ปรากฏการณ์ที่เห็นอยู่ขณะนี้เกี่ยวกับนโยบายหลัก ที่แต่ละพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคร่วมรัฐบาลที่หาเสียงก่อนจัดตั้งรัฐบาล เพื่อหวังเสียงโหวตทางการเมืองช่วงก่อนจัดตั้งรัฐบาล จนถึง ปรับ ครม.เศรษฐา 2 ยังไม่เห็นความคืบหน้า เพราะแต่ละพรรคร่วมรัฐบาลเตะขากันเอง
หลังผ่านมา 9 เดือนเริ่มเห็นรอยปริร้าวที่ชัดเจน เช่น ประเด็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ที่มาจากพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ที่ลาออกหลัง ปรับ ครม. ได้ไม่กี่วัน อ้างว่างานที่รับผิดชอบไม่สมศักดิ์ศรี ตามด้วย นายกรัฐมนตรี เตรียมถอนกัญชาเสรี ซึ่งเป็นกล่องดวงใจของพรรคภูมิใจไทยให้กลับมาเป็นยาเสพติดเหมือนเดิม ส่งผลให้หัวหน้าพรรคซึ่งปกติ “อยู่เป็น” ออกอาการไม่พอใจเหมือนถูกหักหลัง
ขณะที่นโยบาย “ดิจิทัลวอลเล็ต” ซึ่งเป็นนโยบายเรืองธงของพรรคเพื่อไทยช่วงหาเสียงเลือกตั้ง มีประชากรกว่า 50 ล้านคนรอลุ้นโครงการใช้เงินกว่าห้าแสนล้านบาท การขับเคลื่อนออกอาการมาตั้งแต่ต้น เกี่ยวกับที่มาของเงิน มีการโยกแหล่งที่มาของงบประมาณ รวมถึงการดึงเงินของสถาบันการเงินของรัฐ (ธกส.) ทำให้มีประเด็นอาจถูกสอยเช็คบิลภายหลัง
แม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลต่างแบ่งรับแบ่งสู้ในการสนับสนุน โดยอ้างว่าเห็นด้วยกับโครงการแต่ต้องถูกกฎหมาย ที่ไม่ค่อยกล่าวกันตรงๆ หากคิดแบบชาวบ้านนโยบายนี้ขับเคลื่อนได้จริง ผลงานจะตกไปอยู่กับพรรคเพื่อไทย อาจมีผลต่อคะแนนเสียง หากมีการเลือกตั้งครั้งต่อไป ซึ่งการเมืองไทยเอาแน่เอานอนไม่ได้ อาจมีอุบัติเหตุทางการเมืองได้ทุกเมื่อ
ล่าสุดที่พรรคแกนนำรัฐบาลดูเหมือนถูกโดดเดี่ยวเสียรางวัดไปคือประเด็นการกดดันให้แบงก์ชาติ ลดดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งท่านนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ชี้ว่า การแก้ไขเศรษฐกิจที่เป็นปัญหาขณะนี้เกิดจากธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่สนองตอบต่อการลดดอกเบี้ย ซึ่งแบงก์ชาติวางตัวนิ่ง
แต่นักวิชาการออกมาสนับสนุนว่าแบงก์ชาติ ต้องเป็นอิสระ การลดดอกเบี้ยอาจไม่ใช่คำตอบ ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ทุกเรื่อง ดูเหมือนว่าเสียงของประชาชนเอียงไปทางแบงก์ชาติ
อีกประเด็นหนึ่งที่กำลังฮอตคือ “ท่านรองนายกฯ ภูมิธรรม” พี่ใหญ่ของพรรคออกมาโชว์กินข้าว ที่ชาวบ้านเรียกว่า ข้าวเน่าในโกดังเก็บข้าวตามโครงการรับจำนำข้าวเมื่อ 10 ปีที่แล้ว มีการเชิญข้าราชการและสื่อมวลชนจำนวนมากมาเป็นสักขีพยาน ผลที่ออกมากลายเป็นเหมือน “จำอวด” เพราะการตอบกลับกลายเป็นทางลบที่มาจากสื่อมวลชน นักวิชาการ แม้แต่เกษตรกรชาวนาที่วิจารณ์ว่า อาจไม่เหมาะสมให้มนุษย์ หรือ สัตว์กิน
