ช่วย SMEs จริงๆ ทำอย่างไร

19 เม.ย. 2566 | 04:57 น.
อัปเดตล่าสุด :19 เม.ย. 2566 | 05:18 น.

ช่วย SMEs จริงๆ ทำอย่างไร : คอลัมน์เรื่องเงินเรื่องง่าย โดย..นายธนาคาร หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3880 หน้า 6

ช่วงนี้ใกล้เลือกตั้ง ได้มีโอกาสฟังนโยบายหลายๆ พรรคการเมือง ถือว่าเป็นสีสัน ขอออกตัวก่อนว่าขอไม่แบ่งสีแบ่งฝ่ายนะครับ เอาเรื่องนโยบายล้วนๆ 

บางพรรคการเมืองบอกว่าจะยกเลิกแบล็คลิสต์เครดิตบูโร ไม่แน่ใจว่าจะทำได้จริงแค่ไหน เพราะว่าประวัติการผ่อนเงินกู้ ถือว่าเป็นส่วนสำคัญในการพิจารณาสินเชื่อ เพราะเป็นตัวที่ชี้วัดว่าสินเชื่อปัจจุบันของลูกค้ารายนั้นนั้นยังดีอยู่หรือไม่ 

การที่ไม่มีประวัติเครดิตบูโร จะยิ่งทำให้ธนาคารตัดสินใจไม่ได้ และทำให้ลูกหนี้ที่มีประวัติดี เสียโอกาสการได้รับวงเงินไปด้วย จริงๆ มันต้องแก้ที่การให้วงเงินตั้งแต่แรกว่าเหมาะสมหรือไม่ 

ลองคิดดูนะครับ ธนาคารพิจารณาวงเงินตอนนั้น สถานการณ์ลูกหนี้อาจจะยังดีอยู่ แต่พอเจอวิกฤติไม่ว่าอะไรก็ตามลูกหนี้ผ่อนไม่ได้ หรือ ชำระเงินคืนไม่ได้ตามกำหนด ธนาคารที่ให้เงินกู้ตั้งแต่แรก มีความรับผิดชอบต้องแก้ปัญหาทำตารางผ่อนชำระใหม่ ไม่ใช่ทำนิสัยช่างมันปล่อยไหลไปเราจะกลับบ้าน 

ลองคิดดูนะครับ 2-3 ชั่วโมง ทำงานของท่านเพื่อช่วยลูกค้า แลกกับธุรกิจที่เขาใช้เวลาสร้างมาทั้งชีวิต ทุกคนมันเห็นแก่ตัวแล้วครับ แต่มันไม่เคยยอมรับ มันผิดที่กฎหมายไม่ช่วยลูกหนี้ครับ

ธนาคารไม่พยายามอย่างดีที่สุดเพื่อช่วยลูกหนี้ และลูกหนี้เองก็ไม่มีโอกาสที่จะร้องขอความช่วยเหลือจากคนอื่น หรือ จาก regulator

หลายพรรคบอกจะ แก้จน แก้หนี้ พักหนี้ แจกเบี้ย ผมถามเถอะครับว่าจะเอาเงินจากไหน แค่นี้รัฐก็ต้องกู้เงินมาไม่รู้เท่าไหร่แล้ว ควรจะมาหาวิธีว่าทำยังไงให้รัฐมีรายได้มากขึ้น เพื่อเอารายได้มาพัฒนาประเทศ

โชว์ก่อนว่าหาเงินยังไง ไม่ใช่มาโชว์ว่าจะใช้เงินยังไง ใช้เงินมันง่ายครับ ใครพูดอะไรก็ได้ แต่ถึงเวลามีเงินจะทำหรือเปล่า

                             ช่วย SMEs จริงๆ ทำอย่างไร

รายได้รัฐทางหลักมาจากการเก็บภาษีของสรรพากร ถ้ายิ่งมีประสิทธิผลการผลิตมาก มีการใช้จ่ายในประเทศมาก ยิ่งเก็บภาษีได้เยอะ ยิ่งมีรายได้มากแต่ที่ผ่านมามันไม่เป็นอย่างนั้น คนไม่เข้าระบบบ้างอะไรบ้าง เศรษฐกิจอยู่กับที่ไม่ไปไหนบ้าง รัฐจะมีรายได้มากขึ้นยังไง รายได้ไม่มากขึ้น แต่หาเสียงว่าจะใช้เงินแบบสายเปย์ มันทำจริงได้หรอครับ

วันก่อนฟัง หัวหน้าพรรคหนึ่งพูดถึงเรื่อง เอสเอ็มอี ว่า จะช่วยเอสเอ็มอียังไง มีข้อมูลน่าตกใจครับ 2 ปี ที่ผ่านมา การปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอีไม่เพิ่มขึ้นเลย แต่การปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้าธุรกิจรายใหญ่กับเพิ่มขึ้นถึง 10% 

ในยามลำบากในยามวิกฤตความเหลื่อมล้ำระหว่าง เอสเอ็มอี กับ ธุรกิจขนาดใหญ่ยิ่งถูกถ่างมากขึ้น อีกหน่อยใครมีลูกมีหลานคงไม่มีทางเลือกให้ไปเป็นลูกจ้างบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น ธุรกิจที่สร้างมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายอากงอาม่าคงไม่ได้ทำหรอก เพราะธนาคารไม่ให้การสนับสนุนทางการเงิน มัวแต่ห่วงว่าจะเป็นหนี้เสีย

ไม่เท่านั้นนะครับ ดอกเบี้ยที่ปล่อยเงินกู้ของเอสเอ็มอี ยังสูงกว่าธุรกิจขนาดใหญ่เยอะมาก แถมเพราะเอสเอ็มอีเกิดปัญหาก็ไปคิดดอกเบี้ยปรับ ทำโทษเขาซ้ำเข้าไปอีก แบบนี้ไม่มีวันได้เกิดครับ 

ต้องออกกฎหมายครับว่า ธนาคารที่ปล่อยเงินกู้ให้กับลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่รายได้ส่วนนั้นต้องโดนภาษี 35% แต่ถ้ารายได้ที่เกิดจากการปล่อยสินเชื่อลูกค้าเอสเอ็มอี ให้โดนภาษีแค่ 10% 

นโยบายลักษณะนี้จะช่วยให้ธนาคารจำเป็นต้องปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกค้าธุรกิจขนาดย่อมมากขึ้น เราจำเป็นต้องสร้างที่ฝรั่งเขาเรียกว่า fair playing field ครับ ซึ่งผมยังไม่เห็นว่าพรรคการเมืองไหนเสนอเรื่องนี้

ไว้มาเล่าให้ฟังต่อครับ