เมื่อติดต่อ“ธนาคาร” ข้อมูลนั้นสำคัญไฉน

07 พ.ค. 2566 | 02:30 น.

เมื่อติดต่อ“ธนาคาร” ข้อมูลนั้นสำคัญไฉน : คอลัมน์เรื่องเงินเรื่องง่าย โดย...นายธนาคาร หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3485

ลูกค้าหลายท่านที่เคยขอวงเงินกู้จากธนาคาร จะทราบดีว่า ธนาคารจะต้องใช้ข้อมูลเพื่อประกอบการทำวงเงิน ถ้าขอแค่งบการเงินและรายการการเดินบัญชี หรือ Bank Statements ก็แล้วไป เพราะส่วนใหญ่นึกออกอยู่แล้วว่า ต้องหามาจากไหนให้ 

แต่ถ้าขออะไรมากกว่านั้น เช่น ประมาณการรายได้ในอนาคตแบบละเอียดสุดๆ ประเภทต้องใช้ spreadsheet กันเลยนั้น กลุ่มลูกค้า SME อาจจะมึนได้ เพราะต้องสร้างขึ้นมาใหม่เอง 

 

แค่งบการเงินปัจจุบันของตัวเองยังไม่ค่อยจะรู้ลึกซึ้งเลย เจอแบบนี้กว่าจะได้วงเงินกัน คงลากกันเกินครึ่งปี พอได้วงเงินก็อาจจะสายไป แล้วโอกาสทางธุรกิจมันไม่รอใคร นี่แหละครับกรรมของ SME ชอบถูกเอาไปวัดมาตรฐานกับลูกค้าขนาดใหญ่ตลอด

เวลาแข่งกีฬาเขายังมี แต้มต่อ หรือ Handicap มวยต่อยกันเค้าก็ไม่เอาน้ำหนักที่หนักกว่ามาต่อยกับคนน้ำหนักน้อย แต่ SME ไทยเจอมาตรฐานเดียวแบบ one size fit all ตลอด

Trick ง่ายๆ นะครับ แบงก์ต้องช่วยลูกค้าจัดข้อมูล ทำเป็นตาราง หรือ checklist แล้วเอาข้อมูลดิบมาวิเคราะห์ หรือ จัดทำประมาณการรายได้ให้ลูกค้า ลูกค้าเองก็ต้องเอ่ยปากบอกกับแบงก์นะครับ เพราะผมมีข้อมูลดิบๆ ผมไม่รู้จะเอาให้แบงก์ยังไง 

แบงก์เองก็อย่าขี้เกียจ เดี๋ยวนี้เป้าสินเชื่อไม่เยอะ ส่วนใหญ่เน้นขายพ่วงลูกค้ารายไหนไม่ซื้อผลิตภัณฑ์ขายพ่วง ตระกูลประกัน เงินฝาก ก็ไม่อยากทำงานให้เขา 

สิ่งเหล่านี้แหละครับ ที่ทำให้วงการธนาคารไทย ไม่เจริญ เศรษฐกิจไทยก็เจริญช้าตามไปด้วย

ยิ่งลูกค้ารายเล็กๆ ขอข้อมูลเยอะมากอย่าง กับ ขอวงเงินหลายพันล้าน หลักประกันก็จะเอา ค้ำประกันส่วนบุคคลก็จะเอา

ผมมีประสบการณ์ครับกับผู้ตรวจสอบของแบงก์ชาติ เข้ามาตรวจแล้วถามว่า ทำไมเรามีสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้นเยอะ ผมถามกลับไปว่า สินทรัพย์เสี่ยงหมายถึงอะไร เค้าตอบกลับมาว่า ลูกค้าธุรกิจขนาดเล็กไง 

                        เมื่อติดต่อ“ธนาคาร” ข้อมูลนั้นสำคัญไฉน

ผมถามกลับไปอีกว่า แล้วรู้ได้ไงว่า ลูกค้าขนาดใหญ่ไม่เสี่ยง รู้ได้ยังไงว่าลูกค้าขนาดใหญ่ไม่เจ๊ง ถ้าผู้คุมกฎคิดแบบนี้เศรษฐกิจไทยไม่ต้องไปไหนครับธนาคารคงไปปล่อยแต่สินทรัพย์เสี่ยงน้อย ประเทศไม่ต้องไปไหนกัน 

เป็นผู้คุมกฎนะครับไม่ใช่ผู้ชี้นำ ท่านชี้นำแบบนี้ ประเทศของท่านถึงรวยกระจุกจนกระจาย ไม่รู้ท่านผู้นำประเทศทราบไหมว่า มีการชี้นำแบบนี้ ฝากรัฐบาลใหม่ไม่ว่าหน้าเก่า หรือ หน้าใหม่นะครับ ดูตรงนี้ที

ตัวอย่างของสินทรัพย์เสี่ยงน้อยคือ STARK ที่อยู่ใน SET50 แต่กลายเป็นหนี้เสีย แบบที่ธนาคารที่ให้เงินกู้ยังต้องอ้าปากค้าง ตั้งสำรองกันระเบิดเถิดเทิง หุ้นธนาคารร่วงระนาว 

คนที่ต้องอ้าปากค้างอีกคือ ผู้สอบบัญชีระดับโลก ก.ล.ต. และ แบงก์ชาติ ไหนบอกข้อมูลปึก ไหนบอกสินทรัพย์เสี่ยงน้อยระดับบริษัท SET50 จู่ๆไม่ส่งงบการเงินซะงั้น หุ้นก็ถูกระงับการซื้อขายไปแบบงงๆ นักลงทุนระดับเทพและระดับเม่าก็ติดอยู่ในดอยเดียวกันไปเลย 

สุดยอดจริงๆ เกินคำบรรยาย อย่าบอกว่าอันไหนเสี่ยงมากเสี่ยงน้อยครับทุกอย่างเป็นไปตามเนื้อผ้าจะดีกว่า ไม่รู้ป่านนี้หาเจอ หรือยังว่า สินทรัพย์เสี่ยงน้อยเกิดปัญหาได้ยังไง

ไว้มาเล่าให้ฟังต่อครับ