ที่เถียงกันขณะนี้คือ ประเด็นผลการทดสอบเชื้อราอะฟลาท็อกซิน ตัวอย่างที่เก็บพบว่า 1 ใน 3 ผลเป็น “Positive” คือ มีเชื้อราที่เป็นต้นเหตุของมะเร็ง ซึ่งรายงานฉบับนี้ไม่ได้ฟันธงว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
การที่พรรคเพื่อไทยถูกถล่มในช่วงนี้ ไม่มีพรรคร่วมรัฐบาลโดยเฉพาะพรรคใหญ่ออกมาช่วยแก้ต่าง ภูมิทัศน์ที่เห็นกันในสื่อ จะเห็นพรรคร่วมรัฐบาลเตะขาแย่งซีนกันเอง เช่น “นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต” ซึ่งดูเหมือนถูกพรรคร่วมลอยแพที่ปล่อยให้พรรคเพื่อไทยสู้อยู่คนเดียว
ขณะที่นโยบายกัญชาเสรีซึ่งเป็นนโยบายเรือธง ช่วงหาเสียงก่อนเลือกตั้ง กำลังถูกถอดให้เป็นกัญชาผิดกฎหมาย กลายเป็นแรงกระเพื่อมใต้น้ำ
ขณะที่นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งพรรคเพื่อไทยหาเสียง จะดันให้ไปถึง 400 บาทในเดือนตุลาคมปีนี้ และจะทยอยปรับขึ้นไปให้ถึงเป้าหมาย 600 บาททั่วประเทศในสองปีข้างหน้า ในประเด็นนี้ทั้ง พรรคเพื่อไทย และ ภูมิใจไทย ดูเหมือนจะจับมือไปด้วยกัน
เห็นได้จากช่วงวันแรงงานหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย จับมือ รมว.กระทรวงแรงงาน ซึ่งสังกัดพรรคเดียวกันออกมาสนับสนุน ที่จะผลักดันนโยบายปรับค่าจ้าง 400 บาทเท่ากันทั้งประเทศ ในช่วงวันที่ 1 ตุลาคม 2567
โดยในปีนี้มีการปรับค่าจ้างไปแล้วสองครั้งเป็นการแถลงต่อหน้ากลุ่มสหภาพแรงงานที่ออกมาแสดงกิจกรรม “วันเมย์เดย์” ปกติรัฐบาลที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้แถลงปราศรัย ดูเหมือนว่าจะเป็นเกมการเมืองมีการแย่งซีน ตรงนี้วิเคราะห์จากหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยระบุว่า นโยบายปรับค่าจ้างมีความสำคัญ เท่ากับ นโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต
ดังที่กล่าวนโยบายค่าจ้าง 400 บาททั่วประเทศ ดูเหมือนพรรคภูมิใจไทยฉกฉวยเรียกคะแนนเสียง ภาพจะยิ่งเห็นชัดเจน เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานออกมาแสดงเชิงสัญลักษณ์ด้วยการถือสากตำแบบตั้งใจลงใน “ครก” มีป้าย 400 บาทติดอยู่ที่กลุ่มแรงงานนำมาสาธิตประกอบการสนับสนุน ให้เดินหน้าปรับค่าจ้าง
ความเก๋าของพรรคภูมิใจไทย คือ แทนที่จะออกมาประกาศล่วงหน้าวันปรับค่าจ้าง แต่ใช้วิธีโบ้ยเป็นหน้าที่ของไตรภาคี หรือคณะกรรมการค่าจ้างเป็นผู้พิจารณา เพราะรู้ว่าการแทรกแซงปรับค่าจ้างอาจผิดกฎหมาย
ส่วนการผลักดันนโยบายซึ่งต้องการมติ 2 ใน 3 สามารถกระซิบเบาๆ ให้ตัวแทนฝ่ายรัฐที่อยู่ในบอร์ดค่าจ้างและร่วมมือกับฝ่ายลูกจ้างก็น่าจะทำได้ (ตรงนี้ผู้เขียนคิดเอาเองเขาอาจไม่ทำก็ได้)
