การเมืองกับเศรษฐกิจไทยยุคนี้ เรื่องไหนจะตกต่ำกว่ากัน

10 ก.ค. 2567 | 05:01 น.
อัพเดตล่าสุด :10 ก.ค. 2567 | 05:20 น.

การเมืองกับเศรษฐกิจไทยยุคนี้เรื่องไหนจะตกต่ำกว่ากัน : คอลัมน์บ้านเมืองของเรา โดย...สมหมาย ภาษี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ได้ฟังข่าวการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา หรือ สว. ปี 2567 ของประเทศไทยเราในยุคนี้แล้ว สุดแสนที่จะละเหี่ยใจ อนิจจาประเทศนี้กลุ่มผู้บริหารประเทศระดับวุฒิสภา ซึ่งในนานาประเทศ คือ ผู้ทรงเกียรติสูงสุด แต่ของไทยการสรรหากลับมาด้วยหนทางที่มาด้วยกลโกงตีแผ่ให้ฟังกันทั่วโลกแบบนี้ แล้วเราจะหาประชาธิปไตยไปคุยให้ต่างประเทศเขาฟังได้อย่างไรหนอ

การสรรหาผู้มีชื่อเสียง มีความรู้มีความสามารถเข้ามาบริหารประเทศในระดับสูงสุดของประเทศนั้น มีกลไกการเข้าไปรับตำแหน่งที่แฝงไว้ด้วยกลไกที่ไม่มีความเป็นธรรมาภิบาลสักนิดเลยหรือ เราจะเห็นความรุ่งเรืองผ่องอำไพในอนาคตของประเทศได้อย่างไรกันครับ มองไม่เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์เลยครับ ตรงกันข้ามกลับเห็นแต่ความสิ้นชาติกำลังคืบคลานมาแทน

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้ฟังข่าวการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก ที่ทำการวิเคราะห์โดยธนาคารโลก ซึ่งที่ทำมาเป็นประจำทุกปีแล้วไม่ค่อยจะผิดเลย 

ปรากฏว่า ในปี 2567 นี้ GDP ของไทยจะโตได้แค่ 2.4 % เท่านั้น ต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม GDP เขาจะโตกัน 4-5 % กันทั้งนั้น ของเรามันต่ำแบบนี้มานานเกินแล้วนะครับ

การที่ธนาคารโลกมองเศรษฐกิจไทย ว่า โตแบบลิ้นห้อยเช่นนี้ แน่นอนมาจากปัจจัยรุมเร้าหลักสองเรื่องเท่านั้น ซึ่งจริงๆ แล้วก็ทราบกันดีแล้ว 

ประการแรก เป็นเรื่องของโครงสร้างที่ทางเศรษฐกิจพื้นฐาน ที่เป็นตัวถ่วงตัวฉุดการเติบโตของ GDP ไทยมาเป็นเวลานานนม ที่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง และต่อเนื่องจากรัฐบาลใดๆ เลย

เรื่องตัวฉุดตัวถ่วงทางเศรษฐกิจที่ยากเกินแก้ของไทย ได้แก่ หนี้ครัวเรือน ที่สูงเกือบเท่า GDP จนเอาไม่อยู่ การผลิตสาขาหลักทั้งด้านการเกษตร และ อุตสาหกรรมของไทย ที่ปรับตัวให้มีประสิทธิภาพสูง เพื่อเพิ่มสมรรถภาพการแข่งขันไม่ได้ 

แรงงานในวัยทำงานเพื่อการผลิต ไม่ได้รับการบริหารจัดการเพื่อรองรับการแข่งขันกับประเทศอื่นได้ 

และการพัฒนาโครงสร้างด้านโลจิสติกส์ เช่น การคมนาคมขนส่ง ทั้งทางน้ำ ทางบก เทคโนโลยี และ สิ่งแวดล้อม ไม่สามารถสนองการผลิตที่มีประสิทธิภาพให้แข่งขันกับประเทศอื่นได้ เป็นต้น

ประการที่สอง เป็นเรื่องของการมีสภาวะการเมืองที่เต็มไปด้วยเรื่องกลไกการโกงเพื่อเข้าสู่อำนาจ เพื่อยึดโยงอำนาจ และเพื่อใช้อำนาจในทางที่เอื้อประโยชน์แก่พรรค และพวกพ้องมากกว่าในทางที่เอื้อประโยชน์ต่อประเทศชาติแต่อย่างใด 

จนปรากฏให้เห็นยิ่งชัดเจนในทุกวันนี้ ว่า ไม่มีนักการเมืองผู้ใดในประเทศนี้ ใส่ใจต่อเรื่องธรรมาภิบาลแม้แต่น้อย จะมีนักการเมืองน้ำดีอยู่บ้างก็ถูกสกัดให้ออกนอกวงการเมืองไปเรียบร้อยแล้ว

อยากถามท่านผู้อ่านที่รักประเทศชาติ ด้วยความจริงใจทั้งหลายว่าสภาวะการเมืองและเศรษฐกิจของไทย ที่ยากต่อการเยียวยาแก้ไขในระยะยาวได้อย่างที่เห็นในขณะนี้ เรื่องไหนจะมีหนทางพลิกฟื้นขึ้นมาได้ก่อนกัน