 5 รัฐตอนเหนือมาเลเซียมีระเบียงเศรษฐกิจใหญ่ คือ
1.East Coast Economic Region (ECER) เป้าหมายต้องการเป็น “ภูมิภาคแห่งศักยภาพอุตสาหกรรม” ครอบคลุมรัฐกลันตัน ตรังกานู และปาหัง คิดเป็น 51% ของพื้นที่เพนนินซูลา เน้นอุตสาหกรรมเกษตร การศึกษา อุตสาหกรรม น้ำมัน แก็ส ปิโตรเคมีและท่องเที่ยว
2.Northern Corridor Economic Region (NCER) เป้าหมายเป็น “ภูมิภาคเศรษฐกิจระดับเวิรด์คลาส” ประกอบด้วยรัฐปะริส ปีนัง เคดะห์ และเประก์ เน้นเกษตร พัฒนาบุคคลกร อุตสาหกรรม และท่องเที่ยว มีโครงการเมืองยางพาราเรียกว่า “Kota Putra Rubber City : หรือ “South East Asia First Rubber Industrial Hub” ในรัฐเคดะห์ ห่างจากหาดใหญ่ 89 กม. ซึ่งเจ้าของโครงการคือ บริษัท Tradewinds Plantation Bhd : TPB หรือ TWS ที่เป็นหนึ่งในบริษัทอุตสาหกรรมการเกษตรรายใหญ่ของมาเลเซีย ทำทั้งปาล์มน้ำมันและยางพาราครบวงจร ซึ่งผ่านทางบริษัทลูกที่มีความชำนาญเรื่องยางพาราครบวงจรที่ชื่อว่า “MARDEC” มีการตั้งเป้าหมายรัฐเคดาห์ เป็น “อุตสาหกรรม 4.0 ของมาเลเซีย” แต่ยังไม่มีการเชื่อมโยงกับเขตอุตสาหกรรมชายแดนที่อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลาเท่าที่ควร
ทั้ง 7 ธุรกิจล้วนมีโอกาสในอนาคตบริเวณชายแดนไทย-มาเลเซีย แต่ต้องร่วมมือกันพัฒนาในประเด็นที่ยังเป็นอุปสรรคครับ