ด้านผลกระทบภาคเอกชนออกมาแจงว่า จะมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจ ลดขีดความสามารถในการแข่งขัน ช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาองค์กรเอกชนที่เกี่ยวกับด้านอุตสาหกรรมการผลิต ภาคบริการ ค้าปลีกมากกว่า 100 องค์กรแสดงความกังวล และวิตกต่อผลกระทบที่ตามมา
เนื่องจากเป็นการปรับแบบกระชาก การปรับค่าจ้างเท่ากันทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันอัตราแตกต่างกันตั้งแต่วันละ 330-370 บาท ค่ามัธยฐานส่วนใหญ่อยู่ที่ช่วง 340-345 บาท ซึ่งต้องปรับค่าจ้างแรงงานต่อคนเดือนละ 1,650-1,800 บาท โดยค่าเฉลี่ยปรับค่าจ้างจะอยู่ที่ร้อยละ 15.9
ดังที่กล่าวว่า ค่าจ้างเท่ากันทั้งประเทศจะทำให้ลดความเหลื่อมล้ำเพราะราคาสินค้าในต่างจังหวัดเท่ากับใน กทม. ซึ่งก็ถูกส่วนหนึ่ง แต่มีทางเลือกที่จะซื้อในร้านค้าโชว์ห่วย หรือ ร้านค้ารายย่อยโดยราคาสินค้าจะต่ำกว่าซื้อในห้าง หรือ ร้านสะดวกซื้อ ซึ่งมีการเก็บค่า “GP Margin” (ส่วนใหญ่ร้อยละ 20)
หากราคาค่าจ้างเท่ากันทั่วประเทศจะทำให้สถานประกอบการหรือ โรงงานแข่งขันกับพื้นที่ กทม. และปริมณฑล รวมถึง EEC ซึ่งใกล้กับท่าเรือหลักของประเทศ เกี่ยวข้องกับต้นทุนโลจิสติกส์ทั้งเที่ยวไป และ เที่ยวกลับ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญ ที่ทำให้การลงทุนในต่างจังหวัด อาจหดตัว หรือ ไม่ขยายตัว ซึ่งจะกระทบไปถึงการจ้างงานและเศรษฐกิจของจังหวัดนั้นๆ
ผลกระทบจากจากปรับค่าจ้างระดับสูงเท่ากันทั่วประเทศ จะส่งผลนัยสำคัญต่อธุรกิจประเภทไมโคร และ SME ซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 90 ของสถานประกอบการทั่วประเทศ ส่วนใหญ่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด ธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้นส่วนใหญ่อัตรากำไรค่อนข้างต่ำ หรือ แทบจะไม่กำไร หรือ ขาดทุนด้วยซ้ำ จะส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ผลที่ตามมาธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้นจะขาดทุน กระทบไปถึงหนี้สถาบันการเงิน ที่จะกลายเป็นหนี้ที่ต้องรอปรับโครงสร้าง คำถามที่ฝากไปถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ควรออกมาชี้แจงเป็นนโยบายที่ทำได้จริงถูกต้องตามกฎหมายแล้วหรือไม่ หากทำได้ต่อไปทุกพรรคการเมืองจะนำค่าจ้างขั้นต่ำ ไปหาเสียงมีการเกทับกัน เพื่อผลทางการเมือง ที่สุดก็จะไปทำลายโครงสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศทั้งด้านส่งออกและการลงทุน
ต่อจากนี้ไปหลังวาระสมาชิกวุฒิสภาที่มาจาก คสช. ได้พ้นวาระไปแล้ว ไม่มีบทบาทต่อการตั้งนายกรัฐมนตรี จะเห็นการแข่งขันของพรรคร่วมรัฐบาล ในการผลักดันขับเคลื่อนนโยบายเรือธง ที่หาเสียงไว้ช่วงก่อนเลือกตั้ง และอาจเห็นรอยปริร้าวในรัฐบาลมีความเป็นไปได้สูง ...