การก้าวสู่ “บันไดขั้นแรก” ปรากฏให้เห็นชัดเจนขึ้น เมื่อรัสเซียเข้ายึดคาบสมุทรไครเมียทางตอนใต้ในปี 2014 เพื่อหวังปิดทางออกสู่ทะเลดำของยูเครน และนำไปสู่การตัดความสัมพันธ์ทางการทูต และการกระทบกระทั่งระหว่างยูเครนและรัสเซียที่มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในเวลาต่อมา
สถานการณ์เศรษฐกิจของรัสเซียที่ดีขึ้นในช่วงหลัง ทำให้เกิดความพร้อม รัสเซียมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศถึง 600,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานจนอยู่ในสภาพที่ดี และล่อเหยื่อให้ชาติในยุโรป “เสพติด” พึ่งพาสินค้าของรัสเซียจนยากจะถอนตัวได้ง่าย โดยเฉพาะน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และสินค้าเกษตร
เมื่อสถานการณ์สุกงอม รัสเซียจึงต้องการขยายวงการปิดล้อมซีกตะวันออกของยูเครนให้เกิดเป็นรูปธรรมและยั่งยืน โดยการพยายามผนวกภูมิภาคดอนบาสเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ข้อมูลลับของค่ายตะวันตกระบุว่า รัสเซียสั่งสมกองกำลังและอาวุธยุทโธปกรณ์ในบริเวณตะเข็บชายแดนรัสเซีย-ยูเครน เพิ่มขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
และเพื่อให้มีเหตุผลรองรับมากพอ สภาผู้แทนราษฎรของรัสเซีย ก็ผ่านการรับรองสถานะการเป็นรัฐอิสระของดอนบาส เพียงราวหนึ่งสัปดาห์ก่อนการเคลื่อน “กองกำลังรักษาสันติภาพ” (ที่รัสเซียเรียก) เข้าสู่พื้นที่เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา
แม้กระทั่ง เซเลนสกี ที่ก้าวเข้าสู่ทำเนียบประธานาธิบดีสมัยแรก เมื่อราว 3 ปีก่อน ก็ไม่เชื่อในคำเตือนของชาติตะวันตก และคิดอยู่เสมอว่ารัสเซียจะไม่กล้าบุกยูเครน หรืออาจกำลังหลงใน “คำหวาน” ของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรที่พร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่
นักวิเคราะห์มองว่า นอกจากด้านซีกตะวันออกแล้ว รัสเซียวางแผนยึดพื้นที่ทางตอนใต้ของยูเครนอีกด้วย อาทิ แนวเมืองมาริอูโปลากยาวไปถึงเมืองเคอร์สัน และ โอเดสซ่า และจะเชื่อมต่อเข้ากับคาบสมุทรไครเมีย และดินแดน ทรานส์นิสเตรีย ซึ่งทำให้ยูเครนถูกปิดล้อมในเชิงภูมิศาสตร์เกือบสมบูรณ์นั่นเอง
เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและยั่งยืน รัสเซียได้เร่งเปลี่ยนสภาพในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรมในทันที โดยในเมืองที่อยู่ภายใต้การควบคุมดังกล่าว รัสเซียได้กำหนดให้คนท้องถิ่นใช้หนังสือเดินทางของรัสเซีย ใช้รูเบิ้ลเป็นเงินสกุลท้องถิ่น และใช้ภาษารัสเซียเป็นภาษาหลักในสถาบันการศึกษา
ทำไมโลกปล่อยให้สงครามยืดเยื้อ ทั้งนี้ หลายฝ่ายได้พยายามเรียกร้องให้รัสเซียและยูเครน ยุติศึกและเข้าสู่โต๊ะเจรจาในระยะแรกของสงคราม ยูเอ็นและนาโต้ก็เรียกประชุมฉุกเฉินเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ ขณะเดียวกัน หลายชาติ อาทิ จีน ฝรั่งเศส ตุรกี อินเดีย อิสราเอล และ แอฟริกาใต้ ต่างได้รับการเสนอชื่อให้ทำหน้าที่เป็น “คนกลาง” ในการเจรจา
ผมจำได้ว่า ในห้วงนั้น จีนแสดงจุดยืนชัดเจนที่ต้องการให้ทุกฝ่ายร่วมกันลดอุณหภูมิของความขัดแย้ง ด้วยการ “ถอนฟืนออกจากกองไฟ” และหารือเกี่ยวกับการจัดระเบียบสังคมโลกที่ดีกว่า ซึ่งสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรก็ปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าว
แต่คงเป็นเพราะความไม่สมประโยชน์ของแต่ละฝ่าย อาทิ ค่ายตะวันตกก็ไม่มั่นใจว่า หากยุติการเจรจาในครั้งนี้สำเร็จ ก็ไม่มีอะไรรับประกันว่า เหตุการณ์เช่นนี้จะไม่เกิดขึ้น และอาจลุกลามไปสู่พื้นที่อื่นในยุโรปในอนาคต ขณะที่รัสเซียเองก็ต้องยึดครองจุดยุทธศาสตร์ให้ได้ก่อนเข้าสู่โต๊ะเจรจาเพื่อให้มีอำนาจการต่อรองที่ดี
เมื่อสอบถามถึงเหตุผลว่า ทำไมกองทัพรัสเซียใช้เวลา “เผด็จศึก” มากกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ ผู้เชี่ยวชาญคนดังกล่าวให้ข้อคิดเห็นว่า สาเหตุหนึ่งก็เพราะรัสเซียมิได้มีกองกำลังของทหารอาชีพมากนัก จึงต้องใช้ทหารเกณฑ์ในสัดส่วนค่อนข้างสูง
เมื่อเคลื่อนพลเข้ายึดครองในแนวราบ ทหารรัสเซียจำนวนมากที่ไม่ได้รับการฝึกฝนยุทธวิธีการรบที่ดีพอ และไม่คุ้นชินกับสมรภูมิในเขตเมือง ก็ถูกซุ่มยิงโดยทหารอาชีพของยูเครน และทหารรับจ้าง ทำให้กองทัพรัสเซียต้องถอนตัวออกจากพื้นที่อ่อนไหว และเติมกองกำลังเข้ามาเสริมเป็นระยะ
การสนับสนุนของชาติตะวันตกก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง และยิ่งเวลาผ่านไป ทหารยูเครน ก็จะมีเวลาฝึกฝนอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ชาติตะวันตกจัดส่งให้มากขึ้น นอกจากนี้ สภาพอากาศที่หนาวเย็นในไม่กี่เดือนข้างหน้า ก็อาจทำให้การเข้ายึดพื้นที่ยุทธศาสตร์ของรัสเซียลำบากมากขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึงสงครามที่ยืดเยื้อยาวนาน ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ทิ้งท้ายไว้
รัสเซียและยูเครนสำคัญอย่างไร ทำไมสงครามรัสเซีย-ยูเครนจึงก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง คราวหน้าเราจะขยับไปพูดคุยถึงประเด็นผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจกันครับ ...
เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาด และอื่น ๆ ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน
หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,797 วันที่ 3- 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2565