ขณะที่คนไทยกำลังเดินทางกลับบ้านและฉลองเทศกาลสงกรานต์ สี จิ้นผิง และคณะผู้บริหารระดับสูงของจีน ได้เดินทางไปตรวจความคืบหน้าในการดำเนินงานและมอบนโยบายชุดใหม่ในการพัฒนามณฑลไห่หนาน (Hainan) ในช่วงระหว่างวันที่ 10-13 เมษายน ที่ผ่านมา
แม้ว่าจะโดนข่าวการล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้จากเหตุการระบาดของโควิด-19 กลบอยู่เกือบหมด แต่การที่ผู้นำจีนเยือนไห่หนานเป็นครั้งแรกนับแต่เดือนเมษายน 2018 และให้เวลาถึง 4 วันในการลงพื้นที่เช่นนี้ย่อมตอกย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาเกาะใหญ่ของจีนแห่งนี้ ไห่หนานจะเติบโตในทิศทางไหน อย่างไร และจะเกิดเป็นรูปธรรมเมื่อไหร่กัน ล้วนเป็นประเด็นที่น่าจับตามอง ...
ไห่หนาน หรือที่บ้านเราเรียกว่า “ไหหลำ” มีสภาพภูมิประเทศเป็นเกาะรูปคล้ายผลสาลี่ที่ตั้งอยู่ทางใต้สุดของจีน และมีพื้นที่โดยรวมในอันดับต้นๆ ของจีน โดยมีขนาดใหญ่กว่าฮ่องกงราว 30 เท่า กว่า 45 เท่าของสิงคโปร์ และ 60 เท่าของเกาะภูเก็ต
ในเชิงประชากรศาสตร์ ไห่หนาน มีจำนวนประชากรราว 9 ล้านคน ถือว่ามีจำนวนประชากรน้อยเมื่อเทียบกับมณฑลอื่นของจีน แต่ก็มีความหลากหลายของชนกลุ่มน้อยค่อนข้างสูง
แม้ว่าคนไทยส่วนใหญ่รู้จักไห่หนานไม่มากนัก แต่ก็อาจซึมซับวัฒนธรรมของไห่หนานโดยไม่รู้ตัว คนไทยเชื้อสายจีนที่มีชื่อเสียงหลายตระกูลในไทยก็มีบรรพบุรุษเป็นชาวไหหลำ และอาหารหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ข้าวมันไก่” ที่เลื่องชื่อก็มีพื้นเพมาจากเกาะแห่งนี้
ในด้านการปกครอง ไห่หนานเคยเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลกวางตุ้ง (Guangdong) ในอดีต และได้รับการยกระดับเป็นมณฑลในหลายปีต่อมา พื้นที่ไห่หนานในยุคนั้นมีระดับการพัฒนาที่ล้าหลังเมื่อเทียบกับพื้นที่ในซีกตะวันออกของจีน ผู้คนในพื้นที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวอยู่ในกลุ่มล่าง จนบางส่วนมองว่าเป็น “ภาระ” ทางเศรษฐกิจของจีน
แต่รัฐบาลจีน “มองต่าง” และ “ไม่นิ่งดูดาย” โดยพยายามลดความเหลื่อมล้ำด้วยการดำเนินนโยบาย “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” (Special Economic Zone) จัดสรรทรัพยากรเพื่อเดินหน้าโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกมาโดยลำดับ ดั่งคำกล่าวที่ว่า “ถนนถึงไหน ความเจริญถึงที่นั่น” จึงเห็นการลงทุนก่อสร้างโครงข่ายทางด่วนและรถไฟความเร็วสูงรอบเกาะเพื่อเชื่อมหัวเมืองสำคัญเข้าด้วยกัน
สี จิ้นผิง ยังใช้โอกาสในการเยือนไห่หนานในช่วงกลางเดือนเมษายน ที่ผ่านมานี้ในการเป็นประธานงานฉลอง 3 ทศวรรษของการก่อตั้งเป็นมณฑลและการจัดตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษของไห่หนาน
ต่อมา รัฐบาลได้สานต่อแนวคิดในการพัฒนาไห่หนานเป็นแหล่งท่องเที่ยวและสวรรค์ของนักช้อปปิ้ง ภายใต้ 4S อันได้แก่ Sea, Sand, Sunshine และ Shopping โดยยกระดับในเชิงรุกเพื่อสนับสนุนนโยบายการพัฒนาเชิงคุณภาพสูงของรัฐบาลกลาง และช่วยให้พื้นที่เจริญรุดหน้าในระยะยาว
และที่สร้างความฮือฮามากที่สุดก็ได้แก่ การประกาศให้ไห่หนานเป็นพื้นที่นำร่องพิเศษ “ท่าเรือการค้าเสรีไห่หนาน (Hainan Free Trade Port) เมื่อปี 2018 คล้ายกับนโยบาย “เขตเสรีทางการค้า” (Free Trade Zone) ที่เริ่มต้นนำร่องเมื่อปี 2013
ในเดือนมิถุนายน 2020 ทางการจีนได้เปิดเผยแผนแม่บทการพัฒนา FTP ไห่หนาน โดยมุ่งเน้นให้เกิดการเปิดเสรีและอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนพื้นฐานขึ้นภายในปี 2025 และเติบโตมากขึ้นในปี 2035
กฎหมายที่เกี่ยวข้องได้ถูกตราขึ้นในปีต่อมา และขยายวงเพิ่มขึ้น ครอบคลุมเงื่อนไขการค้าและการลงทุน การเคลื่อนย้ายเข้าออกของเงินทุน และการขนส่ง รวมทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศ หลังจากนั้น การซื้อขายสินค้าปลอดอากรก็เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงมาก
ภายใต้แนวคิดของ FTP รัฐบาลจีนได้กำหนดแนวทางการพัฒนาไห่หนานทั้งระบบนิเวศรวม 11 ด้านที่ครอบคลุมตั้งแต่ด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรมไฮเทค และบริการสมัยใหม่ อาทิ การเป็นแหล่งพักตากอากาศของนักท่องเที่ยว สวรรค์ของนักช้อป ศูนย์รักษาพยาบาลและสุขภาพ และศูนย์กลางการขนถ่ายสินค้าระหว่างประเทศ โดยมุ่งหวังให้ “ความฝัน” ในทุกมิติดังกล่าวเกิดเป็นรูปธรรมภายในปี 2050
โดยที่ไห่หนานมีจุดแข็งในด้านสภาพอากาศ และทำเลที่ตั้ง ทำให้มีความได้เปรียบด้านเกษตรกรรมอยู่เป็นทุนเดิม รัฐบาลจีนจึงต้องการใช้ประโยชน์เพื่อสนองตอบความพยายามในการเพิ่มระดับความมั่นคงด้านอาหาร และต่อยอดไปสู่ “เกษตรกรรมแห่งโลกอนาคต” อาทิ เครดิตสีเขียวและและการเทรดการปลดปล่อยคาร์บอน
เราเห็นการส่งเสริมโครงการวิจัยและพัฒนาด้านเกษตรสมัยใหม่ในพื้นที่ ยกตัวอย่างเช่น ศูนย์วิทยาศาสตร์และการวิจัยพันธุ์พืชหนานฝาน (Nanfan Scientific and Research Breeding Base) ภายใต้ Chinese Academy of Agricultural Sciences ที่เปิดตัวที่เมืองซานย่า (Sanya) เมื่อกลางปีที่ผ่านมา ศูนย์ฯ แห่งนี้เป็นเวทีระดับชาติด้านการวิจัย และการเพาะเมล็ดสำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรกรรมของจีน
โดยที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนงบวิจัยและทรัพยากรมนุษย์ชั้นหัวกระทิเป็นจำนวนมาก รวมทั้งยังออกแบบให้บูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นในพื้นที่ โดยมุ่งหวังที่จะพัฒนาให้ศูนย์ฯ แห่งนี้ ให้เป็น “ซิลิคอนวัลเลย์ด้านการเกษตร” ระดับโลกในอนาคต
ในส่วนของภาคอุตสาหกรรม จีนพยายามผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตัล (Digital Economy) และห่วงโซ่อุตสาหกรรมวัสดุใหม่จากปิโตรเคมี และยาชีวภาพ ควบคู่ไปกับอุตสาหกรรมสีเขียวและนวัตกรรม อาทิ ยานยนต์พลังงานสะอาด
ก่อนที่เราจะคุยลึกลงไป คำถามสำคัญที่ผุดขึ้นตามมาก็คือ ในหลักการ Free Trade Zone และ Free Trade Port มีความเหมือนความแตกต่างกันอย่างไร และ FTP ไห่หนานมีความแตกต่างจาก FTP อื่นหรือไม่ อย่างไร เราไปคุยกันต่อตอนหน้าครับ ...
เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน
หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,778 วันที่ 28 - 30 เมษายน พ.ศ. 2565